“สุริยะ” ยัน กทม.เข้าใจแล้วรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย รัฐจ่ายชดเชย "สีเขียว" ตามจริง เผย 2,525 ล้านบาทเป็นกรอบ ครม. คาดผู้โดยสารโตเกินค่าเฉลี่ยปกติ เร่งเจรจาแบ่งรายได้ส่วนเพิ่มบริจาคเข้ากองทุนตั๋วร่วม กรมรางนัดหารือ 25 ก.ค. ด้าน กทม.หวั่นกระทบรายได้กองทุน BTSGIF
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยืนยันว่ามาตรการอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย (ระยะที่ 2) จำนวน 8 สาย จะใช้ได้ในวันที่ 1 ต.ค. 2568 แน่นอน ซึ่งจากที่หารือล่าสุดกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) และบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2568 ได้มีการอธิบายทำความเข้าใจประเด็นการชดเชยรายได้จากค่าโดยสารที่ลดลงแล้ว ทั้งผู้ว่าฯ กทม.และบีทีเอส พร้อมให้ความร่วมมือ
ส่วนที่ กทม.ระบุว่ากระทรวงคมนาคมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชดเชยรถไฟฟ้าสายสีเขียววงเงิน 2,525 ล้านบาท น้อยกว่าความเป็นจริง นายสุริยะกล่าวว่า มติ ครม.วงเงิน 2,525 ล้านบาทนั้นเป็นตัวเลขประมาณการ ซึ่งได้ชี้แจง กทม.แล้วว่าหลักการชดเชยของสายสีเขียวคือเคยมีรายได้เท่าไรก็จะต้องได้ตามนั้น คือหากเก็บที่ราคา 20 บาทตลอดสายแล้วรายได้ลดลง จะมีการชดเชยส่วนที่หายไป เป็นการชดเชยตามจริง ดังนั้นจะไม่มีผลกระทบเรื่องรายได้
นายสุริยะกล่าวว่า ส่วนของเส้นทางที่เป็นสัมปทาน ทั้ง BEM และ BTS แต่ละสัญญามีรายละเอียดการแบ่งรายได้ตามอัตราการเติบโตของผู้โดยสารแต่ละปี ซึ่งกรณีเก็บ 20 บาทตลอดสายจะส่งผลให้ผู้โดยสารเติบโตมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติ ดังนั้น ผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นมากกว่าปกติจะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งให้ไปดูค่าเฉลี่ยการเติบโตของผู้โดยสารย้อนหลัง 5 ปี มาเฉลี่ยเป็นเกณฑ์ซึ่งเติบโตประมาณ 2-3% ดังนั้นหากผู้โดยสารเติบโตมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติจะต้องมีการแบ่งรายได้ส่วนที่เพิ่มนี้ให้รัฐ โดยทางเอกชนจะใช้วิธีการบริจาคเข้ากองทุนตั๋วร่วมฯ เพื่อไม่ต้องแก้ไขสัญญา ซึ่งจะมีการหารือถึงตัวเลขส่วนแบ่งรายได้กันอีกที โดยกรณีนี้ทาง BTS จะต้องรายงานไปที่กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง (BTSGIF)
“กรณีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และ พ.ร.บ.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ.…. ในการดำเนินการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม ที่เตรียมนำเข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 7 ส.ค. 2568 หากเกิดกรณีประกาศใช้ไม่ทัน จะไม่มีผลต่อมาตรการ 20 บาทตลอดสาย เพราะสามารถใช้งบของ รฟม. รฟท. และงบกลางในการชดเชยค่าโดยสารชั่วคราวไปก่อน เพราะเชื่อว่าขั้นตอนการออกกฎหมายหากจะล่าช้าก็อาจจะไม่ได้ใช้เวลานาน”
ด้าน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า รมว.คมนาคมยืนยันแนวทางรัฐชดเชยรายได้รถไฟฟ้าสายสีเขียวให้ กทม.ในส่วนที่หายไป แต่ยังมีรายละเอียดที่ต้องดำเนินการ โดยเฉพาะการชดเชยรายได้ส่วนสัมปทาน BTS เพราะเอกชนเป็นผู้รับผิดชอบ และมีส่วนที่เกี่ยวข้อง กองทุนฯ BTSGIF จะมีคิดจำนวนผู้โดยสารอย่างไรและคำนวนการชดเชยรายได้อย่างไร ส่วนเส้นทางที่ กทม.ดูแลส่วนต่อขยายสายสีเขียว 1, 2 ซึ่งได้แจ้งกระทรวงคมนาคมแล้วว่า กทม.จ้างเอกชนเดินรถไม่มีความซับซ้อนเรื่องการชดเชยรายได้
“ปัญหาจะไปอยู่ที่การเดินทางข้ามสาย แต่เก็บ 20 บาท ผู้ประกอบการแต่ละสายที่ผู้โดยสารคนนั้นเดินทางผ่านมาจะได้รับการชดเชยรายได้อย่างไร เช่น ขึ้นจากสีน้ำเงิน มาต่อสีเขียว จ่ายให้สีน้ำเงินแล้ว สีเขียวจะได้อย่างไร ซึ่ง กทม.เสนอขอชดเชยที่ 11,059 ล้านบาท ก็ยังมาเจรจารายละเอียดกันได้ เพราะเราเสนอไปครอบคลุมทั้งหมด” นายชัชชาติกล่าว
ด้านแหล่งข่าวจาก กทม.กล่าวว่า ขณะนี้เป็นการตกลงในหลักการว่าจะชดเชยรายได้ที่ลดลง แต่รายละเอียดตัวเลขชดเชย จำนวนผู้โดยสารและหลักการคำนวณ เนื่องจากกรณีเก็บ 20 บาท แล้วมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเกินค่าเฉลี่ยอัตราการเติบโตปกติ จะมีรายได้ส่วนเพิ่มจากผู้โดยสารที่เติบโตจากปกติ ซึ่งตามปกติ BTS ส่งรายได้ส่วนนี้เข้ากองทุน BTSGIF ซึ่งในที่ประชุมมีแนวคิดเสนอว่าจะแบ่งรายได้ส่วนเพิ่มนี้ให้รัฐ 20 เอกชน 80 ขณะที่สัญญาของ BEM กับ รฟม.มีการแบ่งรายได้ให้ รฟม.กรณีมีผู้โดยสารเพิ่ม 15% อยู่แล้ว ไม่เหมือนของ BTS จึงยังไม่มีข้อสรุปชัดเจน ซึ่งทางกรมการขนส่งทางราง (ขร.) จะมีการหารือรายละเอียดอีกครั้งวันที่ 25 ก.ค. 2568 หากมีความชัดเจน BTS จะแจ้งไปที่กองทุน BTSGIF ต่อไป เพื่อให้เห็นชอบทันวันที่ 1 ต.ค. 2568