ประกาศก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสู่ความยั่งยืน ในงาน “Kick-off Make Green in Thailand” ซึ่งจัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 24 กรกฎาคม พ ศ 2568 ณ ห้องประชุม 5201 อาคาร 5 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กรุงเทพมหานคร งานนี้ถือเป็นการ “ส่งต่อ” ผลผลิตอันเป็นรูปธรรม จากงานวิจัยสำคัญ 3 ชุด ซึ่งมุ่งเน้นการยกระดับศักยภาพการแข่งขันด้านความยั่งยืนและการปรับตัวของจุดหมายปลายทางด้วยการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral Tourism – CNT) เพื่อก้าวสู่เป้าหมายการท่องเที่ยวที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Tourism)
ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. และผู้แทนผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เป็นประธานในพิธีกล่าวเปิดงาน “Kick-off Make Green in Thailand” ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral Tourism – CNT) ไปสู่เป้าหมายการท่องเที่ยวที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Tourism) ของประเทศไทย ในฐานะหน่วยงานหลักด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม สกสว มีบทบาทสำคัญในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านความยั่งยืนและการปรับตัวของจุดหมายปลายทาง ผศ.สุภาวดี ได้เน้นย้ำว่า สกสว. มุ่งมั่นที่จะสนับสนุนและส่งเสริม Thailand Carbon Neutral Tourism ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม โดยเฉพาะการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์จริง การบริหารจัดการหลักสูตร และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศ ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาได้สร้างและขยายผลงานวิจัยด้าน CNT-NZT อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงการจับมือกับกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อขยายผล "วิจัยไทย" สู่เวทีโลก โดยชูผลงานด้าน "การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและสุขภาวะ" ให้เป็นThailand’s Best Practices ผศ.สุภาวดี ได้ย้ำถึงความเชื่อมั่นว่า พลังความร่วมมือร่วมแรงร่วมใจของทุกภาคีและหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวที่สำคัญของโลก สร้างมูลค่าเพิ่ม และบรรลุเป้าหมาย Net Zero Tourism อันยิ่งใหญ่เพื่อประโยชน์ของมวลมนุษยชาติและโลกของเรา
คุณวสุมน เนตรกิจเจริญ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย นำคณะนักวิจัยนำเสนอผลการดำเนินงานวิจัยและกระบวนการ “ส่งต่อ” ผลงานวิจัยสู่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไป “ต่อยอด” และเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมภารกิจของแต่ละหน่วยงาน ผลผลิตวิจัยทั้ง 3 ชุด ที่ได้มีการ “ส่งต่อ” ในครั้งนี้ ประกอบด้วย
• กระบวนการ เครื่องมือการคำนวณ และแพ็กเกจการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (CNT Packages)
o งานวิจัยได้พัฒนา กระบวนการ CNT ซึ่งครอบคลุมการ "วัด – ลด - วัดซ้ำ – ชดเชย - บอกต่อ"
o มีเครื่องมือสำคัญคือ Zero Carbon Application สำหรับการคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการท่องเที่ยว
o มีเครื่องมือ Dashboard แพ็กเกจ CNT ทั่วประเทศ ที่เน้นนำเสนอประสบการณ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และดีต่อโลก แพ็กเกจเหล่านี้ถูกจัดกลุ่มออกเป็น 6 ธีม หลัก ได้แก่ เกษตร (Agro) วัฒนธรรม (Culture) เชิงนิเวศ (Eco) วัฒนธรรมอาหาร (Gastronomy) กีฬาและการผจญภัย (Sports/Adventure) และสุขภาพ (Wellness)
o มีเครื่องมือ Self Assessment เพื่อจัดกลุ่มแพ็กเกจเป็นระดับ Freshly Classic และ Hero สะท้อนถึงคุณภาพการดำเนินการของผู้ประกอบการท่องเที่ยวและชุมชน
• แนวทางองค์กรบริหารจัดการและพัฒนาการท่องเที่ยว (CNT DMO Guideline) และต้นแบบนำร่อง THAILAND CNT DMO
o ได้มีการนำเสนอแนวทาง 6 ขั้นตอนสำหรับการพัฒนาและบริหารจัดการองค์กร DMO กระบวนการนี้เป็นการบูรณาการระหว่างคู่มือ Destination Management Handbook ของ World Bank Group และกระบวนการที่ผ่านการทดสอบและพิสูจน์จากภาคสนามในพื้นที่ท่องเที่ยวต่างๆ เช่น DMO เพชรบุรีDMO น่านใต้ DMO เมืองเก่าภูเก็ตและ DMO เชียงใหม่
ทั้ง 6 ขั้นตอนประกอบด้วย การสำรวจพื้นที่ การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การจัดตั้งองค์กร การจัดการการพัฒนา การนำไปปฏิบัติ และการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง บทบาทของ DMO ในการจัดการอย่างยั่งยืนนั้นสำคัญอย่างยิ่ง ในการสร้างสมดุลระหว่างประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรม รวมถึงการดูแลคุณภาพชีวิตคนในชุมชน
