xs
xsm
sm
md
lg

สศช.ย้ำยึดหลัก 'ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง' ในกรอบแผนพัฒนาฯ 10

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กำหนดกรอบทิศทางตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 โดยเน้นย้ำ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็นหลักปฏิบัติในการพัฒนาและบริหารประเทศ เตรียมระดมความเห็นสาธารณะในการประชุมประจำปี 2549 เดือนมิถุนายนนี้ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีรับทราบความก้าวหน้าและเห็นชอบในหลักการของร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 ซึ่งจะใช้ระหว่างปีงบประมาณ 2550-2554 ตามที่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ และเห็นชอบให้ สศช.จัดประชุมประจำปี 2549 ในเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อเสนอร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 ให้สาธารณชนระดมความคิดเห็นในเวทีระดับชาติ และใช้ประโยชน์สำหรับการปรับปรุงร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 ให้สมบูรณ์ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

สำหรับแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 เป็นแผนยุทธศาสตร์ที่วางทิศทางการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในระยะ 10-15 ปีข้างหน้า พร้อมทั้งให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญสูงให้เกิดผลทางปฏิบัติในระยะ 5 ปีของแผน และยังคงอัญเชิญ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็นหลักปฏิบัติในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง และยึดกระบวนทรรศน์การพัฒนาแบบบูรณาการเป็นองค์รวมที่มี “คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา” ต่อเนื่องจากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 ยึดหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนจากทุกภาคส่วนในสังคม ทั้งในการร่วมคิด ร่วมวางแผน และร่วมพัฒนาตามบทบาทและความรับผิดชอบของแต่ละภาคี รวมทั้งเป็นเครือข่ายร่วมผลักดันการขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนา และร่วมติดตามผลอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ เป้าประสงค์หลักการพัฒนาประเทศในระยะ 10-15 ปีข้างหน้า มุ่งสู่ “สังคมที่มีความสุขอย่างยั่งยืน โดยยึดหลัก “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ในกระบวนการพัฒนาแบบบูรณาการเป็นองค์รวมที่มี “คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา” ให้ตั้งอยู่บนพื้นฐานความพอประมาณอย่างมีเหตุผล มุ่งสร้างปัญญา ความรอบรู้ ควบคู่คุณธรรม จริยธรรม ให้เกิดภูมิคุ้มกันที่ดีในตัวที่พร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างเท่าทัน โดยมีเป้าประสงค์การพัฒนาที่สำคัญ คือ พัฒนาคุณภาพคนในชาติให้มีความรอบรู้คู่คุณธรรม พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง เสริมสร้างความเท่าเทียมและความเข้มแข็งของสังคม ปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจให้แข็งแกร่ง มั่นคงและเป็นธรรม พัฒนาระบบบริหารจัดการประเทศให้เกิดธรรมาภิบาลในทุกระดับ

ส่วนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติ เมื่อมีการจัดลำดับความสำคัญของยุทธศาสตร์แล้ว จะมีการจัดทำรายละเอียดขอบทุกยุทธศาสตร์ดังกล่าวเพื่อขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติในระยะ 5 ปีของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 โดยกำหนดวัตถุประสงค์ เป้าหมาย แนวทางการพัฒนาและบทบาทภาคีการพัฒนาที่ชัดเจน รวมตลอดทั้งกระบวนการ กลไกและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้หน่วยงานและภาคีการพัฒนาสามารถนำไปจัดทำแผนปฏิบัติต่อได้
กำลังโหลดความคิดเห็น