xs
xsm
sm
md
lg

สบน.ยืนยันภาระหนี้งบประมาณยังบริหารได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้อำนวยการสำนักบริหารหนี้คนใหม่พร้อมจับตาโครงการที่ใช้เงินกึ่งงบประมาณ หวั่นเกิดปัญหาก่อหนี้สาธารณะ เตรียมดึงให้อยู่ในระบบเพื่อสามารถตรวจสอบได้ ยอมรับแม้ภาระหนี้ต่องบประมาณจะสูงถึง 170,000 ล้านบาท แต่ยังสามารถบริหารจัดการได้

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวมอบนโยบายแก่ข้าราชการในโอกาสเข้ามาบริหารงาน โดยมีเป้าหมายในการบริหารงานด้วยการบริหารหนี้เชิงรุก โดยเฉพาะการจัดหาเงินทุนรองรับโครงการเมกะโปรเจกต์ เพื่อให้มีต้นทุนต่ำและอยู่ภายใต้กรอบความเสี่ยงที่เหมาะสม ตลอดจนการบริหารเงินสดและเงินคงคลัง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาสภาพคล่องในระบบ และการบริหารหนี้ที่มีอยู่ไม่ให้กระจุกตัว และเป็นภาระต่องบประมาณน้อยที่สุด ด้วยการนำเครื่องมือทางการเงินใหม่ ๆ มาใช้ เพื่อลดความเสี่ยง โดยยอมรับว่าการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลปี 2550 ถึง 146,200 ล้านบาท จะเป็นภาระหนัก แต่ได้มีการวางกรอบแนวทางการหาแหล่งเงินกู้ ทั้งการออกพันธบัตรและตั๋วเงินคลัง ซึ่งจะทยอยกู้เงินจากระบบในช่วงเดือนธันวาคมนี้

อย่างไรก็ตาม สบน. เตรียมจับตาโครงการประชานิยม ซึ่งใช้เงินกึ่งงบประมาณ เพราะแนวโน้มอาจมีภาระไปสู่หนี้สาธารณะ เนื่องจากที่ผ่านมาเห็นว่ายังไม่มีความโปร่งใส ดังนั้น จึงต้องดึงกลับเข้ามาสู่ในระบบเพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ โดยเฉพาะโครงการเอสพีวีของกระทรวงเกษตรฯ รวมถึงโครงการที่อยู่ในการดูแลของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยจะตั้งทีมงานเข้าไปตรวจสอบและดูแลไม่ให้เกิดปัญหาหนี้ที่เป็นภาระ

สำหรับหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนกันยายนจำนวน 3.233 ล้านบาท หรือร้อยละ 41.28 ของจีดีพี โดยรัฐบาลกู้โดยตรง 1.967 ล้านล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 911,473 ล้านบาท หนี้กองทุนฟื้นฟู 273,151 ล้านบาท หนี้องค์กรรัฐอื่น 80,428 ล้านบาท นับว่าหนี้สาธารณะลดลงจากเดือนสิงหาคม 4,613 ล้านบาท

ด้านนายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล โฆษก สบน. กล่าวว่า ภาระหนี้ต่องบประมาณในปี 2550 นับว่าสูงถึง 170,000 ล้านบาท สัดส่วนประมาณร้อยละ 13 ซึ่งสูงมาก แต่คาดว่าคงไม่เกินร้อยละ 15 ของวงเงินงบประมาณ โดยยอมรับยังสามารถบริหารจัดการได้ อย่างไรก็ตาม ตามแนวนโยบายของรัฐบาลโดยเฉพาะการขาดดุลงบประมาณที่ 146,000 ล้านบาท เมื่อมีการออกพันธบัตรจะเป็นการพัฒนาตลาดตราสารได้มากขึ้น และถึงแม้แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยจะลดลง แต่จะนำเครื่องมือทางการเงินเพื่อกู้เงินจากตลาดที่หลากหลายขึ้น โดยยอมรับว่า เมื่ออัตราดอกเบี้ยในประเทศยังอยู่ในระดับสูงจะทำให้เงินทุนไหลเข้าจำนวนมากและส่งผลต่อค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นมากเกินไป ดังนั้น ในที่สุด ธปท.ก็จะชะลออัตราดอกเบี้ยระยะสั้นลง เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยใกล้เคียงกับประเทศเพื่อนบ้าน
กำลังโหลดความคิดเห็น