xs
xsm
sm
md
lg

สบน.ระบุยอดหนี้สาธารณะเดือน เม.ย.เพิ่มแค่เล็กน้อย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน – “สบน.” เผยผลบริหารหนี้สาธารณะ 8 เดือน ปีงบ 48 ปรับโครงสร้างหนี้ในและต่างประเทศรวม 1.88 แสนล้านบาท ลดภาระดอกเบี้ยในอนาคตรวม 7.33 พันล้านบาท ขณะที่กู้เงินรวม 1.48 แสนล้านบาท และชำระหนี้จากงบประมาณแล้ว 9.04 หมื่นล้านบาท ส่วนที่หนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือน เม.ย.อยู่ที่ 43.58% ของจีดีพี เพิ่มขึ้นจาก 43.52% ของจีดีพีในเดือนก่อนหน้า

นางพรรณี สถาวโรดม
ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) เปิดเผยถึงผลการดำเนินการบริหารจัดการหนี้ในช่วง 8 เดือนของปีงบประมาณ 2548 (ตุลาคม 2547-พฤษภาคม 2548) ว่า ด้านภาระหนี้ต่างประเทศได้มีการปรับโครงสร้างหนี้ในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ เป็นเงินรวม 82,205 ล้านบาท โดยเป็นของรัฐบาล 67,889 ล้านบาท และรัฐวิสาหกิจ 14,316 ล้านบาท ทำให้ลดยอดหนี้คงค้างได้รวม 23,654 ล้านบาท ลดภาระดอกเบี้ยได้ 7,279 ล้านบาท

สำหรับภาระหนี้ในประเทศได้มีการปรับโครงสร้างหนี้รวม 106,372 ล้านบาท โดยเป็นการปรับโครงสร้างหนี้ของรัฐบาล 96,440 ล้านบาท ประกอบด้วยการปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตร FIDF1 96,153 ล้านบาท และการไถ่ถอนพันธบัตร Tier 1 ก่อนครบกำหนด 287 ล้านบาท ซึ่งลดภาระดอกเบี้ยในอนาคตได้ 52 ล้านบาท และการ Roll Over หนี้ของรัฐวิสาหกิจรวม 9,932 ล้านบาท

ด้านการกู้เงิน ภาครัฐได้กู้เงินรวม 148,937 ล้านบาท เป็นการกู้เงินของรัฐวิสาหกิจตามแผนการก่อหนี้จากต่างประเทศ 31,532 ล้านบาท และการกู้เงินในประเทศ 117,405 ล้านบาท ซึ่งเป็นการกู้ของกระทรวงการคลัง 10,000 ล้านบาท และรัฐวิสาหกิจ 107,405 ล้านบาท ขณะที่ ได้ดำเนินการชำระหนี้จากงบประมาณรวม 90,408 ล้านบาท

สำหรับผลการบริหารหนี้ภาครัฐประจำเดือนพฤษภาคม 2548 นั้น ในด้านต่างประเทศ กระทรวงการคลังได้ปรับโครงสร้างหนี้ต่างประเทศ โดยชำระคืนเงินกู้จากธนาคารพัฒนาเอเซีย (Asian Development Bank: ADB) ก่อนครบกำหนด 89.11 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเทียบเท่า 3,530 ล้านบาท ทำให้ลดยอดหนี้คงค้างได้ 3,530 ล้านบาท และลดภาระดอกเบี้ยในอนาคตได้ 1,657 ล้านบาท และออกตราสาร ECP (Euro Commercial Paper) อายุ 3 เดือน เพื่อใช้เป็น Bridge Financing ในการ Refinance เงินกู้จากธนาคารพัฒนาเอเซีย 400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเทียบเท่า 15,846 ล้านบาท ทำให้ลดภาระดอกเบี้ยได้ 81 ล้านบาท

ด้านในประเทศ ได้ปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรเพื่อชดใช้ความเสียหายให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF1) ที่ครบกำหนดเมื่อเดือนมีนาคม 2547 จำนวน 30,000 ล้านบาท โดยได้รับเงินจากการประมูลพันธบัตรในเดือนนี้ 9,000 ล้านบาท

สำหรับการกู้เงินของภาครัฐในเดือนพฤษภาคม 2548 บริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด ได้กู้เงินจากธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่นตามแผนการก่อหนี้จากต่างประเทศ 35,453 ล้านเยน หรือเทียบเท่า 13,305 ล้านบาท ด้านในประเทศ รัฐวิสาหกิจได้กู้เงินในประเทศรวม 22,983 ล้านบาท โดยเป็นการกู้เงินเพื่อลงทุน 12,985 ล้านบาท เป็นเงินบาทสมทบ 1,129 ล้านบาท ทดแทนเงินกู้ต่างประเทศ 2,671 ล้านบาท และเป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน 6,198 ล้านบาท ขณะที่ดำเนินการชำระหนี้จากงบประมาณ 10,951 ล้านบาท เป็นการชำระคืนเงินต้น 4,432 ล้านบาท ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมรวม 6,519 ล้านบาท

นางพรรณีกล่าวว่า สถานะหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนเมษายน 2548 ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 30 เมษายน 2548 มีจำนวน 3,135,350 ล้านบาท หรือ 43.58% ของจีดีพี เพิ่มขึ้นจาก 43.52% ของจีดีพีในเดือนก่อนหน้า โดยหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง 1,789,609 ล้านบาท หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 950,333 ล้านบาท และหนี้สินของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 395,408 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น 3,995 ล้านบาท

โดยหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงลดลง 18,541 ล้านบาท หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงินเพิ่มขึ้น 12,725 ล้านบาท และหนี้สินของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ เพิ่มขึ้น 9,812 ล้านบาท หนี้สาธารณะจำแนกได้เป็นหนี้ต่างประเทศ 633,347 ล้านบาท หรือ 20.20% และหนี้ในประเทศ 2,502,003 ล้านบาท หรือ 79.80% และเป็นหนี้ระยะยาว 2,501,223 ล้านบาท หรือ 79.77% และหนี้ระยะสั้น 634,127 ล้านบาท หรือ 20.23% ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง

 
กำลังโหลดความคิดเห็น