ผู้จัดการรายสัปดาห์ - คงยากที่จะปฏิเสธได้ว่ารายการดังอย่าง อคาเดมีแฟนตาเซียและเดอะสตาร์ ในปีที่ผ่านมาได้ปลุกกระแสรายการเรียลลิตี้ของเมืองไทยให้เปลี่ยนไป ล่าสุดทีวีแทบทุกช่องคือสะพานเชื่อมสู่ความสำเร็จในการแจ้งเกิดปัจจุบันจึงทำให้พบกับรายการเรียลลิตี้โชว์ทั้งน้อยใหญ่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก
ความเหมือนกันบนความแตกต่างของเนื้อหารายการจึงเป็นยุทธวิธีที่ถูกนำมาใช้กับรายการเรียลลิตี้โชว์เมืองไทยได้เป็นอย่างดี และไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำรายการแม้ว่าปีนี้จะเข้าสู่ยุคที่ 2 ก็ตาม
ความพยายามของรายการเรียลลิตี้โชว์หลักๆ แต่ละช่องจึงต้องต่อยอดฉีกตัวเองสร้างความโดดเด่นออกไป บ้างก็หาซื้อลิขสิทธิ์รายการใหม่ๆ เข้ามาทั้งนี้เพื่อใช้ชื่อเสียงและความสำเร็จจากต่างประเทศมาการันตีเรียกความน่าสนใจต่อเรตติ้งคนดูในประเทศ หวังเพียงเพื่อขายโฆษณาพร้อมกับกระตุ้นให้คนเกิดความสนใจอยากดู
ปัจจุบันมี รายการ Big Brother Thailand ,Thailand ‘s next top model และ Academy Fantasia 2 โดยรายการเหล่านี้เน้นการออกอากาศตัดส่วนที่เป็นไฮไลต์มาฉายในช่วงค่ำราว 4 ทุ่มซึ่งเป็นการรับช่วงรอยต่อมาจากละครที่ผู้ชมหลายคนเริ่มจะเข้านอนเป็นกลยุทธ์ในการยืดเวลาไพร์มไทม์ให้ยาวขึ้น ผิดกับช่อง 7 ที่สวนกระแสรายการประเภทนี้ไปอย่างสิ้นเชิง เพราะเรตติ้งละครที่ออกอากาศมีผู้ชมมากอยู่แล้วนั่นเอง
ผ่ากลยุทธ์รายการ
เริ่มต้นรายการ Big Brother จากค่ายกันตนาซึ่งเปิดตัวไปแล้วโดยมีการถ่ายทอดตลอด 24 ชม.ผ่านยูบีซีช่อง 16 และตัดช่วงที่เป็นส่วนสำคัญของแต่ละวันมาออกอากาศทางไอทีวีทุกวันเวลา 22.45-23.15 น.โดยมีสปอนเซอร์หลักคละกลุ่มกันคือ รีเจนซี่, ซิสเทมม่า, โออิชิ, มาม่า, พอนด์ส, ซันซิล, โซนี่แฮนดี้แคม และอินเด็กซ์ลิฟวิ่งมอลล์ คาดว่าจะมีผู้ชมหลากหลายตามสโลแกนของรายการที่ว่า “เกมส์ชีวิตจริงของคนธรรมดา” คัดเลือกผู้เข้าแข่งขันชายหญิงฝ่ายละ 6 คนมาอยู่ร่วมกันในบ้านเป็นเวลา 100 วันเพื่อทำกิจกรรมที่จัดไว้โดยไม่มีการประกวดร้องเพลง ส่วนการโหวตว่าใครจะได้อยู่ต่อนั้นเป็นระบบ sms ให้ผู้ชมทางบ้านโหวตเข้ามา
รายการนี้ประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลายมาแล้วในหลายประเทศ แต่สำหรับประเทศไทยผู้เชี่ยวชาญในวงการโทรทัศน์ประเมินว่าอาจจะไม่เป็นเช่นนั้นเนื่องจากจุดเด่นของรายการที่ดึงดูดผู้ชมมากที่สุดคือการแบ่งพวกจับคู่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันของชายหญิง ในขณะที่ Big Brother Thailand จะห้ามทำเช่นนั้น รวมทั้งมีสาระกิจกรรมที่ให้ผู้เข้าแข่งขันทำในแต่ละวันไม่มากนักและไม่มีการทำเวิร์กช็อปฝึกฝนทักษะแบบรายการอื่นๆ ด้วย จึงเป็นเหมือนรายการที่มีเพียงรูปแบบ(Format)เช่นการอยู่ร่วมกันหรือการโหวตออก แต่มีเนื้อหา(Content)ที่น่าดึงดูดให้ชมติดตามน้อยเนื่องจากเป็นกิจกรรมที่ไม่ต้องใช้ความสามารถพิเศษเท่าใดนักประกอบกับการมีระยะเวลาเก็บที่นานถึง 