“จตุพร-ฉันทวิชญ์” นำทีมผู้บริหารพาณิชย์หารือ ส.อ.ท.รับฟังข้อเสนอแนะ แผนร่วมมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย รับมือความไม่แน่นอนการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว “เกรียงไกร” ชง 5 ข้อเสนอ ขอเร่งเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากภาษีสหรัฐฯ เร่งเจรจาสหรัฐฯ ลดภาษีสินค้าภายใต้มาตรา 232 ใช้เครื่องมือการค้าลดผลกระทบเอกชน เร่งเปิดตลาดใหม่ และส่งเสริมการค้าชายแดน
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้นำทีมพาณิชย์ ประกอบด้วย นายฉันทวิชญ์ ตัณฑสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และคณะผู้บริหารระดับสูง เข้าหารือกับนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และคณะผู้บริหาร ณ ห้องประชุม Passion (802) ชั้น 8 อาคาร ส.อ.ท. เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะ การผลักดันความร่วมมือระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับภาคเอกชน และการกำหนดแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เพื่อรับมือความไม่แน่นอนของการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งภาษีของสหรัฐฯ มาตรการ CBAM ของสหภาพยุโรป ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ และต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น รวมถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์จะจับมือกับ ส.อ.ท. บูรณาการความร่วมมือ โดยจะร่วมกันร่างปฏิญญาความร่วมมือระหว่างกระทรวงพาณิชย์ กับ ส.อ.ท.เพื่อแก้ปัญหาผู้ประกอบการอย่างเป็นระบบ พร้อมติดตามความคืบหน้าทุก 10 วัน เพราะวันนี้ต้องร่วมมือกันทั้งประเทศ กระทรวงพาณิชย์พร้อมเปิดใจรับฟัง และทำงานร่วมกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด ทีมไทยแลนด์ต้องเดินหน้าอย่างเป็นหนึ่งเดียว เพื่อผลักดันไทยทำ ไทยใช้ ไทยช่วยไทย ให้เกิดขึ้นจริง
สำหรับข้อเสนอของ ส.อ.ท.ส่วนใหญ่สอดคล้องกับนโยบายเร่งด่วน 10 ข้อ ที่ตนได้ให้นโยบายในการทำงานเอาไว้ ซึ่งจะรับไว้และนำไปขับเคลื่อนต่อไป โดยมีเป้าหมายในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย เน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก การใช้กลยุทธ์ Soft Power และการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้ทุกภาคส่วน
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมพร้อมสนับสนุนการทำงานของกระทรวงพาณิชย์และรัฐบาล โดยได้เสนอแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจและดูแลผู้ประกอบการไทย 5 ประเด็นสำคัญ ซึ่งต้องเดินร่วมกันให้เป็นทีมไทยแลนด์ เพราะในวันนี้มีทั้งวิกฤตและโอกาส
โดย 1. ผลักดันมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการจากผลกระทบภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) โดยขอให้ภาครัฐสนับสนุนด้านกฎหมายและผู้เชี่ยวชาญแก่ผู้ประกอบการ SME ลดค่าใช้จ่ายทางธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น ค่าธรรมเนียมใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (C/O)
2. เร่งการเจรจาลดภาษีรายสินค้าของสหรัฐฯ โดยเฉพาะภายใต้มาตรา 232 ที่ยังจัดเก็บภาษีสูงในสินค้าสำคัญ เช่น เหล็ก อลูมิเนียม ยานยนต์ และชิ้นส่วน
3. ดำเนินมาตรการเชิงรุก ลดผลกระทบ Trade Diversion เสนอให้ภาครัฐสามารถริเริ่มกระบวนการใช้มาตรการทางการค้าโดยไม่ต้องรอให้เอกชนยื่นเรื่อง ใช้เครื่องมือทางการค้าให้ครบถ้วน เช่น มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) การปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (SG) และการตอบโต้การอุดหนุน (CVD) และพิจารณาควบคุมการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มสูงผิดปกติ ตาม พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522
4. ส่งเสริมการเปิดตลาดใหม่ให้กับอุตสาหกรรมไทย โดยเร่งเจรจา FTA ฉบับใหม่ๆ เช่น ไทย-ยูเรเซีย (EAEU) สนับสนุนโครงการ SME Pro-active และกิจกรรม Trade Mission และเพิ่มสัดส่วนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในสินค้าไทย (Made in Thailand: MiT)
5. สร้างระบบนิเวศการค้าชายแดนเพื่อการเติบโตระยะยาว โดยขอให้ภาครัฐร่วมบูรณาการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การอำนวยความสะดวกด้านพิธีการ และการค้าชายแดนอย่างครบวงจร