xs
xsm
sm
md
lg

CAAT เผยเที่ยวบินจีนไม่ฟื้น จ่อดึง SLOT ใช้เส้นทางอื่น เร่งเครื่อง MRO ดันไทยสู่ Aviation Hub

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



CAAT เผยครึ่งปี 68 ผู้โดยสาร-เที่ยวบินรวมยังต่ำกว่าก่อนเกิดโควิดถ 13.11% นทท.จีนไม่ฟื้น SLOT โล่ง เจรจาดึงไปใช้เส้นทางอื่นชดเชย เร่งเครื่อง MRO “สุวรรณภูมิ ภูเก็ต อู่ตะเภา”ปัจจัยหลักหนุนไทย Aviation Hub เดินหน้า น้ำมัน SAF ส.ค. เซ็นสายการบิน นำร่องใช้ 1% สู้ภาษีคาร์บอน

พลอากาศเอก มนัท ชวนะประยูร ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) หรือ กพท. เปิดเผยถึงสถานการณ์ของอุตสาหกรรมการบินไทยในปัจจุบัน มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องโดยในช่วงเดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2568 ประเทศไทยมีผู้โดยสารทางอากาศราว 72.68 ล้านคน เป็นผู้โดยสารเส้นทางภายในประเทศ 33.37 ล้านคน เส้นทางระหว่างประเทศ 39.31 ล้านคน และมีเที่ยวบินรวมราว 467,000 เที่ยวบิน แม้จำนวนผู้โดยสารและเที่ยวบินยังคงต่ำกว่าช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 อยู่ 13.11% แต่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากตลาดหลัก ได้แก่ ยุโรป เอเชียใต้ และอินเดีย

ส่วนตลาดจีน แม้จะยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ เนื่องจากความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยและพฤติกรรมนักท่องเที่ยวจีนที่เปลี่ยนไป เน้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ และ CAAT อยู่ระหว่างหารือกับทางการจีนเพื่อผ่อนผันการใช้สิทธิ Slot ให้เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยมีเป้าหมายเพื่อให้สายการบินของไทยสามารถนำอากาศยานไปให้บริการในตลาดสำคัญอื่น ๆ ชั่วคราว เพื่อชดเชยการชะลอตัวของตลาดจีน

ได้หารือกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (CAAC)ว่า เมื่อเที่ยวบินจากจีนลดลง จะปรับ SLOT ที่สายการบินจีนได้ ไปใช้กับเส้นทางอื่นก่อน เพื่อนำนักท่องเที่ยวอื่นมาชดเชยในส่วนของจีนที่ลดลงไป ส่วนจะเป็นเส้นทางไหน อยู่ที่จะมีการนำเสนอขอ SLOT เข้ามา

“ขณะนี้อุตสาหกรรมการบินกำลังกลับมาเจริญเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ และมีบทบาทขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างชัดเจน CAAT ในฐานะผู้กำกับดูแล กิจการด้านการบินให้ได้มาตรฐานความปลอดภัย นอกจาก สนับสนุนการพัฒนาแล้วยังได้ร่วมมือกับผู้เกี่ยวข้องทั้งด้านให้บริการขนส่งทางอากาศทั้งคนและสินค้า ทั้งสนามบินและสายการบิน ให้ได้รับความสะดวกในการดำเนินงานทุกๆ ด้าน และได้วางทิศทางเชิงรุกเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค (Aviation Hub) “


พลอากาศเอก มนัท กล่าวว่า ปัจจุบันสนามบินสุวรรณภูมิ มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาแบบเป็นจุดหมายปลายทาง 95% มีเพียง 5% ที่เดินทางเปลี่ยนเครื่อง ขณะที่การเป็นศูนย์กลางการบิน จะต้องมีทั้งเข้าและออก เปลี่ยนเครื่อง ซึ่งจะเพิ่มส่วนนี้ก็ต้องเพิ่มความสะดวกและปลอดภัยให้สายการบินมั่นใจย้ายมาใช้สุวรรณภูมิเป็นศูนย์กลาง เช่น บริการภาคพื้น ซ่อมบำรุงอากาศยาน ฯลฯ ทำให้ไทยต้องผลักดัน MRO สุวรรณภูมิ ภูเก็ต อู่ตะเภา รวมถึงต้องมีศูนย์ฝึกอบรม เพื่อบริการที่ครบวงจร ขับเคลื่อน MRO

โดยช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา CAAT ได้ดำเนินการอนุญาตและกำกับดูแลกิจการการบินในหลายด้านสำคัญ เช่น การออกใบรับรองสนามบินสาธารณะให้กับท่าอากาศยานพิษณุโลก สมุย และกระบี่ รวมทั้งออกใบอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือนประเภทการขนส่งทางอากาศเพื่อการพาณิชย์แบบประจำมีกำหนด (AOL) ให้สายการบินใหม่ 2 ราย คือ บริษัท อินทิรา (2009) แอร์ และบริษัท สยามวิงส์ แอร์ไลน์ จำกัด และออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (AOC) ให้แก่ EZY Airlines ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการเดินอากาศรายใหม่

ด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรมการบิน CAAT ได้จัดทำแผนปฏิบัติการเร่งด่วน (Quick Win Action Plan) ขับเคลื่อนใน 2 ช่วงหลัก ได้แก่:

