xs
xsm
sm
md
lg

อังค์ถัดเตือนระวังเศรษฐกิจครึ่งปีหลังพลิกผันจากราคาน้ำมัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อังค์ถัดเผยรายงานประจำปี 2548 ชี้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง เติบโตร้อยละ 3 จากปัญหาราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่รุนแรง โดยเฉพาะสหรัฐกดดันให้เศรษฐกิจสหรัฐหมดแรงขับเคลื่อน เตือนระวังเศรษฐกิจครึ่งปีหลังอาจพลิกผันอย่างรุนแรงจากปัญหาราคาน้ำมัน ชี้ "อินเดีย-จีน" จะพลิกเป็นเสาหลักทางเศรษฐกิจแทนสหรัฐ แนะไทยปฏิรูปด้านภาษีเพื่อจูงใจต่างชาติลงทุนต่อเนื่องแทนการส่งเงินกลับประเทศแม่

ที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) เปิดตัวรายงานการค้าและการพัฒนาประจำปี 2548 ซึ่งนายศุภชัย พานิชภักดิ์ เลขาธิการอังค์ถัด เป็นผู้เผยแพร่ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในเวลา 12.00 น. ตามเวลามาตรฐานสากล หรือตรงกับเวลา 24.00 น. ของไทย

นายมนัสพาสน์ ชูโต ผู้แทนอังค์ถัดประจำประเทศไทย กล่าวว่า อังค์ถัดคาดการณ์ว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะลดลงเหลือร้อยละ 3 จากที่เติบโตร้อยละ 4 ใน 2547 สาเหตุเนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐที่เศรษฐกิจหมดแรงขับเคลื่อน ประกอบกับประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศขยายตัวลดลง โดยคาดว่าเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาในปีนี้ขยายตัวร้อยละ 5-5.5 ลดลงจากร้อยละ 6.5 ในปีที่แล้ว ส่วนเศรษฐกิจแอฟริกาขยายตัวในอัตราร้อยละ 5 เพิ่มขึ้นจากปี 2547 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.5

ผู้แทนอังค์ถัดประจำประเทศไทย กล่าวว่า ในปีนี้โอกาสที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจจะพลิกผันอย่างรุนแรงยังมีอยู่ เห็นได้จากการชะลอตัวของการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรก และราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของโลก โดยเฉพาะสหรัฐที่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนภัยที่ไม่ควรมองข้าม

"ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นในขณะนี้มาจากความต้องการที่สูงขึ้นมาก โดยเฉพาะจากจีนและประเทศกำลังพัฒนา เช่น ประเทศไทย ประกอบกับมีการเก็งกำไรของกองทุนเก็งกำไร (เฮดจ์ฟันด์) จึงทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม นายสตีฟ ฟอร์บส์ นักการเมืองสหรัฐได้คาดการณ์ว่าเมื่อมีการเก็งกำไรราคาน้ำมันดิบจนราคาถึง 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จะเกิดภาวะฟองสบู่แตก และทำให้ราคาน้ำมันลดลงเหลือประมาณ 30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเท่านั้น" นายมนัสพาสน์ กล่าว

นอกจากนี้ ในรายงานของอังค์ถัดยังระบุด้วยว่าประเทศญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปจะต้องก้าวขึ้นมามีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก เพราะปัจจุบันสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นยังมีบทบาทน้อย เพราะสหภาพยุโรปยังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา และญี่ปุ่นยังเผชิญกับภาวะเงินฝืด ขณะเดียวกันจีนและอินเดียจะเป็นตัวจักรสำคัญในการเติบโตของเศรษฐกิจ เพราะทั้ง 2 ประเทศ มีจำนวนประชากรจำนวนมาก ทำให้มีความต้องการทรัพยากรธรรมชาติเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ประเทศคู่ค้าได้รับกำไรจากการส่งออกสินค้าทุน อย่างไรก็ตาม ในรายงานของอังค์ถัดได้เสนอแนะให้ประเทศกำลังพัฒนาพัฒนาเศรษฐกิจให้มีความหลากหลาย โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม เพราะเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้เป็นเสาหลักการเติบโตเศรษฐกิจโลก

นอกจากนี้ ประเทศกำลังพัฒนาต้องร่วมมือกันกำหนดความร่วมมือด้านภาษีเพื่อจูงใจให้นักลงทุนต่างชาติใช้เงินในการลงทุนต่อไป แทนการส่งกลับประเทศของตนเอง และต้องเร่งแก้การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด โดยเฉพาะสหรัฐที่ขาดดุลถึง 2 ใน 3 ของบัญชีที่เกินดุลในโลก
กำลังโหลดความคิดเห็น