“นกแอร์” ครบรอบ 21 ปีเปิด 2 บริการใหม่ Nok IFE “ดูซีรีส์ ซื้อของ” บนเครื่องบินผ่านแพลตฟอร์มสร้างรายได้เพิ่มหลังมีกำไรแล้ว 2 ปี จ่อฟื้นเส้นทางระหว่างประเทศ เจาะตลาดอินเดีย เวียดนาม เปิดใหม่ “บาหลี” ขยายฝูงบินปีละ 4 ลำ เคลียร์หนี้ 400 ล้าน คาดพ้นฟื้นฟูฯ ใน 2 ปี
นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในโอกาสครบรอบ 21 ปีของการดำเนินธุรกิจสายการบินนกแอร์ ขนส่งผู้โดยสารไปแล้ว 70 ล้านคน ตอกย้ำจุดยืนความเป็น “สายการบินของคนไทย” ด้วยผลงานที่เติบโตทั้งในแง่การฟื้นตัวหลังวิกฤต ความแข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจ และการขยายบริการใหม่ที่ตอบรับไลฟ์สไตล์ยุคดิจิทัลของผู้บริโภค โดยมีการเปิดตัว 2 บริการใหม่เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีขึ้นให้กับทุกการเดินทาง ได้แก่ Nok Air Inflight Entertainment (IFE) บริการด้านความบันเทิงบนเครื่องบินที่ผู้โดยสารสามารถเพลิดเพลินไปกับเนื้อหาสาระและความบันเทิงระหว่างการเดินทางได้ผ่านอุปกรณ์สื่อสารส่วนตัวของตนเอง โดยไม่มีค่าใช้จ่าย จากการจับมือกับพาร์ตเนอร์แพลตฟอร์มดูซีรีส์ยอดนิยมอย่าง Viu (วิว) และผู้ให้บริการคอนเทนต์อื่นๆ รวมถึงเนื้อหาจากสายการบินนกแอร์เอง
นอกจากนี้ จะเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้า โดยร่วมมือกับพาร์ตเนอร์กลุ่มโอทอป หอการค้าแต่ละจังหวัด คัดสรรของดี 77 จังหวัดทั่วประเทศ ทั้งของกิน ของใช้ ของฝาก นำมาเสนอขายบนเครื่องบินผ่าน Nok Air Inflight Entertainment รวมถึงสินค้า OUTLETE แบรนด์เนมด้วยจะรวมอยู่ในแพลตฟอร์มนี้ และจะพัฒนาร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ไปถึงการจัดส่งให้ถึงบ้าน กรุงเทพฯ ภายใน 3 วัน ต่างจังหวัดไม่เกิน 7 วัน ซึ่งเหล่านี้จะเป็นการเพิ่มรายได้ และจะเริ่มในเดือนสิงหาคม 2568 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ยังเปิดตัวบริการ Nok Deal แพลตฟอร์มสิทธิพิเศษใหม่สำหรับสมาชิก Nok Fan Club ที่มีจำนวน 1 ล้านคนและ Active ครอบคลุมทุกเพศ ทุกวัย กระจายทั่วประเทศ เป็นกลุ่มที่เดินทางด้วยเครื่องบินเป็นประจำทั้งท่องเที่ยว ทำธุรกิจและกลับภูมิลำเนา ซึ่งมีฐานข้อมูลพฤติกรรมการเดินทางที่นำมาต่อยอดด้านบริการได้ เพื่อสร้าง Brand Loyalty ด้วยสิทธิประโยชน์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบริการพิเศษ, ส่วนลดบัตรโดยสารจากนกแอร์ สิทธิประโยชน์จากพันธมิตรทั่วประเทศ, บัตรคอนเสิร์ต และอีกมากมาย ที่ผู้โดยสารสามารถแลกผ่าน Nok Deal ได้โดยตรง