ช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค. – มิ.ย.) มุ่งส่งเสริมธุรกิจเครื่องบินส่วนบุคคล (Private Jet) ทบทวนเกณฑ์อายุและมาตรฐานการใช้งานอากาศยาน ส่งเสริมให้เกิด Urban Traffic Management (UTM) รวมทั้งส่งเสริมการเจรจาเพื่อเปิดเส้นทางบินตรงสู่สหรัฐอเมริกา ภายหลังไทยได้รับคืนสถานะ FAA CAT1 เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

ช่วงครึ่งปีหลัง (ก.ค. – ธ.ค.) มุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการบิน เพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบินภูมิภาค ส่งเสริมและสนับสนุนศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ที่สุวรรณภูมิ ดอนเมือง และภูเก็ต พร้อมยกระดับกระบวนการอนุญาตด้วยเทคโนโลยี เช่น ระบบ Fast Track และส่งเสริมการให้บริการเครื่องบินน้ำ หรือ Sea Plane รวมถึงการจัดตั้งสนามบินน้ำ (Water Aerodromes)


@ส.ค.นี้ทำ MOU ร่วมแอร์ไลน์ คิกออฟ ใช้น้ำมัน SAF 1%

พลอากาศเอก มนัท กล่าวว่า ในเดือนสิงหาคมนี้ CAAT จะลงนาม
MOU ร่วมสายการบินในประเทศไทยทั้งหมด เพื่อเริ่มต้นการเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สัดส่วน 1% ก่อน ซึ่ง
การใช้น้ำมัน SAF จะลดคาร์บอน 60-70% แต่ราคาสูงกว่าน้ำมันเครื่องบินไอพ่นพาณิชย์ JET A-1 ประมาณ 3 เท่า ซึ่งทางอียู มีเป้าหมายที่จะใช้และจะเก็บภาษีคาร์บอนกับสายการบินที่ไม่ใช้ SAF

ซึ่งขณะนี้ CAAT อยู่ระหว่างศึกษาแนวทางเพื่อกำหนดสัดส่วนน้ำมัน SAF ที่เหมาะสมสำหรับสายการบินของประเทศไทย ที่ผลต่อการเสียภาษีน้อยที่สุด และกระทบต่อต้นทุนสายการบินน้อยที่สุดด้วย เพราะสุดท้ายต้นทุนที่เพิ่มจะไปอยู่ที่ค่าตั๋วโดยสารและกระทบต่อผู้โดยสาร โดยมีการรวบรวมข้อมูลและความคิดเห็น คาดว่าภายในไตรมาสสุดท้ายปี 2568 จะออกประกาศ กพท.บังคับใช้ SAF ที่สัดส่วน 1% สำหรับสายการบินที่ให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศ โดยจะเริ่มที่เส้นทางยุโรปก่อน

@เตรียมรับ ICAO ตรวจประเมิน มาตรฐาน USOAP

CAAT ยังเตรียมความพร้อมเพื่อรับการตรวจประเมินจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ในโครงการ Universal Safety Oversight Audit Programme Continuous Monitoring Approach (USOAP CMA) ช่วงปลายเดือนสิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายนนี้ โดยจะมีการตรวจประเมินในด้านต่างๆ เช่น มาตรฐานสนามบิน ความสมควรเดินอากาศ การปฏิบัติการบิน การบริการการเดินอากาศ ฯลฯ ทั้งในสำนักงานและการลงพื้นที่หน่วยงานต่างๆ ในการกำกับดูแลของ CAAT เพื่อประเมินประสิทธิภาพของระบบกำกับดูแลความปลอดภัยด้านการบินของประเทศ

ทั้งนี้ หากประเทศไทยได้รับคะแนนสูงจากการตรวจของ ICAO จะช่วยเสริมความเชื่อมั่นจากสายการบิน นักลงทุน และผู้โดยสารทั่วโลก อีกทั้งยังเพิ่มโอกาสในการเปิดเส้นทางบินใหม่ และยกระดับภาพลักษณ์ความปลอดภัยด้านการบินของไทยในเวทีนานาชาติ

นอกจากนี้ CAAT ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น การผลักดันระบบบริหารจราจรอากาศยานไร้คนขับ (UTM) การจัดตั้งเขตห้วงอากาศเฉพาะสำหรับอากาศยานไร้คนขับ ส่งเสริมการใช้ห้วงอากาศระดับต่ำ ส่งเสริมการใช้งานโดรนในภาคส่วนต่างๆ เช่น โลจิสติกส์ เกษตรกรรม และการตรวจตรา รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมโดรนในอนาคต และ CAAT ได้จัดทำเอกสารแนวทางการกำกับดูแลการให้บริการอากาศยานขึ้นลงทางดิ่งไฟฟ้า (eVTOL) และอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน (UAS) ฉบับแรกของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อเป็นกรอบความร่วมมือในการพัฒนาและควบคุมเทคโนโลยี AAM อย่างเป็นระบบและปลอดภัย นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดงาน ICAO AAM Symposium ในปี พ.ศ. 2569 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่งานสำคัญระดับโลกนี้จะจัดขึ้นในเอเชีย สะท้อนถึงบทบาทเชิงรุกของประเทศไทยในการขับเคลื่อนอนาคตของการบินและการขนส่งทางอากาศในภูมิภาค


กำลังโหลดความคิดเห็น