ส่งออก มิ.ย.68 มูลค่า 28,649.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 15.5% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 หลังคู่ค้าเร่งนำเข้าหนีภาษีสหรัฐฯ ร่วม 6 เดือน มูลค่า 166,851.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 15% เฉพาะตลาดสหรัฐฯ บวก 41.9% ขยายตัว 21 เดือนติด คาด ก.ค.68 ส่งออกชะลอตัวลง แต่ยังเป็นบวก ส่วน 5 เดือนสุดท้าย ชะลอแน่ แต่ก็ขึ้นกับผลการเจรจาภาษีสหรัฐฯ หากใกล้เคียงภูมิภาคกระทบไม่มาก แต่สูงกว่า กระทบขีดแข่งขัน เป้าทั้งปี 2-3% ทำได้
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกของไทย เดือน มิ.ย.2568 มีมูลค่า 28,649.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (938,533 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 15.5% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 27,588.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (914,880 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 13.1% ได้ดุลการค้า 1,061.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (23,654 ล้านบาท) รวมการส่งออก 6 เดือนของปี 2568 (ม.ค.-มิ.ย.) มีมูลค่า 166,851.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (5,578,959 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 15% การนำเข้า มูลค่า 166,914.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (5,651,241 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 11.63% ขาดดุลการค้า 62.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (72,282 ล้านบาท)
สำหรับการส่งออกในเดือน มิ.ย.2568 สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร เพิ่ม 13.5% โดยสินค้าเกษตร เพิ่ม 10.7% สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร เพิ่ม 17.4% สินค้าสำคัญที่เพิ่มขึ้น เช่น ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำตาลทราย ผลไม้กระป่องและแปรรูป ส่วนสินค้าที่หดตัว เช่น ข้าว อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ทั้งนี้ ครึ่งปี 2568 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร เพิ่ม 2.4%
ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่ม 17.6% สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล แผงวงจรไฟฟ้า อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่น ๆ ส่วนสินค้าที่หดตัว เช่น รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ และส่วนประกอบ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด ทั้งนี้ ครึ่งปี 2568 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่ม 19.3%
ทางด้านตลาดส่งออก ขยายตัวดีเกือบทุกตลาด โดยตลาดหลัก เพิ่ม 19.3% จากสหรัฐฯ เพิ่ม 41.9% ขยายตัวต่อเนื่อง 21 เดือน จีน เพิ่ม 23.1% สหภาพยุโรป เพิ่ม 11.9% CLMV เพิ่ม 9% อาเซียน เพิ่ม 6.5% ญี่ปุ่น เพิ่ม 3.2% ตลาดรอง เพิ่ม 1% จากเอเชียใต้ เพิ่ม 20.1% รัสเซียและกลุ่ม CIS เพิ่ม 14.1% สหราชอาณาจักร เพิ่ม 17.6% ส่วนทวีปออสเตรเลีย ลด 14.1% ตะวันออกกลาง ลด 4.5% แอฟริกา ลด 13.7% ลาตินอเมริกา ลด 1.6% ส่วนตลาดอื่น ๆ เพิ่ม 202.4%
นายพูนพงษ์กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การส่งออกในเดือน มิ.ย.2568 ขยายตัว มาจากการที่คู่ค้าเร่งสต๊อกสินค้าก่อนมาตรการภาษีสหรัฐฯ จะมีผลบังคับใช้ ได้แรงหนุนจากการส่งออกกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า และการขยายตัวต่อเนื่องของสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรสำคัญ อาทิ ผลไม้ มันสำปะหลัง น้ำตาลทราย ส่วนปัจจัยกดดัน ยังเป็นเรื่องความไม่ชัดเจนของนโยบายภาษีสหรัฐฯ ความผันผวนของค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น กระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขัน
ทั้งนี้ การส่งออกในเดือน ก.ค.2568 คาดว่า จะชะลอตัวลง แต่ไม่น่าจะติดลบ เพราะในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา คู่ค้ามีการเร่งนำเข้า จนทำให้การส่ออกรวมเพิ่มถึง 15% ส่วนในช่วง 5 เดือนที่เหลือ (ส.ค.-ธ.ค.) การส่งออกน่าจะชะลอตัวลง แต่ต้องรอดูผลการเจรจาภาษีสหรัฐฯ ว่าจะสรุปยังไง หากได้อัตราเดียวกับประเทศในภูมิภาคที่ 18-20% การส่งออกไม่กระทบมาก แต่ถ้ามากกว่านี้ จะกระทบขีดความสามารถในการแข่งขัน เพราะสินค้าส่งออกของภูมิภาคนี้ใกล้เคียงกัน โดยการส่งออกทั้งปี ยังมั่นใจว่าจะโตตามเป้า 2-3%