“ชัชชาติ” เล็งส่งคืนตลาดนัดจตุจักรให้รฟท. ชี้ กทม.ไม่ชำนาญการบริหารสัญญาเช่าพื้นที่ เตรียมหารือแนวทางเพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด ด้านรฟท.จี้ กทม.จ่ายค่าเช่าตลาดนัดจตุจักร ยอดหนี้พุ่ง 1,250 ล้านบาท ค้างจ่ายตั้งแต่ปี 61
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า กทม.มีแนวคิดในการโอนการบริหารสัญญาเช่าพื้นที่ตลาดนัดจตุจักรคืนให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ทั้งนี้ เนื่องจากตลาดนัดจตุจักร ไม่ใช่ธุรกิจหลัก และ กทม.ไม่มีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการ โดย กทม.ได้รับมอบให้ดูแลการบริหารสัญญาเช่าพื้นที่ในช่วงรัฐบาล คสช. ซึ่งหลังจากนี้จะมีการหารือการโอนคืนให้ รฟท.ต่อไปเพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด เพราะตลาดนัดจตุจักรเป็นอีกจุดที่มีนักท่องเที่ยวไปจำนวนมาก ช่วยสร้างรายได้ให้ประเทศ
“ส่วนประเด็นหนี้ค่าเช่าพื้นที่นั้น เรื่องนี้ กทม.และ รฟท.มีการหารือกันมาโดยตลอด ซึ่งหลังจากนี้จะมีการเจรจาเพื่อให้มีความชัดเจน” นายชัชชาติกล่าว
รายงานข่าวจาก รฟท.แจ้งว่า ตลาดนัดจตุจักรมีเนื้อที่ 68 ไร่ 1 งาน 88 ตารางวา โดยมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2561 ให้โอนความรับผิดชอบการบริหารจาก รฟท.ไปให้ กทม. โดยให้ กทม.จ่ายค่าเช่าให้ รฟท.ในอัตราปีละ 169,423,250 บาท และให้มีการพิจารณาทบทวนค่าเช่าร่วมกันทุกๆ 3 ปี มีระยะเวลาให้เช่าไม่เกินปี 2571
แต่เนื่องจากที่ผ่านมา กทม.นำพื้นที่ไปดำเนินการเช่าช่วงอัตรา 1,800 บาท/แผง /เดือน แต่ยังไม่ได้ชำระค่าเช่าให้กับ รฟท.จนนำไปสู่การยื่นฟ้องคดี โดยศาลชั้นต้นพิพากษาว่า กทม.ไม่ได้ปฏิบัติตามมติ ครม.ครบถ้วน มีการเลือกปฏิบัติเฉพาะในส่วนที่ กทม.ได้รับประโยชน์ จึงมีคำสั่งให้ กทม.ชำระค่าเช่าให้กับ รฟท.พร้อมดอกเบี้ย นับตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2561 จนถึงวันฟ้องวันที่ 27 มิ.ย. 2565 เป็นจำนวนเกือบ 700 ล้านบาท เป็นเงินต้น 606 ล้านบาท ดอกเบี้ย 66 ล้านบาท นอกจากนี้ ศาลได้สั่งให้ กทม.ชำระค่าเช่า 14 ล้านบาทต่อเดือน นับตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 65 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ กทม.ได้ยื่นอุทธรณ์ ซึ่งศาลยังไม่มีคำตัดสินออกมา ซึ่งถึงปัจจุบัน กทม.ยังไม่เคยชำระหนี้หรือจ่ายค่าเช่าให้กับ รฟท.ตามมติ ครม.เลย คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 1,250 ล้านบาท (เงินต้นและดอกเบี้ย)
“ที่ผ่านมา กทม.ได้มีการเจรจาเพื่อขอยกเว้นดอกเบี้ย รวมถึงลดค่าเช่าในช่วงเกิดโควิด- 19 โดยอ้างว่า กทม.ดำเนินการปิดตลาดฯ ในช่วงดังกล่าว และมีการลดค่าเช่าผู้ค้าเอง ซึ่งตามมติ ครม.กรณีหน่วยงานใดมีการช่วยเหลือเยียวยาโควิด-19 ให้หน่วยงานดำเนินการและรายงานกระทรวงที่สังกัดตามลำดับ กรณีที่รายได้ลดลง ซึ่ง กทม.ใช้วิธีผลักภาระให้ รฟท. ซึ่งไม่ถูกต้อง” แหล่งข่าวกล่าว
อย่างไรก็ตาม พื้นที่ตลาดนัดจตุจักร เป็นพื้นที่ที่คณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์จะปรับปรุงพัฒนาเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทย ดังนั้นหาก กทม.จะส่งคืน รฟท. เป็นไปได้ที่จะส่งต่อให้คณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์รับไปบริหารจัดการต่อ เพื่อพัฒนาศักยภาพของตลาดนัดเป็น Thailand Soft Power Gateway