xs
xsm
sm
md
lg

มินิมาร์ททางหลวงยิ้มรับนักท่องเที่ยว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกค้าปลีกชี้ ช่วงสงกรานต์ ธุรกิจร้านสะดวกซื้อตามทางหลวงขายดี รองรับคนเดินทางท่องเที่ยว ส่วนโมเดิร์นเทรดในกรุงเทพ อาจจะเผชิญภาวะเงียบบ้าง เผยพฤติกรรมจับจ่ายของคนกรุงในช่วงสงกรานต์

นายธนภณ ตังคณานนท์ นายกสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวถึง ภาพรวมสถานการณ์ ค้าปลีกในช่วงสงกรานต์ในปี 2550 ว่า จะมีกลุ่มคนกลับบ้านในต่างจังหวัดมากขึ้น ส่งต่อให้ธุรกิจค้าปลีก(ร้านสะดวกซื้อ อาทิ มินิมาร์ท เซเว่นอีเลฟเว่น ฯลฯ ตามรายทางเช่นปั๊มน้ำมันจะสามารถสร้างยอดรายได้เติบโตขึ้นในช่วงเทศกาลนี้โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยวต่างๆ

สำหรับกลุ่มสินค้าที่มักได้รับความนิยมในช่วงเทศกาลนี้จะเป็นกลุ่มอาหารของกิน เครื่องดื่ม ที่สามารถทำรายได้พุ่ง ทั้งในแง่ของห้างสรรพสินค้า และตามร้านสะดวกซื้อก็ตามแต่ ซึ่งจากการหยุดราชการ 5 วัน เอกชน 4 วัน จะเป็นตัวแปรในการทำตลาดของค้าปลีกรายต่างๆตามต่างจังหวัดต่างคึกคักมุ่งมั่นในการทำตลาด แม้ว่าจะเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆก็ตาม

ทั้งนี้ในส่วนของโมเดิร์นเทรดในกรุงเทพต้องยอมรับว่า อาจมีกลุ่มลูกค้าในบางส่วนที่หายไปบ้างแต่นั้นก็ไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญมากเท่าไหร่นัก เนื่องจากหลังจากช่วงสงกรานต์ ผ่านไปกำลังซื้อก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

นางณัฐศมน วงศ์กิตติพัฒน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ สายการตลาด เดอะมอลล์ พารากอน-ดิ เอ็มโพเรียม ดีพาร์ทเมนต์ สโตร์ เปิดเผยว่า บริษัทฯได้จัดโปรโมชั่นมิดไนท์เซลล์ทั้งกลุ่มก่อนหน้าช่วงสงกรานต์เพื่อเป็นการกระตุ้นกำลังซื้อให้เกิดขึ้นก่อนตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม – 1 เมษายน โดยทยอยจัด ลดทั้งห้าง เบื้องต้นเริ่มจัดเดอะมอลล์ ทุกสาขาเป็นจำนวน 5 วัน ซึ่งผลปรากฏว่าได้รับผลดี ต่อจากนั้นบริษัทฯจึงจัดโปรโมชั่นนี้ ไปยังพารากอนต่อ ตั้งแต่วันที่ 4-8 เมษายน ซึ่งจากการจัดมิดไนท์เซลล์ที่ผ่านมา พบว่ายอดทราฟฟิคลูกค้าและรายได้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นได้อีกกว่า 10% จากช่วงเวลาปกติ ซึ่งจะเห็นได้ว่าถึงแม้ว่าช่วงสงกรานต์ภาพรวมคนจะนิยมออกสู่ต่างจังหวัดเพื่อไปท่องเที่ยว บ้างก็ตามแต่ ในทางกลับกันบริษัทฯก็มองโอกาสของกลุ่มลูกค้าต่างจังหวัดบางกลุ่มที่เข้ามาจับจ่ายสินค้าในกรุงเทพ ก็มีเช่นกัน

ที่ผ่านมาแม้ว่าสงกรานต์ภาพรวมค้าปลีกจะเป็นอย่างไรก็ตาม กลุ่มลูกค้าของกลุ่มเดอะมอลล์ โดยส่วนมากจะเป็นกลุ่มลูกค้าระดับบนอยู่แล้วส่วนใหญ่จะมีการจับจ่ายอยู่ตลอดเวลา อาจมีบ้างที่บางส่วนหายไป แต่เมื่อทุกอย่างกลับเข้าสู่ ช่วงปกติ เชื่อว่ายอดขายและรายได้จากกลุ่มลูกค้าจะกลับมาดีเช่นเคย

