“กกพ.” เคาะเสนอ 3 ทางเลือกค่าไฟงวด ก.ย.-ธ.ค. 2568 ที่ 3.98-5.10 บาทต่อหน่วย ชี้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงคลายตัว ส่งผลแนวโน้มค่าไฟลดลง แต่ต้องทยอยคืนหนี้ค่าเชื้อเพลิงคงค้างสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงให้ระบบ พร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็น 17-28 ก.ค. 68
นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ในการประชุม กกพ. ครั้งที่ 26/2568 (ครั้งที่ 968) เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2568 มีมติให้เปิดรับฟังความคิดเห็นค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) และการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าสำหรับงวด ก.ย.-ธ.ค. 2568 เป็น 3 กรณี ต่ำสุดที่ 3.98 บาทต่อหน่วย จนถึงสูงสุดที่ 5.10 บาทต่อหน่วย
ปัจจัยหลักที่ส่งผลดีต่อค่าเอฟทีและแนวโน้มค่าไฟที่ลดลงในงวด ก.ย.-ธ.ค. 2568 มาจากปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ผลิตจากอ่าวไทยกลับมาสู่ภาวะปกติเท่ากับก่อนวิกฤตราคาก๊าซธรรมชาติ ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าช่วงปลายปีมีแนวโน้มลดลง แต่สาเหตุที่ กกพ.ยังไม่สามารถประกาศปรับลดค่าเอฟทีและค่าไฟได้ทันทีเนื่องจากยังคงมีภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงคงค้าง (AF) ที่เกิดขึ้นจริงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อีก 6.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งการจัดเก็บค่าไฟฟ้าเพื่อลดหนี้ กฟผ.ในช่วงต้นปีก็ยังคงต่ำกว่าเป้าหมายอยู่ 8,295 ล้านบาท
นายพูลพัฒน์กล่าวว่า ปัจจัยหลักๆ ยังคงเป็นภาระการชดเชยต้นทุนคงค้าง (AF) ที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาคาดว่าจะสามารถลดต้นทุนคงค้างลง 13,142 ล้านบาท แต่ราคาเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้าจริงสูงกว่าการคาดการณ์ ทำให้สามารถลดต้นทุนคงค้างจริงได้เพียง 4,847 ล้านบาท ซึ่งภาระการชดเชยต้นทุนคงค้าง (AF) ยังคงเป็นปัจจัยลบที่กดดันค่าเอฟทีต่อไปจนกว่าจะหมดภาระ
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้นจากงวดก่อนหน้า 1.32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ (งวด พ.ค.-ส.ค. 68) เป็น 32.95 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และราคา LNG Spot ที่มีแนวโน้มลดลงเล็กน้อยตามราคาในตลาดโลกมาอยู่ที่ 13.9 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียูส่งผลดีต่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้า
“ที่ยังไม่สามารถจะปรับลดค่าไฟลงได้นั้น แม้ว่ามีข่าวดีเยอะ เพราะยังมีหนี้ที่ กฟผ.และ ปตท.แบกรับภาระไว้อยู่ 6.6 หมื่นล้านบาท และ 1.5 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ จึงอยากใช้โอกาสนี้ชำระคืนหนี้บางส่วนให้ กฟผ.ราว 7 พันล้านบาท ขณะที่สถานการณ์โลกยังไม่น่าไว้วางใจที่จะส่งผลต่อค่าเชื้อเพลิง จึงได้ตรึงราคาค่าไฟต่อไปก่อนเพื่อให้เกิดความสมดุล”
ดังนั้น ในการประชุม กกพ.ครั้งที่ 26/2568 จึงมีมติให้สำนักงาน กกพ.ดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็นค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) สำหรับการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2568 แบ่งเป็น 3 กรณีตามเงื่อนไข ดังนี้
