PTTGC แย้มเดินเครื่องผลิต SAF เฟสแรกเต็มที่ 6 ล้านลิตรต่อปี เตรียมขยายโครงการ SAF เฟส 2 เพิ่มเป็น 24 ล้านลิตรต่อปีหรือพลาสติกชีวภาพ/ผลิตภัณฑ์เคมีชีวภาพ 8 หมื่นตันต่อปี เพื่อรองรับความต้องการลูกค้า แต่รอความชัดเจนภาครัฐการประกาศบังคับใช้ SAF ในสายการบินและตลาดการแข่งขันของอุตฯ
นายทศพร บุณยพิพัฒน์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC เปิดเผยว่า ขณะนี้ โครงการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel: SAF) เฟสแรกได้เดินเครื่องเต็มกำลังการผลิตอยู่ที่ 6 ล้านลิตรต่อปี โดยใช้การแปรรูปน้ำมันพืชใช้แล้ว (Used Cooking Oil: UCO) ร่วมกับน้ำมันดิบสู่การผลิต SAF เชิงพาณิชย์ได้โดยไม่ต้องสร้างโรงงานขึ้นมาใหม่ ช่วยประหยัดการลงทุน
ทั้งนี้ โครงการ SAF เฟสแรกมีกำลังการผลิตประมาณ 6 ล้านลิตรต่อปี หรือพลาสติกชีวภาพและผลิตภัณฑ์เคมีชีวภาพ (Bio-Polymers/Chemicals) จำนวน 20,000 ตันต่อปี ใช้งบลงทุนรวม 160 ล้านบาท ซึ่ง PTTGC ได้ร่วมมือพันธมิตรสำคัญอย่าง บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ในการจัดจำหน่ายให้แก่สายการบินต่างๆ เช่น สายการบินการบินไทย และบางกอก แอร์เวย์ส ในการนำ SAF ไปใช้ ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาเครือข่ายการจัดจำหน่ายที่ครอบคลุมทั่วภูมิภาค
อย่างไรก็ดี PTTGC มีแผนขยายการผลิตน้ำมัน SAF เพิ่มเป็น 24 ล้านลิตรต่อปี หรือพลาสติกชีวภาพและผลิตภัณฑ์เคมีชีวภาพ (Bio-Polymers/Chemicals) จำนวน 80,000 ตันต่อปี เพื่อให้สอดรับกับการเติบโตของตลาดในอนาคต ซึ่งบริษัทยังไม่กำหนดว่าจะเริ่มเมื่อใด ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของตลาดและการแข่งขันของอุตสาหกรรม เนื่องจากการใช้ SAF ปัจจุบันยังเป็นภาคสมัครใจของสายการบินจะใช้หรือไม่ก็ได้ รวมทั้งนโยบายภาครัฐในการบังคับใช้ SAF เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรมการบิน
“ปัจจุบันราคา SAF ในตลาดสิงคโปร์สูงกว่าราคาน้ำมัน Jet A-1 ราว 2 เท่ากว่า ซึ่งบริษัทไม่ได้รอเพียงคำสั่งซื้อ SAF อย่างเดียวเท่านั้น แต่มีความยืดหยุ่นสามารถปรับมาผลิตเป็นพลาสติกชีวภาพและเคมีภัณฑ์ชีวภาพได้ปริมาณ 20,000 ตันต่อปี เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้า”
สำหรับวัตถุดิบในการผลิตน้ำมัน SAF จะใช้จากน้ำมันพืชใช้แล้วที่ปัจจุบันจัดหาจากในประเทศได้เพียงพอ แต่หากในอนาคตบริษัทมีความต้องการใช้ UCO เพิ่มขึ้นก็มีแผนที่จะนำเข้าจากประเทศสิงคโปร์เพิ่มเติม ซึ่งมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานรองรับแล้ว
ปัจจุบันโครงการ SAF นี้ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISCC CORSIA (International Sustainability and Carbon Certification - Carbon Offsetting and Reduction Scheme for International Aviation) ซึ่งเป็นมาตรฐานความยั่งยืนระดับสากลที่ยอมรับในอุตสาหกรรมการบิน และสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 80% เมื่อเทียบกับการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานทั่วไป และได้รับรองมาตรฐาน ISCC Plus (International Sustainability and Carbon Certification Plus) ที่มุ่งเน้นการใช้วัตถุดิบชีวภาพและวัสดุหมุนเวียนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน