xs
xsm
sm
md
lg

ก.เกษตรฯ ลงนามสหรัฐเตรียมส่งออกผลไม้ฉายรังสี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กระทรวงเกษตรฯลงนามกรอบดำเนินงานกับสหรัฐส่งออกผลไม้ 6 ชนิด มังคุด ลิ้นจี่ ลำไย มะม่วง เงาะ และสับปะรด ที่ฉายรังสีปรมาณู หวังตีตลาดใหญ่ภายในเดือนกันยายนนี้ พร้อมเตรียมเจรจาส่งเพิ่มอีก 4 ชนิด แต่ยังไม่ซื้อเครื่องฉายรังสี รอคุยเอกชนลงทุนรับจ้างฉายรังสีให้ผู้ส่งออก ขณะที่สหรัฐระบุอนาคตหวังไทยรับสินค้าฉายรังสีเช่นกัน

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นสักขีพยานพิธีลงนามกรอบแผนการดำเนินงานว่าด้วยความเท่าเทียมกันด้านการฉายรังสีระหว่างนายสมชาย ชาญณรงค์กุล รองผู้อำนวยการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กับนายอลัน เอส กรีน ผู้อำนวยการโครงการสุขอนามัยพืช สำนักงานตรวจสอบสุขภาพสัตว์และพืช ในฐานะผู้แทนกระทรวงเกษตรแห่งสหรัฐ ว่า จากความพยายามผลักดันส่งออกผลไม้ไทย 6 ชนิด ได้แก่ มังคุด ลิ้นจี่ ลำไย มะม่วง เงาะ และสับปะรด ไปขายยังสหรัฐที่เป็นตลาดใหญ่ มีมูลค่านำเข้าผลไม้รวมปีละ 100,000 ล้านบาท ทางสหรัฐได้ผ่านการวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชแล้ว โดยไทยถือเป็นคู่ค้าประเทศแรกในโลกที่สหรัฐยอมรับการนำเข้าสินค้าเกษตรฉายรังสี ซึ่งตนเชื่อว่าผลไม้ไทยมีจุดเด่นสามารถแข่งขันกับผลไม้นำเข้าจากมลรัฐฮาวายแหล่งนำเข้าเดียวของสหรัฐในขณะนี้ได้ ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถส่งออกได้ในเดือนกันยายนนี้ นอกจากนี้ ยังเตรียมเสนอส่งออกผลไม้อีก 4 ชนิด ได้แก่ แก้วมังกร มะละกอ มะพร้าวอ่อน และพุทรา

คุณหญิงสุดารัตน์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ไทยมีเครื่องฉายรังสีปรมาณูอยู่เพียงเครื่องเดียวอยู่ที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สามารถฉายรังสีได้วันละ 20 ตัน แต่ตนยังไม่มีแผนจัดซื้อเครื่องเพิ่ม โดยขอพิจารณาอีก 2-3 เดือน ทั้งนี้ การฉายรังสีเป็นที่ยอมรับทั่วโลกว่ามีความปลอดภัยสูง สามารถนำมาใช้แทนการกำจัดศัตรูพืชด้วยสารเมทิลโบรไมด์ที่มีผลกระทบต่อชั้นบรรยากาศโอโซนได้

“เราจะศึกษาการลงทุนเทคนิคใหม่ๆ ซึ่งปีนี้กระทรวงฯ คงจะยังไม่ซื้อเครื่องอะไร แต่จะขอใช้ของสำนักงานปรมาณูฯ ไปก่อน โดยเราจะใช้เวลา 2-3 เดือนนี้ ดูตลาดแล้วตัดสินใจอีกครั้งหนึ่ง และสัปดาห์หน้าจะเชิญภาคเอกชนเข้ามาหารือ โดยเราอาจรับรองมาตรฐานและให้ไปเก็บค่าบริการฉายรังสีจากผู้ส่งออก ก็จะประหยัดเงินรัฐที่ไม่ต้องไปลงทุนเอง” คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าว

ด้าน รองผู้อำนวยการ มกอช. เปิดเผยว่า ขั้นตอนภายหลังการลงนามกรอบแผนการดำเนินงานฯ ครั้งนี้ ทางคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะออกประกาศเกี่ยวกับการฉายรังสีในอาหารเพื่อรับรองความปลอดภัยครอบคลุมการฉายรังสีปริมาณ 150-400 เกย์ (gy) ตามข้อตกลงดังกล่าว ซึ่งขณะนี้ อย.ได้รับรองปริมาณรังสีที่ 2,000 เกย์อยู่แล้ว

นายอลัน ระบุว่า สหรัฐเชื่อว่าการฉายรังสีเป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับผู้บริโภค การลงนามกับประเทศไทยเป็นประเทศแรก เพราะไทยเสนอความพร้อมทั้งเครื่องมือและสินค้า และขณะนี้มีความต้องการผลไม้เมืองร้อนอย่างมากในตลาดสหรัฐ รวมไปถึงแคนาดา ทั้งนี้ ก็หวังว่าไทยจะตัดสินใจนำเข้าสินค้าเกษตรฉายรังสีกำจัดศัตรูพืชจากสหรัฐในอนาคตเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น