xs
xsm
sm
md
lg

บวท.พัฒนาซอฟต์แวร์ AEROSky ขออนุญาตบินโดรนผ่านแอปฯ ใช้นำร่อง ส.ค.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“มนพร” หนุนวิทยุการบินฯ พัฒนาซอฟต์แวร์ AEROSky เชื่อมต่อระบบขออนุญาตบินโดรนผ่านแอปพลิเคชัน นำร่องรอบสนามบิน "สุวรรณภูมิ ดอนเมือง กระบี่ ขอนแก่น" ใน ส.ค.นี้ เพิ่มประสิทธิภาพความปลอดภัยบริการจัดการห้วงอากาศ

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ปัจจุบันการใช้งานโดรนขยายตัวอย่างรวดเร็ว เพิ่มขึ้นมากกว่า 20% ต่อปี มีการนำโดรนมาใช้งานทั้งในพื้นที่เกษตรกรรม และพื้นที่ทั่วไป ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยทางการบิน จึงได้มอบหมายให้ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) ศึกษาแนวทางและเตรียมความพร้อมในการนำระบบเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยเข้ามาใช้งาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการให้บริการจราจรทางอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาระบบการบริหารจัดการห้วงอากาศ เพื่อใช้ในการขออนุญาตการบินอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) หรือซอฟต์แวร์ AEROSky เชื่อมต่อข้อมูลการบินเข้ากับระบบ UAS Portal ของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAAT ที่จะเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ ภายในเดือนสิงหาคม 2568 เป็นการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถขออนุญาตทำการบินโดรน

กำหนดพื้นที่นำร่องเขตห้วงอากาศควบคุมจราจรทางอากาศรอบเขตสนามบินกรุงเทพ (สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมือง) สนามบินกระบี่ และสนามบินขอนแก่น ผ่านแอปพลิเคชันได้ด้วยตัวเอง


นายสุรชัย หนูพรหม รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บวท. เปิดเผยว่า บวท.ในฐานะหน่วยงานผู้ให้บริการจราจรทางอากาศ ได้พัฒนาซอฟต์แวร์ AEROSky ซึ่งเป็นระบบบริการพื้นฐานของการจัดการจราจรทางอากาศสำหรับอากาศยานไร้คนขับ หรือ Unmanned Traffic Management (UTM) ได้แก่ ระบบการจัดการแผนการบิน (Flight plan management) ระบบการจัดการห้วงอากาศ (Airspace Management) ระบบการให้การอนุญาตทำการบิน (Authorization) ระบบติดตามอากาศยานขณะทำการบิน (Tracking) ระบบรายงาน (Reporting) และระบบการกำหนดขอบเขตพื้นที่ทำการบิน (Geocaging/Geofencing)

โดยซอฟต์แวร์ AEROSky จะประมวลผลสำหรับการอนุญาตทำการบินอากาศยานไร้คนขับในห้วงอากาศที่ บวท.รับผิดชอบ หรือ Controlled Airspace ที่ต่ำกว่า 400 ฟุต พื้นที่โดยรอบเขตสนามบิน หรือ/และสูงกว่า 400 ฟุต ในพื้นที่ห้วงอากาศทั้งหมด โดยจะทำงานเชื่อมต่อกับระบบการจัดการห้วงอากาศทางการทหารและพลเรือน (Thai-CMAC) และระบบบำเพ็ญ ในการขออนุญาตจุดปล่อยบั้งไฟ โคมลอยด้วย เพื่อการบริหารจัดการห้วงอากาศของประเทศในองค์รวมแบบครบวงจรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด


ทั้งนี้ บวท.ได้ประสานความร่วมมือ และบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับ กพท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำระบบเข้าใช้งานและทำงานร่วมกัน โดยให้ความสำคัญต่อการนำข้อมูลมาบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งมีเป้าหมายจะเปิดให้ประชาชนได้ใช้งาน และขออนุญาตทำการบินโดรนในพื้นที่นำร่องให้ได้ภายในเดือนสิงหาคม 2568 และกำหนดแผนดำเนินงานให้ครอบคลุมพื้นที่ห้วงอากาศควบคุมทั่วประเทศให้ได้ในระยะต่อไปภายในสิ้นปี 2568 นี้


กำลังโหลดความคิดเห็น