นายวุฒิภูมิกล่าวว่า ที่ผ่านมานกแอร์ต้องเผชิญกับวิกฤตมากมาย ตั้งแต่ราคาน้ำมัน ปัญหาเศรษฐกิจผันผวน ไปจนถึงสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ประสบกับการขาดทุนต่อเนื่องยาวนานกว่า 9 ปี แต่ช่วง 2 ปีล่าสุดการดำเนินงานมีกำไรติดต่อกัน โดยในปี พ.ศ. 2566 มีกำไรสุทธิ 49 ล้านบาท และ พ.ศ. 2567 มีกำไรสุทธิ 60 ล้านบาท โดยมีรายได้รวมที่ 7,000 ล้านบาท หรือประมาณ 500-600 ล้านบาทต่อเดือน มีผู้โดยสารรวมประมาณ 4 ล้านคน ขณะที่ Cabin Factor เฉลี่ยอยู่ที่ 80% โดยตั้งเป้าปี 2568 มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยถึงเดือนก.ค. 68 มีรายได้ประมาณ 4,000 ล้านบาทแล้ว โดยหวังว่าช่วงครึ่งปีหลังเครื่องบินที่ซ่อมจะทยอยกลับเข้ามาและเปิดเส้นทางระหว่างประเทศ จะเพิ่ม Capacity ประมาณ 30% จะทำให้มีรายได้เพิ่ม และจากแผนการเพิ่มเครื่องบิน 4 ลำทุกปี จะเพิ่ม Capacity ประมาณ 10-15% ทุกปี
นายวุฒิภูมิกล่าวถึงการออกจากแผนฟื้นฟูฯ ของนกแอร์ว่า หลักการคือชำระหนี้ได้ตามแผน ซึ่งขณะนี้เจ้าหนี้ไม่รวมส่วนของผู้ถือหุ้นเหลืออยู่ประมาณ 400 ล้านบาท ตั้งเป้าออกจากแผนฟื้นฟูฯ เดือน ก.ย. 71 โดยประเมินจากรายได้ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากการเปิดเส้นทางระหว่างประเทศคาดว่าจะชำระหนี้ได้ใน 2 ปี
นายปกรณ์ รัตนรอด ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์เชิงพาณิชย์ สายการบินนกแอร์ กล่าวว่า ช่วงตารางบินฤดูหนาว (Winter Schedule) เริ่มตั้งแต่ 26 ต.ค. 68 เป็นต้นไป นกแอร์มีแผนจะกลับไปทำการบินในเส้นทางระหว่างประเทศที่เคยทำการบินและหยุดบินไปเมื่อปลายปี 67 และ เม.ย. 68 ที่ผ่านมา เริ่มจากอินเดีย ใน 3 เมืองหลัก (ไฮเดอราบาด, มุมไบ, นิวเดลี) เวียดนาม (ไซ่ง่อน, ดานัง/ฮานอย) จีน (หนานหนิง, เจิ้งโจว) และเปิดเส้นทางใหม่ บาหลี (อินโดนีเซีย) และมะนิลา (ฟิลิปปินส์)
ปัจจุบัน “นกแอร์” ให้บริการมากกว่า 100 เที่ยวบินต่อวัน ครอบคลุมกว่า 15 เส้นทางบินภายในประเทศ โดยเครือข่ายการบินของนกแอร์ปัจจุบันทำการบินในประเทศ 100% การเปิดเส้นทางระหว่างประเทศในอีก 3-4 ปีจะปรับสัดส่วนเส้นทางในประเทศเป็น 40% ระหว่างประเทศ 60%
ขณะที่ปัจจุบันมีเครื่องบินจำนวน 14 ลำ แต่ใช้งานได้ 8 ลำ ที่เหลืออยู่ในศูนย์ซ่อมบำรุงซึ่งคาดหมายว่าสิ้นปี 68 จะมีเครื่องบินให้บริการได้ 11 ลำ โดยจะรวมที่เช่าเพิ่มจำนวน 2 ลำ ซึ่งทุกตารางบินฤดูหนาว จะมีเครื่องบินเพิ่ม 4 ลำ ภายใน 5-6 ปี คาดจะมีฝูงบินประมาณ 20-30 ลำ และมีการหารือกับ โบอิ้ง จัดหาเครื่องบินแบบ Boeing 737-800 และเครื่องบินรุ่นใหม่เพื่อเสริมศักยภาพฝูงบินอีกด้วย
"ยอมรับว่านักท่องเที่ยวจีนยังไม่กลับมา ซึ่งทุกสายการบินปรับลดเที่ยวบินไปจีนลง ทำให้นกแอร์มุ่งไปที่เส้นทางอินเดียก่อน เพราะเป็นตลาดใหญ่ที่มีศักยภาพและ เติบโต รวมถึงเวียดนาม และอินโดนีเซีย โดยจะใช้จุดแข็งของนกแอร์เรื่องราคา ที่รวมทุกบริการทั้งน้ำหนักกระเป๋า อาหาร ต่างจากโลว์คอสต์แอร์ไลน์"