กรณีที่ 1: ผลการคำนวณตามสูตรการปรับค่า Ft (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ.ทั้งหมด) และการคำนวณกรณีเรียกเก็บมูลค่าส่วนต่างราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับภาคไฟฟ้าปี 2566 ค่า Ft ขายปลีกเท่ากับ 131.94 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะเป็นการเรียกเก็บตามผลการคำนวณตามสูตรการปรับค่า Ft ที่สะท้อนแนวโน้ม (1) ต้นทุนเดือนกันยายน-ธันวาคม 2568 จำนวน 9.01 สตางค์ต่อหน่วย และ (2) เงินเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุนคงค้าง (AF) ที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. จำนวน 66,072 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 100.08 สตางค์ต่อหน่วย) และมูลค่าส่วนต่างราคาก๊าซธรรมชาติที่เกิดขึ้นจริงกับราคาก๊าซธรรมชาติที่เรียกเก็บเดือนกันยายน-ธันวาคม 2566 ของรัฐวิสาหกิจที่ประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) จำนวน 15,084 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 22.85 สตางค์ต่อหน่วย) รวมจำนวน 122.93 สตางค์ต่อหน่วย โดย กฟผ.จะได้รับเงินที่รับภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าแทนประชาชนตั้งแต่เดือนกันยายน 2564-เมษายน 2568 คืนทั้งหมดภายในเดือนธันวาคม 2568 เพื่อนำไปชำระหนี้เงินกู้ และรัฐวิสาหกิจที่ประกอบกิจการก๊าซธรรมชาติจะได้รับเงินคืนส่วนต่างราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับภาคไฟฟ้าคืนทั้งหมด ซึ่งเมื่อรวมค่า Ft ขายปลีกที่คำนวณได้กับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.10 บาทต่อหน่วย โดยค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 28 จากระดับ 3.98 บาทต่อหน่วยในงวดปัจจุบัน
กรณีที่ 2: ผลการคำนวณตามสูตรการปรับค่า Ft (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ.ทั้งหมด) ค่า Ft ขายปลีกเท่ากับ 109.09 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะเป็นการเรียกเก็บตามผลการคำนวณตามสูตรการปรับค่า Ft ที่สะท้อนแนวโน้มต้นทุนเดือนกันยายน-ธันวาคม 2568 จำนวน 9.01 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุนคงค้าง (AF) ที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. จำนวน 66,072 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 100.08 สตางค์ต่อหน่วย) โดย กฟผ.จะได้รับเงินที่รับภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าแทนประชาชนในช่วงสภาวะวิกฤตของราคาพลังงานที่ผ่านมา คืนทั้งหมดภายในเดือนธันวาคม 2568 ซึ่งเมื่อรวมค่า Ft ขายปลีกที่คำนวณได้กับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.87 บาทต่อหน่วย โดยค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 22 จากระดับ 3.98 บาทต่อหน่วย ในงวดปัจจุบัน ทั้งนี้ ยังไม่รวมมูลค่าส่วนต่างราคาก๊าซธรรมชาติที่เกิดขึ้นจริงกับราคาก๊าซธรรมชาติที่เรียกเก็บเดือนกันยายน-ธันวาคม 2566 อีกจำนวน 15,084 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 22.85 สตางค์ต่อหน่วย)
กรณีที่ 3: กรณีตรึงค่า Ft เท่ากับงวดปัจจุบัน (ข้อเสนอ กฟผ.) ค่า Ft ขายปลีก เท่ากับ 19.72 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะสะท้อนแนวโน้มต้นทุนเดือนกันยายน-ธันวาคม 2568 จำนวน 9.01 สตางค์ต่อหน่วย และทยอยชำระคืนภาระต้นทุน AF คงค้างสะสมได้จำนวน 7,072 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 10.71 สตางค์ต่อหน่วย) เพื่อนำไปพิจารณาทยอยคืนภาระค่า AF ให้แก่ กฟผ. และมูลค่าส่วนต่างของราคาก๊าซธรรมชาติที่เกิดขึ้นจริงกับค่าก๊าซธรรมชาติที่เรียกเก็บ เดือนกันยายน-ธันวาคม 2566 ของรัฐวิสาหกิจที่ประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) ในระบบของ กฟผ.ต่อไป ซึ่งเมื่อรวมค่า Ft ขายปลีกกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) คงที่เท่ากับ 3.98 บาทต่อหน่วย เท่ากับงวดปัจจุบัน
ทั้งนี้ กกพ.เปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 17-28 กรกฎาคม 2568 ก่อนที่จะมีการสรุปและเสนอต่อที่ประชุมต่อไป