จากแนวโน้มที่สดใสของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในปี 48’ ที่เติบโต มากกว่า 10% ทำให้รัฐบาลหมายมั่นปั้นมือที่จะให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นอีกหนึ่งรายได้หลักที่จะนำเงินตราต่างประเทศเข้าไทย เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมส่งออก ทำให้กระทรวงเล็กๆ ที่เพิ่งเกิดมาได้เพียง 3 ปี คือกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กลายเป็นกระทรวงเศรษฐกิจ ที่โดดเด่นขึ้นมาทันตาเห็น แต่แล้วก็ต้องประสบกับอุปสรรคครั้งใหญ่อย่างไม่คาดคิด จากเหตุการณ์ภัยพิบัติ”สึนามิ” ที่พัดถล่ม 6 จังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ซึ่งเป็นเสมือนบ่อเงินบ่อทองของประเทศ
ดังนั้นหน้าที่หลักด้านนโยบายการบริหารจัดการ จึงเป็นการวัดกึ๋นที่ท้าทายความสามารถของเจ้ากระทรวงที่นั่งประจำ ณ กระทรวงแห่งนี้ ซึ่งขณะนั้นคือ นายสนธยา คุณปลื้ม โดยหลังเกิดเหตุการณ์สึนามิ หน้าที่หลักของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ คือ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวโดยเร็วที่สุด ขณะเดียวกัน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) รัฐวิสาหกิจในความดูแลของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะต้องดูในเรื่องของการประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลข่าวสาร ที่แท้จริงในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ผ่านเครือข่าย คือสำนักงาน ททท.ในต่างประเทศ โดยเร็วที่สุด พร้อมกับให้ความช่วยเหลือนักท่องเที่ยว ที่ประสบเหตุ ซึ่งตรงนี้ ถือว่าทุกฝ่ายทำได้ดี
อย่างไรก็ตามในเวลาเดียวกัน ก็ยังเป็นช่วงรัฐบาล” ทักษิณ 1 “ ครบวาระ และต้องทำการเลือกตั้งใหม่ ดังนั้นการดำเนินงานจึงอยู่ในช่วงของรัฐบาลรักษาการ สิ่งที่ นายสนธยา คุณปลื้ม ได้ตั้งเรื่องไว้ คือ การขอเงินเพื่อฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยว และ การทำประชาสัมพันธ์ และการตลาด กระตุ้นให้นักท่องเที่ยวกลับคืนมาโดยเร็ว ซึ่งถือเป็นโจทย์ใหญ่ ขณะเดียวกัน แผนงานการเป็นเจ้าภาพจัดประกวดมิสยูนิเวิร์ส ก็เป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก เพราะติดเรื่องของการจ่ายค่าลิขสิทธ์ จำนวน 6.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 260 ล้านบาท ซึ่งขณะนั้น กาลวิน ในนามของบริษัทโชว์เคส 2005 ซึ่งอ้างว่า เป็นผู้ไปบิดงานนี้เข้ามาได้ แต่เกี่ยงให้รัฐบาลเป็นผู้จ่ายเงิน แต่เมื่อรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงไม่เซ็นอนุมัติ และไม่นำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เนื่องจากเห็นความไม่ชอบมาพากล หรือศักยภาพของกาลวินในการจัดงานใหญ่ระดับโลกเช่นนี้
ในรัฐบาลทักษิณ2/1 ได้แต่งตั้งให้นาย สมศักดิ์ เทพสุทิน เข้ามารับตำแหน่ง รมว.กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เมื่อวันที่ 11 มีนาคม48 โดยขณะนั้นปัญหาใหญ่หลวงที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไข คือ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในทุกตลาดที่หายไปอย่างน่าใจหาย ไม่เฉพะแค่ในพื้นที่อันดามัน แต่ลุกลามไปทั่วประเทศ ขณะเดียวกัน ตลาดจีนซึ่งเป็นเสมือนความหวัง ที่พอรัฐบาลพอจะขอความช่วยเหลือให้นำนักท่องเที่ยวส่งมาประเทศไทย ก็กลับมีปัญหาที่แก้ไม่ตก คือ ทัวร์ศูนย์เหรียญ ไหนจะเรื่องเงินค่าลิขสิทธิ์การเป็นเจ้าภาพจัดประกวด มิสยูนิเวิร์ส 2005