100 วันแต่ก็ไม่ได้ใช้ความได้เปรียบด้านเวลานี้มาเชื่อมโยงกิจกรรมเพื่อให้ผู้ชมเกิดความต่อเนื่องติดตามไปเรื่อยๆ เหมือนเรียลลิตี้โชว์อื่นๆ ทำให้รายการนี้มีความไม่น่าสนใจหรือโดดเด่นเท่าที่ควร ดังนั้นจุดขายที่สุดของรายการนี้จึงอยู่ที่การได้ชื่อว่าเป็นบิ๊กโปรดักส์ชั่นเนื่องจากได้ทุ่มทุนลงไปถึง 80 ล้านบาท และมีรางวัลล่อใจผู้เข้าแข่งขันเป็นเงิน 1 ล้านบาท,บ้านเดียว และรถยนต์มาสด้า 3 สปอร์ต
รายการต่อมาคือ ,Thailand ‘s next top model จากค่ายบีอีซีและฮอลัสของซอนญ่า คูลลิ่งซื้อลิขสิทธิ์มาจาก CBS Paramount International มาร่วมกันทำซึ่งขณะนี้การถ่ายทำเสร็จเรียบร้อยแล้วและกำลังจะนำออกอากาศทางช่อง 3 ในวันพุธและพฤหัสบดี เวลา 21.50-22.20 น. โดยจะเริ่มในวันที่ 18 พค.นี้ รูปแบบรายการเป็นการนำผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด 13 คนมาอยู่ร่วมกันและฝึกฝนอบรมวิธีการเป็นนางแบบ ซึ่งผู้ชนะจะได้รางวัลเป็นรถโตโยต้าแลนด์ครุยเซอร์และสัญญาว่าจ้างเดินแบบ นอกจากเนื้อหาการฝึกฝนและการใช้ชีวิตทั่วไปแล้วยังมีการนำดาราหนุ่มเข้ามานัดเดทเพื่อสร้างความน่าสนใจให้รายการเหมือนละครทีวีอีกด้วย สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้ชมที่ชอบรายการที่มีดารา ด้านงบประมาณของเรียลลิตี้ชุดนี้ใกล้เคียงกับการทำละครทีวี 1 เรื่องคือประมาณ 10 ล้านบาทหรือเฉลี่ยตอนละ 5 แสนบาท ทั้งนี้ด้วยชื่อของความเป็นซอนญ่าและภาพลักษณ์ความเป็นรายการที่นำเสนอเรื่องของผู้หญิงทำให้โฆษณาของรายการนี้ถูกจองเต็มหมดแล้วจากสินค้าของผู้หญิงทั้งเครื่องสำอางและของใช้ซึ่งมีสัดส่วนการใช้จ่ายงบโฆษณาสูงสุดในปัจจุบัน แม้กระทั่งเบียร์สิงห์ซึ่งเคยโฆษณาในรายการเฟียร์แฟกเตอร์ของกันตนามาก่อนก็ยังเปลี่ยนใจมาด้วยหลังจากเคยประกาศประกาศสนับสนุนเว็บไซต์ ไทยซุปเปอร์โมเดลดอทคอม ของซอนญ่าเมื่อราว 5-6 ปีที่ผ่านมาและ เมื่อปลายปีที่ผ่านมาลีโอซึ่งเป็นเป็นไฟติ้งแบรนด์ของสิงห์ก็ได้ชักชวนสมาชิกคลับเอฟของเธอมาขึ้นปฏิทินด้วย
นอกจากนี้แชมป์เก่า Academy Fantasia ซึ่งปีที่ผ่านมาเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์จากงบลงทุน 100 ล้านบาทและได้ผลิต 12 ศิลปินนักร้องที่มีแกรมมี่จัดการอยู่ในขณะนี้ ปัจจุบันก็มีแผนที่จะทำโครงการ 2 ในครึ่งหลังของปีนี้มีจุดแข็งในด้านเวลาที่ไม่ทับซ้อนแย่งผู้ชมกับรายการเรียลลิตี้ของฟรีทีวีช่องอื่นและมีฐานผู้ชมเดิมติดตามอยู่ ประกอบกับการที่สามารถใส่รูปแบบเพลงและความบันเทิงลงไปในเนื้อหาได้มากกว่าโดยไม่ต้องคำนึงถึงการโฆษณาให้สปอนเซอร์รายการเหมือนเรียลลิตี้โชว์อื่นๆ เพราะถูกจำกัดโดยกฎหมายเคเบิ้ลทีวีอยู่แล้ว ทำให้คาดว่าคงได้รับความนิยมเหมือนเช่นเดิม แต่สินค้าที่จะได้รับอานิสงส์ผลพวงมียอดขายเพิ่มขึ้นจากเรียลลิตี้โชว์นี้หลักคือยูบีซี นอกจากนั้นเป็นผลพลอยได้ปลีกย่อยจากการให้ผู้ชมโหวตผ่านระบบ sms ซึ่งก็แบ่งระหว่างเจ้าของรายการกับผู้ให้บริการโทรศัพท์