xs
xsm
sm
md
lg

อังค์ถัดชี้เงินลงทุนวิ่งเข้าประเทศกำลังพัฒนาต่อเนื่องถึงปี 49

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อังค์ถัดระบุบรรษัทข้ามชาติเคลื่อนย้ายฐานการวิจัยและพัฒนาสู่ประเทศกำลังพัฒนามากขึ้นและลดลงในประเทศที่พัฒนาแล้วและเป็นไปได้ที่จะคงอยู่ต่อไปในปี 2548 และปี 2549 หากการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อเนื่อง ในขณะที่ความท้าทายคือจะทำอย่างไรให้กระบวนการกระจายฐานการวิจัยและพัฒนาไปยังประเทศต่าง ๆ สามารถก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างประเทศผู้ลงทุนและผู้รับการลงทุน

นายศุภชัย พานิชภักดิ์
เลขาธิการที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) กล่าวเปิดตัวรายงานการลงทุนของโลกประจำปี พ.ศ.2548 : บรรษัทข้ามชาติกับการวิจัยและพัฒนาในต่างประเทศว่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของโลกฟื้นตัวขึ้น โดยมีมูลค่า 648,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2547 หรือเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับปี 2546 โดยเงินลงทุนที่ไหลเข้าสู่ประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 40 เป็น 233,000 ดอลลาร์สหรัฐ สูงเป็นอันดับ 2 จากที่เคยมีมา ในขณะที่การลงทุนในประเทศพัฒนาแล้วยังลดลงอย่างต่อเนื่อง คิดเป็นมูลค่าประมาณ 380,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ ประเทศพัฒนาแล้วยังคงมีส่วนสำคัญในฐานะแหล่งเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ โดยเกือบครึ่งหนึ่งของการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศมาจาก 3 ประเทศ คือ สหรัฐ สหราชอาณาจักร และลักเซมเบิร์ก ในขณะที่ฮ่องกงและจีนรวมถึงประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลงทุนระหว่างกันในภูมิภาค และยังลงทุนในภูมิภาคละตินอเมริกาและการลงทุนของอินเดียในภูมิภาคอาฟริกาและประเทศรัสเซีย ซึ่งเป็นผลมาจากความต้องการทรัพยากรธรรมชาติที่เพิ่มสูงขึ้น

สำหรับสัดส่วนการเพิ่มขึ้นของการลงทุนสูงที่สุดอยู่ในภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนีย โดยมีมูลค่าสูงสุดถึง 148,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 50 จากปี 2546 โดยประเทศจีนยังคงเป็นประเทศผู้รับการลงทุนมากที่สุดในปี 2547 โดยมีเงินทุนไหลเข้า 61,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นรองเพียงสหรัฐที่มียอดเงินทุนไหลเข้า 96,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และสหราชอาณาจักรเท่านั้น ซึ่งมียอดเงินทุนไหลเข้า 78,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนประเทศในลาตินอเมริกาและแคริบเบียนเงินลงทุนไหลเข้าเพิ่มขึ้นเช่นกันหลังจากที่เงินทุนไหลเข้าลดลงในช่วง 4 ปีก่อนหน้า

รายงานการลงทุนของโลกประจำปี พ.ศ.2548 ระบุด้วยว่ามีความเป็นไปได้ที่ระดับการลงทุนโดยตรงในประเทศกำลังพัฒนาที่สูงจะยังคงอยู่ต่อไปในปี 2548 และปี 2549 หากการเติบโตทางเศรษฐกิจยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ บรรษัทข้ามชาติเคลื่อนย้ายฐานการวิจัยและพัฒนาสู่ประเทศกำลังพัฒนามากขึ้น และมากกว่าครึ่งหนึ่งของบริษัทที่เป็นผู้ใช้จ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนาในอันดับต้น ๆ ของโลก มีการดำเนินกิจกรรมการวิจัยและพัฒนาอยู่แล้วในประเทศจีน อินเดีย และสิงคโปร์ ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 นอกจากนั้น ด้านเภสัชภัณฑ์ระดับโลกส่วนใหญ่ก็ได้ดำเนินกิจกรรมการวิจัยทางการแพทย์ที่อินเดีย การออกแบบเซมิคอนดัคเตอร์ในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 30 ของทั้งโลกในปี 2545 และเมื่อโตโยต้าต้องการสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาในต่างประเทศเป็นแห่งที่ 4 ก็ได้เลือกจะสร้างในประเทศไทย

ทั้งนี้ กลุ่มนักวิจัยจะอยู่ในประเทศกำลังพัฒนามากขึ้น ตัวอย่างเช่น เกือบ 1 ใน 3 ของนักศึกษาทางด้านเทคโนโลยีในโลกเป็นนักศึกษาจากประเทศจีน อินเดีย และรัสเซีย อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนามีความปรารถนาที่จะดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในการวิจัยและพัฒนานั้น การขยายตัวของการวิจัยและพัฒนาไปยังต่างประเทศของบรรษัทข้ามชาติอาจจะสร้างความหนักใจให้กับประเทศผู้ลงทุนบางประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงด้านการสูญเสียงาน ดังนั้น ความท้าทายจึงอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้กระบวนการกระจายฐานการวิจัยและพัฒนาไปยังประเทศต่าง ๆ สามารถก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างประเทศผู้ลงทุนและผู้รับการลงทุน
กำลังโหลดความคิดเห็น