สมศักดิ์ ตะลุยเปิดไอเดีย
โดยสิ่งแรกที่นายสมศักดิ์ ได้ลงมือดำเนินการคือ การสรุปหาเจ้าภาพเอกชนที่จะเข้ามาทำหน้าที่จัดงานประกวด มิสยูนิเวิร์ส ซึ่งมาลงตัวที่ กลุ่ม DTC โดยการรวมตัว ของ บริษัทแมทชิ่ง สตูดิโอ จำกัด(มาหชน) ,สถานีโทรทัศน์ ช่อง 7 และ บริษัท บีบีทีวี โปรดักชั่น จำกัด ที่รับอาสาเข้ามาจัดงานครั้งนี้ ซึ่งขณะนั้นทุกคนต่างรู้ดีว่า ยากที่จะหากำไรจากการจัดงานครั้งนี้ เพราะระยะเวลาเตรียมงานกระชั้นชิด แต่หากคิดว่า ทำเพื่อต่อยอดทางธุรกิจ หรือเพื่อเป็นสายสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ย่อมเป็นได้ นอกจากนั้นยังเร่งจัดงาน”เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์” ให้ยิ่งใหญ่ โดยกิจกรรมทั้งหมดที่กล่าวมา ก็เพื่อมุ่งหวังให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทย เกิดความคึกคักทางการท่องเที่ยว ในสายตาของคนไทย และชาวต่างชาติ
ในส่วนของปัญหาทัวร์ศูนย์เหรียญ ได้จัดตั้ง สมาคมส่งเสริมการคุ้มครองนักท่องเที่ยวจีน เพื่อหวังเป็นสิ่งการันตี สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวจีน นอกจากนั้นยังได้อาศัยความสัมพันธ์ไทย-จีน ครบ 30 ปี เป็นเวทีเจรจาการค้าธุรกิจ และการลงทุนระหว่างกัน ซึ่ง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เข้ามาช่วยดูแล และร่วมเจรจากับรัฐบาลจีน โดยยกทีมกระทรวงการท่องเที่ยว และ ททท. ไปเซ็นบันทึกข้อตกลง ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างกัน พร้อมตั้งเป้าขอนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนในปี 2548 ให้ได้ถึง 1 ล้านคน
นอกจากนั้น ยังมองการเปิดตลาดใหม่ และส่งเสริมในตลาดที่มีแนวโน้มดี ให้มีการเติบโตมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดตะวันออกกลาง และอินเดีย จนเกิดเป็นไอเดีย “อารเบียนสตรีท” ที่สุขุมวิท ซอย นานา ซึ่งปัจจุบัน เป็นแหล่งชอปปิ้งของกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากประเทศแถบตะวันออกกลางอยู่แล้ว แต่แนวคิดที่วางไว้ คือการปรับปรุงพื้นที่พร้อมจัดระเบียบร้านค้า ให้ดูเป็นสถานที่สวยงามและน่าเดิน พร้อมกับให้เหตุผลว่า ตลาดตะวันออกกลาง จะเข้ามาเติมเต็มในช่วงโลว์ซีซั่น หรือฤดูฝนของประเทศไทย ได้ดี เพราะเป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ต้องการมาเห็นฝน และอีกหนึ่งไอเดียสำคัญ คือ ต้องการสร้างจุดท่องเที่ยว ขึ้นมาเป็นจุดขายและเป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทย คือ “ศูนย์กลางพุทธศาสนาโลก” ซึ่งก่อนพ้นตำแหน่งไม่นาน มีกระแสข่าวถึงการวางเงินมัดจำที่ดิน 200 ไร่ ที่จังหวัดหนองคาย
การทำงานของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน อยู่บนพื้นฐานที่เป้าหมายตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติ 13.38 ล้านคน โดยยันว่าจะไม่ปรับลดจำนวนลง ขณะที่ตลาดคนไทยก็ไม่ปรับลด ซึ่งจะอยู่ที่ 76 ล้านคนครั้ง ขณะที่ช่วงกลางปี หรือประมาณ เดือนมิถุนายน สถานการณ์ดูเหมือนทรุดหนัก เมื่อ ราคาน้ำมันได้ทะยานปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทุกสายการบินต่างต้องปรับขึ้นค่าทำเนียมน้ำมัน กลุ่มนักท่องเที่ยวระยะไกลชะงักการเดินทาง ขณะที่คนไทยก็ชะลอการจับจ่ายและเดินทางท่องเที่ยว เป็นที่มาของการต้องอัดฉีดเม็ดเงินเพิ่มมากขึ้นเพื่อกระตุ้นตลาดระยะใกล้ นอกจากนั้นยังต้องใช้เงินอีกจำนวนหนึ่งในการพัฒนาสินค้าทางการท่องเที่ยว จนเป็นที่มาของการยื่นของบกลางปี ต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในวงเงิน 2.5 พันล้านบาท