• ช่องทางการตลาดและเครือข่าย CNT
งานวิจัยได้กำหนดกลยุทธ์การตลาดเพื่อส่งเสริม CNT สู่ตลาดนานาชาติ ประกอบด้วย กลยุทธ์แบบ Nation to Nation (N2N) Organization to Organization (O2O) Organization to Business (O2B) และ Organization to Customer (O2C)
o เครือข่าย “THAILAND CNT DMO” ได้ขยายผลความร่วมมือไปยัง 32 องค์กรหลักและองค์กรเสริมต่างๆ อาทิ PATA Thailand Chapter, Central Group, บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) (TG) และบริษัท ทัวร์เอื้องหลวง จำกัด (ROH)
เป้าหมายของกลยุทธ์การตลาดเหล่านี้คือการนำเสนอแพ็กเกจ CNT ไปยังกลุ่มตลาดเป้าหมายในต่างประเทศ อาทิ ยุโรป สหราชอาณาจักร อเมริกาออสเตรเลีย รัสเซีย จีน และสิงคโปร์ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงที่ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
คุณสมยศ ปาทาน ประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ต เป็นผู้แทน DMO เมืองเก่าภูเก็ต นำเสนอการดำเนินการ DNT DMO ภูเก็ต ในย่านเมืองเก่าและชุมชนโดยรอบ ที่มุ่งเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมควบคู่กับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ได้ริเริ่มดำเนินการหลายมาตรการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การส่งเสริม Walking Tour และการใช้จักรยานไฟฟ้า รวมถึงความร่วมมือกับภูเก็ตพัฒนาเมืองในการจัดบริการ EV Bus พวกเขายังให้ความสำคัญกับการ จัดการขยะ โดยเฉพาะในพื้นที่ถนนคนเดิน โดยมีแนวคิด "เปลี่ยนขยะให้มีคุณค่า" และลดปริมาณขยะด้วยการส่งเสริมการใช้กล่องขนมอาหารที่ใช้ซ้ำได้ รวมถึงการติดตั้งตู้รับบริจาค Carbon Credit DMO ภูเก็ตยังนำหลักการใหม่ๆ และเทคโนโลยีมาปรับใช้ โดยทำงานร่วมกับเทศบาล ภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษ มีการใช้ Big Data Institute (BDI) เพื่อติดตามคุณภาพน้ำ อากาศ และขยะในย่านเมืองเก่าภูเก็ต พร้อมตั้งเป้าที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในประชุม GSTC (Global Sustainable Tourism Council) ที่จะขึ้นที่ภูเก็ต ในปี 2569
คุณจิรกร สุรวงศ์ ประธานยุทธศาสตร์ท่องเที่ยวยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้แทน นำเสนอการดำเนินการ DMO เชียงใหม่ ได้เน้นย้ำถึงความพร้อม โอกาส และความเป็นไปได้ในการขับเคลื่อนนี้ DMO เชียงใหม่ได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการลดคาร์บอนอย่างเป็นรูปธรรม โดยมี"บ่อแก้ว สะเมิง" ที่กำลังก้าวเข้าสู่ Net Zero Pathway และมีการดำเนินงานเพื่อลดคาร์บอนใน 25 อำเภอ โดยมีการซื้อคาร์บอนเครดิตแล้วถึง 21 ตัน นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมให้โรงแรมเข้าสู่มาตรฐาน "Green Hotel – CF Hotel ผ่าน Star" ซึ่งสะท้อนถึงการลงทุนในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรและการนำองค์ความรู้ไปใช้ DMO เชียงใหม่มุ่งมั่นที่จะนำเป้าหมายของ COP มาทำให้เป็นรูปธรรม และใช้หลักการ "Low Carbon เรียนรู้ด้วยกัน"
ในงานได้มีการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral Tourism – CNT) ไปสู่เป้าหมายการท่องเที่ยวที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Tourism) โดยมีตัวแทนจาก 16 องค์กร ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และเครือข่ายภาคี ได้ร่วมแสดงเจตนารมณ์เพื่อเสริมสร้างความยั่งยืนให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย
• กระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ยินดีที่จะใช้เครือข่ายทางการทูตในการเผยแพร่และสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับ CNT โดยเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น และสนับสนุนให้สถานเอกอัครราชทูตทั่วโลกเป็นแนวหน้าในการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ประเทศไทยในฐานะประเทศที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
• กรมการท่องเที่ยว ในฐานะหน่วยงานหลักด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยว ได้ให้คำมั่นว่าจะผลักดันและสนับสนุนเจตนารมณ์นี้ เพื่อให้ประเทศไทยก้าวหน้าเรื่องการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และเป็นแบบอย่างให้กับประเทศอื่น ๆ
• สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)ได้ประกาศสนับสนุน CNT และ NZT ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ทั้งในรูปแบบของการวิจัย การพัฒนา และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ
• องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ยืนยันความพร้อมในการขับเคลื่อน CNT
• การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ซึ่งเป็นผู้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวไทยสู่ความยั่งยืน ก็พร้อมที่จะสร้างสรรค์และส่งเสริมสินค้าและบริการที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน มุ่งสู่การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์
• สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) จะกระตุ้นให้ผู้ประกอบการ MICE ลดและชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจนเป็น Net Zero Carbon โดยจะขยายผลครอบคลุม 10 MICE City
• องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ยืนยันว่าจะใส่เรื่อง Carbon Neutral Tourism เข้าไปสู่หัวใจของการขับเคลื่อน เน้นการสร้างรายได้ชุมชนบนพื้นฐานของโครงสร้างพื้นฐาน และมุ่งสู่มาตรฐานสากล ด้านภาคเอกชน
• หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ยินดีที่จะนำโครงการ "Make Green in Thailand" ไปสู่ผู้ประกอบการ และประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันเพื่อสนับสนุน Carbon Neutral Tourism
• สมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย) (TICA) ให้คำมั่นว่าจะเดินหน้าไปพร้อมกับทุกฝ่าย เพื่อเห็นภาคอุตสาหกรรมเติบโตอย่างยั่งยืน และต้องการ "Save The World for Next Generation"
• สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) เห็นว่า CNT เป็นหนึ่งในสามเสาหลักในการพัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศสู่ความยั่งยืน และจะนำหลักการนี้ไปบอกและกระตุ้นสมาชิก
• สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประเทศไทย (PATA Thailand Chapter) ยืนยันเจตนารมณ์ในการเป็นพลังสนับสนุนที่สำคัญ ทั้งในฐานะผู้เชื่อมโยง ผู้ประสานงาน และผู้ส่งเสริมให้โครงการ CNT ของไทยก้าวไปสู่เวทีโลกได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
• สมาคมโรงแรมไทย (THA) พร้อมสนับสนุนและขับเคลื่อนให้ผู้ประกอบการที่พักและโรงแรม ไม่ว่าขนาดเล็กหรือใหญ่ ไปสู่ความยั่งยืนตามมาตรฐาน GSTC โดยมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 50% ภายในปี 2030
• สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (TEATA) ในฐานะหน่วยงานที่รับทุนการวิจัยและผู้ดำเนินกลยุทธ์การตลาด ยืนยันเจตนารมณ์ในการผลักดัน "Thailand CNT DMO" ให้เป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายจากแผนสู่การปฏิบัติจริง เพื่อให้การท่องเที่ยวไทยเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม การร่วมมือและ "ส่งต่อ"
ช่วงสุดท้ายของงาน ปิดท้ายด้วยหัวข้อ Green Transition โดยท่านวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ประธานสภาลมหายใจกรุงเทพมหานคร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และอดีตสมาชิกวุฒิสภา ได้นำเสนอประเด็นสำคัญในงาน โดยท่านได้เน้นย้ำถึงวิกฤตการณ์สามประการ (Triple Crisis) ที่โลกกำลังเผชิญอยู่ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งทวีความรุนแรงจนกลายเป็น "Global Boiling" มลภาวะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหา PM2.5 ที่เคยพบในเชียงใหม่ และการล่มสลายของความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นการพังทลายของระบบนิเวศ ท่านเน้นย้ำว่าการท่องเที่ยวสามารถเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ และเป็นพลังสร้างสรรค์ในการรับมือกับความท้าทาย คุณวีระศักดิ์ยังได้อธิบายถึงวิวัฒนาการของการบริหารจัดการองค์กรจัดการจุดหมายปลายทาง (DMO) ที่เปลี่ยนจากบทบาทเดิมที่เป็นเพียง "องค์กรการตลาดแหล่งท่องเที่ยว" ไปสู่ "องค์กรบริหารและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว" ที่มีขอบเขตความรับผิดชอบกว้างขวางและซับซ้อนขึ้นอย่างมีนัยสำคัญโดย DMO ในยุคปัจจุบันไม่เพียงแค่ "ขาย" แหล่งท่องเที่ยว แต่ต้องบริหารจัดการระบบนิเวศการท่องเที่ยวทั้งหมดอย่างองค์รวม ซึ่งรวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และประสบการณ์การประสานงานผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และการจัดการอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ แนวคิดสมัยใหม่ยังได้นำ AI (ปัญญาประดิษฐ์) และวิทยาศาสตร์ข้อมูลมาปรับใช้เพื่อลดต้นทุนและปรับตัวกับสภาวะที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการสร้าง "พลเมืองโลกเชิงรุก" (Active Citizen of the World) และสร้างความร่วมมือระดับสากลเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน ท่านยังกล่าวถึง ภาวะนักท่องเที่ยวล้นเกิน (Over-tourism) ว่าเป็นปัญหาสำคัญในอนาคต และนำเสนอโจทย์วิจัยเกี่ยวกับการปรับตัว (Adaptation) ของการท่องเที่ยวให้เข้ากับสภาพอากาศร้อน ชื้น และฝนตกมาก นอกเขตศูนย์สูตร ซึ่งแตกต่างจากแนวทางเดิมที่มักเน้นการลดการปล่อย (Mitigation)