xs
xsm
sm
md
lg

กระทรวงเกษตรมะกันเปลี่ยนไป ! ตะเพิดนักวิจัยต่างชาติระนาว ส่วนใหญ่เป็นชาวจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แขวนที่ด้านนอกอาคารสำนักงานใหญ่ของกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกาในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.– ภาพ : เอเอฟพี
ผู้เชี่ยวชาญจีนเตือนถึงผลเสีย กรณีกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา เลิกว่าจ้างนักวิจัยชาวต่างชาติ 70 คน เพื่อรักษาความมั่นคงด้านอุปทานอาหารของสหรัฐฯ จากชาติฝ่ายตรงข้าม ซึ่งรวมถึงจีน รัสเซีย เกาหลีเหนือ และอิหร่าน
 
กระทรวงดำเนินการตรวจสอบบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานตามสัญญาว่าจ้างของกระทรวงอย่างละเอียดถี่ถ้วนและพบว่ามีนักวิจัยประมาณ 70 คนมาจากประเทศที่น่ากังวล โฆษกกระทรวงระบุ ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์เมื่อวันศุกร์ ( 18 ก.ค.)


นักวิจัยเหล่านี้ทำงานให้กับสำนักบริการวิจัยการเกษตร (ARS) ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ส่วนใหญ่เป็นชาวจีน ซึ่งมาทำงาน หลังเรียนจบปริญญาเอก ตามสัญญาว่าจ้าง 2 ปี โดยผ่านการตรวจสอบประวัติก่อนได้รับการว่าจ้างแล้ว นาย โทมัส เฮนเดอร์สัน ตัวแทนสหภาพแรงงาน ซึ่งนักวิจัยบางคนสังกัดอยู่เปิดเผย

ฟ็อกซ์นิวส์ระบุว่า ARS ทำงานวิจัยในเรื่องที่มีความสำคัญต่อเกษตรกรชาวอเมริกัน เช่น แมลงศัตรูพืช ความปลอดภัยของอาหาร และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ


การอัปเปหินักวิจัยต่างชาติครั้งนี้ นาย ลี่ว์ เซียง นักวิจัยของสถาบันสังคมศาสตร์แห่งประเทศจีนให้ความเห็นเมื่อวันอาทิตย์ ( 20 ก.ค. ) ว่า กระทรวงเกษตรสหรัฐฯเปลี่ยนจุดยืนอย่างชัดเจนจากเดิมที่เคยเป็นเวทีความร่วมมือจีน-สหรัฐฯ ที่สำคัญมาโดยตลอด โดยจีนเองก็เป็นตลาดส่งออกใหญ่ที่สุดสำหรับสินค้าเกษตรของสหรัฐฯ


พอไล่ออกไปแล้ว กระทรวงก็ยังหานักวิจัยมาแทนไม่ได้ เฮนเดอร์สันชี้ เพราะรัฐบาลกลางหยุดจ้างงาน ซึ่งขยายเวลาออกไปจนถึงวันที่ 15 ตุลาคม หมายความว่า งานทางวิทยาศาสตร์ที่กำลังดำเนินอยู่และเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร ต้องยุติชั่วคราว เช่น โครงการพัฒนาวัคซีนสำหรับสารพิษร้ายแรงที่พบในเนื้อวัวปรุงไม่สุก

 
“ตอนนี้เราไม่มีบุคลากรที่มีความสามารถเพียงพอที่จะดำเนินโครงการวิจัยเหล่านี้ต่อไปได้ มันทำให้เราเสียเวลาไปหลายปี หรืออาจจะหลายสิบปี” เขากล่าว


อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ มิได้ออกมาแสดงความเห็นต่อข้อวิตกเกี่ยวกับการสูญเสียความสามารถด้านการวิจัย


นายลี่ว์เน้นย้ำว่า สหรัฐฯเป็นประเทศเกษตรกรรมขนาดใหญ่ที่เผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงาน จึงจำเป็นต้องพึ่งพาการสนับสนุนทางเทคโนโลยีเป็นหลัก การเลือกเป้ากดขี่นักวิชาการจีนจะบั่นทอนความเชื่อมั่นในการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ ยิ่งความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯกำลังอยู่ในช่วงละเอียดอ่อน การกระทำเชิงสัญลักษณ์เช่นนี้อาจก่อให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ เกิดภาวะสมองไหลรุนแรงขึ้นในสหรัฐฯ

 
ในระยะยาว การนำการเมืองมายุ่งเกี่ยวกับการวิจัยทางวิทยาศาสตร์จะส่งผลเสียต่อการพัฒนาการเกษตรของสหรัฐฯ เอง


ที่มา : โกลบอลไทมส์ / รอยเตอร์



กำลังโหลดความคิดเห็น