ปัญหาเกาเหลา-รัฐหมดเงินส่งงานไม่คืบ
แต่เมื่อมาถึงเดือนสิงหาคม 48 รัฐบาลทักษิณ ก็มีอันต้องปรับ ครม.อีกครั้ง ทำให้ เจ้ากระทรวงของ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ต้องเปลี่ยนมาเป็น นายประชา มาลีนนท์ ซึ่งตอนแรกทุกคนมองว่า การทำงานของนายประชา น่าจะง่าย เพราะทุกอย่างได้ทุกจัดวางเป็นโครงการ และ มีการอนุมัติเงินงบประมาณ 2.5 พันล้านบาท จาก ครม.แล้ว แต่กาลกลับไม่เป็นอย่างที่คิด เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นคือไม่สามารถผุดโครงการใดๆ ที่จะใช้เงินจากงบกระตุ้นท่องเที่ยวดังกล่าวได้เลย เพราะไม่สามารถเบิกจ่ายเงินได้จากสำนักงบประมาณ ตรงนี้จึงเป็นปัญหาคาใจหลายฝ่ายว่า เป็นเพราะสำนักงบประมาณไม่มีเงิน หรือเป็นเพราะ ททท.เขียนรายละเอียดโครงการไม่เคลียร์
นอกจากนั้น การทำงานของนายประชา ยังมีกระแสข่าวเกาเหลา กับนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลกระทรวงการท่องเที่ยว ซึ่งที่มาที่ไปน่าจะเป็นการทำงานทับสายงานเป็นเหตุให้ข้าราชการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจในกระทรวง ทำตัวไม่ถูก แต่สิ่งที่ทั้ง 2 คน คือ นายประชา และ นายสุวัจน์ ออกมาชี้แจง คือ เป็นเรื่องดีที่ต่างช่วยเหลืองานซึ่งกันและกัน พร้อมปฎิเสธข่าวลือเกาเหลา แต่ที่น่าสังเกตคือ งานใดที่มี “สุวัจน์” งานนั้นจะไม่มี “ประชา”
สำหรับงานที่นายประชา พยายามที่จะผลักดัน คือ การสร้างแหล่งท่องเที่ยว 1 แหล่ง ต่อหนึ่งภูมิภาค เพื่อเป็นจุดขาย กระจายนักท่องเที่ยวให้ทั่วถึงทุกจังหวัด โดยมีจังหวัดหนึ่งเป็นศูนย์กลางกระจายนักท่องเที่ยวออกสู่จังหวัดใกล้เคียง พร้อมกับกล้าที่จะประกาศปรับลดเป้าหมายนักท่องเที่ยวปี 48 จาก 13.38 ล้านคน ลงมาอยู่ที่ 12 ล้านคน การเดินหน้าเร่งเจรจาในระดับรัฐมนตรีกับมณฑลต่างๆของประเทศจีน เพื่อขอความร่วมมือจัดส่งนักท่องเที่ยวมาไทย เจรจากับประเทศญี่ปุ่นดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มลองสเตย์ ปรับภูมิทัศน์ สองฝั่งเจ้าพระยา ด้วยการร่วมกับกรุงเทพมหานคร ติดไฟไลท์อัพ ตามสถานที่สำคัญสองฝั่งเจ้าพระยา
การฟื้นภูมิทัศน์บริเวณสะพานแม่น้ำแคว จังหวัดกาญจนบุรี ศึกษาเขากระยาง จังหวัดพิษณุโลก ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ และรองรับนักท่องเที่ยวชาวสวีเดนและกลุ่มยุโรป ศึกษาพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวบริเวณพื้นที่รอบเขาพนมรุ้ง ขณะที่โครงการริเวียร่า หรือ โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันตกของอ่าวไทย เพชรบุรี ประจวบ ชุมพร ต้องถูกโอนย้ายไปเป็นโครงการพิเศษ ที่อยู่ภายใต้การดูแลของ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าการปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง ถึง 3 คน ใน 1 ปี ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีบางงานที่ถูกสานต่อ ที่เห็นชัดคือ การเดินหน้าเปิดตลาดนักท่องเที่ยวจีนในทุกมณฑล เท่าที่จะทำได้ แต่ก็มีหลายโครงการที่ถูกพับแผน เช่น ศูนย์กลางพุทธศาสนาโลก ส่วน บริษัทไทยจัดการลองสเตย์ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นหน่วยงานที่มีแววถูกยุบทิ้งในสมัยรัฐมนตรี”สมศักดิ์” ทั้งที่เป็นโครงการที่ปั้นมากับมือ มาถึงช่วง รมว.”ประชา” กลับถูกรื้อโครงสร้างปรับเปลี่ยนผู้บริหาร และเป็นอีกหนึ่งความหวังที่จะเป็นองค์กรที่เข้ามาขยายฐานนักท่องเที่ยววัยเกษียร์อายุให้เข้ามาพำนักในประเทศไทยเพิ่มขึ้น