พฤติกรรมจับจ่ายช่วงสงกรานต์
พฤติกรรมของผู้บริโภคในเขตกรุงเทพมหานครในการท่องเที่ยวหรือการใช้จ่ายเงินช่วงเทศกาลสงกรานต์ในปี 2550 จะต้องมีการใช้จ่ายที่ลดน้อยลง แต่กลับใช้จ่ายกันในส่วนของพื้นที่ในต่างจังหวัดมากขึ้น

ศูนย์วิจัยพฤติกรรมผู้บริโภค คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยศรีปทุมได้มีการสำรวจโดยใช้แบบสอบถาม สอบถามผู้บริโภคจำนวน 500 ชุด จาก 50 เขตทั่วกรุงเทพมหานคร จากการวิจัยได้ผลการสรุปดังนี้

จากการสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดปรากฏว่า ค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวหรือพักผ่อนของผู้ตอบแบบสอบถาม ในปีที่ผ่านมามีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนประมาณ 3,142.53 บาท และในปีนี้คาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนประมาณ 3,082.93 บาท ส่วนในปีนี้ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เลือกที่จะใช้เวลาในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่กรุงเทพฯ 71.6% และเดินทางไปต่างจังหวัด 28.4 % โดยผู้ที่มีภูมิลำเนาเดิมอยู่ต่างจังหวัด เลือกที่จะใช้เวลาทำกิจกรรมช่วงเทศกาลสงกรานต์อยู่ในกรุงเทพฯ 69.2% และเดินทางไปต่างจังหวัด 30.8% ส่วนคนที่มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ นั้น ตัดสินใจอยู่กรุงเทพฯ 79.6% และเดินทางไปต่างจังหวัด 20.4%

ผู้ตอบแบบสอบถามเป็นผู้หญิง 61.2% และเป็นผู้ชาย 38.8% มีอายุ 18-22 ปี 33.0% ช่วงอายุ 23-27 ปี 28.8% อายุ 28-35 ปี 18.8% อายุต่ำกว่า 18 ปี 8.8% อายุ 36-45 ปี 7.6% และอายุมากกว่า 45 ปี 3.3% ตามลำดับ

ทางด้านของรายได้เฉลี่ยต่อเดือนของผู้ตอบแบบสอบถามมีรายได้ต่ำกว่า 5,000 บาท 36.8% รายได้ 5,001-10,000 บาท 34.4% รายได้ 10,001-15,000 บาท 12.0% รายได้ 15,001-20,000 บาท 9.4% รายได้ 20,001-30,000 บาท 3.4% รายได้ 30,001-50,000 บาท 3.0% และรายได้มากกว่า 50,000 บาท 1 % ตามลำดับ ขนาดของครอบครัว ส่วนใหญ่มีสมาชิก 4-5 คน 73.3% อันดับสองได้แก่ 6-8 คน 16.3% และอันดับสามได้แก่ มีสมาชิก 1-2 คน 9.7% ตามลำดับ

ทางด้านภูมิลำเนาของผู้ตอบแบบสอบถามนั้น เป็นคนต่างจังหวัด คิดเป็น 76.9% ส่วนกรุงเทพฯและปริมณฑล 23.1% (โดยในส่วนของต่างจังหวัด ภาคกลาง คิดเป็น 27.6% ภาคใต้ 21.7% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 15.9% และภาคเหนือ 11.7% ตามลำดับ)

สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจใช้จ่ายช่วงเทศกาลสงกรานต์ อันดับ 1 ได้แก่ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ อันดับสอง ได้แก่ ปัจจัยด้านประเพณี/วัฒนธรรม และอันดับสามได้แก่ ปัจจัยด้านการก่อการร้าย โดยลักษณะของกิจการที่ผู้ตอบแบบสอบถามทำงานนั้น ส่วนใหญ่เจ้าของกิจการเป็นคนไทย คิด 43.8% เป็นเจ้าของกิจการเอง 17.1% และเจ้าของกิจการเป็นชาวต่างชาติ (เอเชีย) 5.5% ตามลำดับ
กำลังโหลดความคิดเห็น