xs
xsm
sm
md
lg

“ปิยสวัสดิ์” ไม่รับปากเปิดประมูลไอพีพีทันเดือนนี้หรือไม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ไม่รับปากการประมูลไอพีพีรอบใหม่จะทันเดือนเมษายนนี้หรือไม่ พร้อมโบ้ยขึ้นอยู่กับการประชุมของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งต่อไป ขณะที่ ผู้ว่าการ กฟผ.เผย กำลังเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมทางใต้ที่ติดทะเล เพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน เชื่อว่าจะได้รับการยอมรับจากประชาชนในพื้นที่ เพราะเป็นเทคโนโลยีสะอาด
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ เขื่อนน้ำเงี้ยบ 1 วานนี้ (9 เม.ย.) ว่า การประมูลผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ (ไอพีพี) รอบใหม่ขณะนี้ อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และไอพีพี จะได้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าเท่าใดในช่วงแรก ซึ่งจะพิจารณาจากแผนพัฒนากำลังไฟฟ้า (พีดีพี) ที่ได้รับการอนุมัติเมื่อวานนี้ อย่างไรก็ตาม หลังพิจารณากรอบหลักเกณฑ์เสร็จก็จะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน

“การประมูลไอพีพีรอบใหม่จะทันเดือนเมษายนหรือไม่นั้นอยู่ที่บอร์ด กพช.จะประชุมนัดต่อไปเมื่อใด ซึ่งยังไม่ทราบจะเกิดขึ้นเมื่อใด จากเดิมที่เคยตั้งเป้าหมายว่าจะเปิดประมูลในเดือนเมษายนนี้ แม้ว่าไอพีพีจะยังไม่เปิด แต่โครงการผู้ผลิตรายเล็ก (เอสพีพี) เมื่อวานนี้ก็ผ่านความเห็นชอบแล้ว และถือว่ามีกำลังผลิตถึง 1,030 เมกะวัตต์ และมีโครงการผู้ผลิตรายเล็กมาก หรือวีเอสพีพี อีกด้วย ซึ่งเป็นมูลค่าการลงทุนที่สูง” นายปิยสวัสดิ์ กล่าว

สำหรับกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหิน หากพิจารณาตามแผนพีดีพี 2,800 เมกะวัตต์ น่าจะอยู่ในสถานที่เดียวกันทั้งหมด เพราะต้องมีการสร้างความเข้าใจแก่ประชาชน และกรณีนี้ กฟผ.ต้องหาสถานที่ตั้งที่ยอมรับได้ ส่วนภาคเอกชนสามารถเสนอให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ และหากเอกชนจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินก็เสนอมาได้ แต่คงจะเป็นเรื่องยาก โดยเห็นว่า กฟผ.เหมาะสมที่จะสร้าง เพราะเป็นหน่วยงานของรัฐเป็นองค์กรที่รับความเสี่ยงได้ดีกว่า ขณะที่ พ.ร.บ. กฟผ. ก็ระบุไว้ชัดว่ากระทรวงการคลังจะรับประกันเงินกู้หากมีปัญหาด้านการเงิน หรือเข้ามาช่วยเหลือทางการเงินกรณี กฟผ.มีปัญหา

นอกจากนี้ ในแผนพีดีพีดังกล่าว กพช.ก็ได้เห็นชอบแผนหลักและแผนทางเลือก ซึ่งกรณีจำเป็นต้องมีแผนทางเลือก เพราะโรงไฟฟ้าถ่านหินและเชื้อเพลิงแอลเอ็นจี มีข้อจำกัดหลายเรื่อง ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการจัดหาไฟฟ้าในอนาคต ในแผนสำรองทางเลือกจึงเน้นย้ำให้มีการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น จากเดิมที่กำหนดไว้ในแผนหลักประมาณร้อยละ 20 ซึ่งเห็นว่าเป็นไปได้เพราะขณะนี้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมีความแน่นแฟ้น โดยให้ กฟผ.ไปทบทวนและพิจารณาการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศให้เกินร้อยละ 20 ซึ่งขณะนี้ในเรื่องของลาว หลังจากลงนามน้ำเงี้ยบก็ชัดเจนว่าจะมีข้อเสนอการขายไฟฟ้าใน 10 ปีมากกว่า 5,000 เมกะวัตต์ ขณะที่ทางจีนตอนใต้และพม่ามีข้อเสนอเข้ามาเช่นกัน

สำหรับกองทุนพัฒนาไฟฟ้านั้น จะเก็บจากโรงไฟฟ้าถ่านหินในอัตรา 2 สตางค์ต่อหน่วย แก๊ส 1 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งแนวทางการเก็บจะหารือกับท้องถิ่น โดยอาจนำเงินที่จัดเก็บได้มาพัฒนาพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า หรือใช้เพื่อลดค่าไฟฟ้าให้กับชาวบ้านในพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตร โดยลดค่าไฟฟ้าในอัตรา 200 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน ซึ่งรูปแบบนี้ก็จะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 35 ล้านบาทต่อปี

ด้าน นายไกรสีห์ กรรณสูต ผู้ว่าการ กฟผ.กล่าวว่า สำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินกำลังดูพื้นที่ทางใต้ติดทะเล 3-4 แห่ง ซึ่งคิดว่าประชาชนจะให้การยอมรับเพราะเป็นเทคโนโลยีสะอาด โดยการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ กฟผ.จะดูรายละเอียดต่อไป จีนตอนใต้คาดว่าจะเสนอขายไฟฟ้าเข้ามาได้อย่างน้อย 2,000-3,000 เมกะวัตต์
กำลังโหลดความคิดเห็น