xs
xsm
sm
md
lg

อเมริกาผวา “โค้ดแอบแฝง” วิศวกรจีนในไมโครซอฟต์โดนกีดกันโครงการเพนตากอน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระทรวงกลาโหมสหรัฐประกาศให้วิศวกรจีน “หมดสิทธิ์มีส่วนร่วม” ในทุกโครงการด้านเทคโนโลยีของเพนตากอน หลังมีรายงานว่าไมโครซอฟต์ใช้วิศวกรจีนสนับสนุนระบบคลาวด์ให้กับเพนตากอน สร้างความวิตกในหมู่เจ้าหน้าที่ระดับสูง โดยเฉพาะรัฐมนตรีกลาโหม ซึ่งรีบออกมาตอบโต้ทันที

จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์มาจากบทความของสื่อ ProPublica ซึ่งเปิดเผยว่า ไมโครซอฟต์มีการใช้ “Digital Guards” หรือ “ผู้เฝ้าระวังระบบ” ที่เป็นอดีตทหารอเมริกันทำหน้าที่รับคำสั่งจากวิศวกรจีน แล้วคัดลอกคำสั่งนั้นไปป้อนเข้าสู่ระบบคลาวด์ที่ใช้ในเพนตากอน

แม้ Digital Guards จะได้รับการฝึกด้านความปลอดภัยขั้นพื้นฐานและมีสิทธิ์เข้าถึงระบบ แต่ไม่มีความสามารถตรวจสอบคุณภาพหรือความเสี่ยงของโค้ดที่วิศวกรจีนเขียน ทำให้เกิดข้อสงสัยเรื่องช่องโหว่ด้านความมั่นคง และความเสี่ยงจาก “โค้ดแอบแฝง” ที่อาจเป็นภัยต่อระบบของกลาโหม

ไมโครซอฟต์ออกแถลงตอบโต้ว่า กระบวนการที่ใช้เป็นไปตามกฎของรัฐบาลสหรัฐฯ และไม่มีการเข้าถึงข้อมูลลูกค้าโดยตรง แต่เพื่อความชัดเจน ล่าสุดบริษัทตัดสินใจ เลิกใช้วิศวกรจากจีนในทุกโครงการที่เกี่ยวข้องกับเพนตากอนโดยเด็ดขาด

กรณีนี้จุดชนวนให้นักการเมืองสายแข็งอย่าง ทอม คอตตอน (Tom Cotton) วุฒิสมาชิกพรรครีพับลิกัน ส่งจดหมายถึงรัฐมนตรีกลาโหม "เฮกเซ็ธ" เรียกร้องให้เปิดเผยรายชื่อผู้รับเหมาและวิศวกรจีนที่เคยเกี่ยวข้อง พร้อมอธิบายว่า Digital Guards ผ่านการฝึกด้านความมั่นคงอย่างไร


ต่อมาในวันเดียวกัน เฮกเซ็ธประกาศเปิดการสอบสวนภายในเป็นเวลา 2 สัปดาห์ และสั่งให้ “ตัดจีนออกจากระบบคลาวด์ของกลาโหมทุกรูปแบบทันที” พร้อมเตือนว่าจีนเป็น “ภัยคุกคามไซเบอร์อันดับหนึ่งของสหรัฐฯ”

ในอีกด้านหนึ่ง กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) ก็ประกาศเลิกจ้างนักวิจัยต่างชาติราว 70 ราย ส่วนใหญ่เป็นด็อกเตอร์จบใหม่จากจีน โดยอ้างว่าเพื่อปกป้องความมั่นคงด้านอาหาร มีการยกเลิกสัญญา-วิจัยร่วมกับจีน รัสเซีย อิหร่าน และเกาหลีเหนือทั้งหมด

นอกจากนี้ ยังมีคำสั่งห้ามเจ้าหน้าที่ USDA ร่วมเขียนผลงานวิจัยกับพลเมืองจาก 4 ประเทศดังกล่าว หากไม่มีการขออนุญาตพิเศษ ส่งผลให้โครงการวิจัยจำนวนมากในสหรัฐต้องหยุดชะงัก และงานพัฒนาเช่นวัคซีนต้านพิษจากเนื้อดิบต้องล่าช้าออกไปหลายปี

กระทรวงการต่างประเทศจีนแถลงตอบโต้ว่า สหรัฐฯ ใช้ข้ออ้างด้านความมั่นคงมาเป็นเครื่องมือกีดกันทางเทคโนโลยีและเลือกปฏิบัติต่อจีน ทั้งยังทำลายความเชื่อมั่นในความร่วมมือวิทยาศาสตร์ระดับโลกอย่างรุนแรง

จีนยืนยันว่าตนต่อต้านการโจมตีไซเบอร์ทุกรูปแบบ และจะดำเนินการตอบโต้หากผลประโยชน์ของพลเมืองจีนถูกละเมิด พร้อมเรียกร้องให้สหรัฐฯ หยุดใช้ “มาตรการแบบสงครามเย็น” มาทำลายบรรยากาศความร่วมมือระหว่างประเทศ

ที่มา: 澎湃新闻


กำลังโหลดความคิดเห็น