xs
xsm
sm
md
lg

ระบุแบงก์พาณิชย์เจอมรสุมหลายด้านช่วงไตรมาสสุดท้ายปีนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ แบงก์พาณิชย์ต้องเผชิญแรงกดดันจากหลายด้านทั้ง ภาระการแข่งขันจากอัตราดอกเบี้ยในอดีตที่จะมีผลต่อค่าใช้จ่ายธนาคารรวม และหลักเกณฑ์มาตรฐานการบัญชีใหม่ที่แบงก์ชาติจะนำมาใช้ ทำให้ต้องมีการสำรองเงินเพิ่ม

บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด
รายงานว่า ในไตรมาส 3 ปีนี้ ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยประกาศผลประกอบการ (ก่อนสอบทาน) ซึ่งปรากฏว่ามีกำไรสุทธิจำนวน 23,600 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.68 แต่ก็เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ปีนี้ เท่ากับร้อยละ 19.2 ซึ่งฐานะการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ไทย ได้รับผลกระทบค่อนข้างชัดเจนจากต้นทุนดอกเบี้ยเงินฝากที่เพิ่มขึ้น ตามผลของการแข่งขันระดมเงินฝากในอดีต

สำหรับไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าภาระอันเกิดจากการแข่งขันด้านราคาอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในอดีต ยังจะกดดันผลประกอบการของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยต่อเนื่องจากไตรมาส 3 เช่นเดียวกับการประกาศใช้มาตรฐานการบัญชีใหม่ IAS 39 ในส่วนที่เกี่ยวกับการกันสำรองหนี้ของ ธปท.ในเดือนพฤศจิกายนนี้ จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในระยะแรกกับเอ็นพีแอลที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดี โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประมาณการว่า ในระหว่างช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ถึงปลายปีหน้า ธนาคารพาณิชย์ไทยอาจต้องกันสำรองเพิ่มเติมจากสำรองที่มีอยู่ในปัจจุบันอีกประมาณ 32,000 - 82,000 ล้านบาท ซึ่งความจำเป็นในการทำสำรองเพิ่มเติมดังกล่าว อาจกดดันฐานะเงินกองทุนชั้นที่ 1 ของธนาคารพาณิชย์ไทยให้ลดลงจากระดับปัจจุบัน แต่ทุกธนาคารก็ยังสามารถรักษาอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงชั้นที่ 1 ให้สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของ ธปท.ที่ร้อยละ 4.25 ได้ แม้ว่าธนาคารพาณิชย์บางแห่งที่มีอัตราส่วนเงินกองทุนข้างต้น ลดลงมาอยู่ใกล้เคียงกับเกณฑ์ขั้นต่ำของ ธปท. อาจถูกกดดันให้เพิ่มทุนเพื่อรองรับการขยายธุรกิจในระยะต่อไป

ทังนี้ นอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว ธนาคารพาณิชย์ไทยยังอาจต้องรับรู้ผลกระทบจากการขายทรัพย์สินรอการขายให้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ หรือ บสก. เช่นกัน แต่แม้ว่าการกันสำรองตามมาตรฐาน IAS 39 และการขายทรัพย์สินรอการขาย (เอ็นพีเอ) ให้กับ บสก. อาจก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายและส่งผลกระทบต่อฐานะทางการเงินของระบบธนาคารพาณิชย์ในอนาคต แต่ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่จะนำมาสู่เสถียรภาพของระบบธนาคารพาณิชย์และระบบการเงินไทยในระยะยาว ผ่านการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของธนาคารพาณิชย์ไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น