xs
xsm
sm
md
lg

คาดการใช้พลังงานจากถ่านหินเพิ่มกว่าร้อยละ 40

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับจังหวัดลำปาง ได้จัดประชุมถ่านหินโลก หรือ Coaltrans Thailand ที่โรงแรมเวียงลคอร จังหวัดลำปาง เป็นการสัมมนาทางด้านวิชาการการนำถ่านหินมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีกลุ่มผู้คัดค้านการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง รวมพลังชุมนุมกดดันอยู่ภายนอกโดยเชื่อว่าการประชุมถ่านหินโลกในวันนี้เป็นการประชุมของกลุ่มนายทุน และเป็นการขายเทคโนโลยี โดยไม่คำนึงถึงมลพิษและผลกระทบของชาวบ้านซึ่งเกรงว่าจะเกิดปัญหามลพิษเหมือนโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง

เช้าวันนี้ (24 ม.ค.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับจังหวัดลำปาง ได้จัดประชุมถ่านหินโลก หรือ Coaltrans Thailand ที่โรงแรมเวียงลคอร จังหวัดลำปาง โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากนานาชาติกว่า 200 คน โดยกำหนดการเดิมมี นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิดงาน แต่ นพ.พรหมินทร์ ติดภารกิจในภาคใต้ จึงเปลี่ยนเป็นนายวิเศษ จูภิบาล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพลังงาน แทน โดยในช่วงเช้าก่อนเปิดงานภายนอกโรงแรม ได้มีกลุ่มผู้คัดค้านการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งประกอบด้วยองค์กรเอกชน หรือเอ็นจีโอ รวมทั้งประชาชนจากกลุ่มต่าง ๆ เช่น กลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก กุยบุรี กลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด กลุ่มชาวบ้านแม่เมาะ กลุ่มชาวบ้านจากอำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ กลุ่มชาวบ้านจากจังหวัดสระบุรี กลุ่มกรีนพีซ เป็นต้น โดยผู้ชุมนุมได้ใส่เสื้อแดงและเขียว และถือป้ายคัดค้านการใช้ถ่านหิน ซึ่งผู้ชุมนุมพยายามที่จะเข้ามาในโรงแรม ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้สกัดกั้นไว้ ทางกลุ่มผู้ชุมนุมจึงไฮด์ปาร์คอยู่ด้านนอก

ทางด้านนายวิเศษ กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ เป็นการสัมมนาทางด้านวิชาการการนำถ่านหินมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และจะเป็นการประชุมในวาระที่ กฟผ. ครบรอบ 36 ปี และวาระครบรอบ 50 ปี ของการพัฒนาเหมืองถ่านหินแม่เมาะ โดยในอดีตแม้ว่าผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของแม่เมาะจะเกิดขึ้นจากก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เมื่อ 10 ปีก่อน แต่ขณะนี้ กฟผ.ได้แก้ไขปัญหาโดยมีการติดตั้งอุปกรณ์กำจัดกำมะถัน (เอฟจีดี) แล้ว แต่ยังเป็นภาพที่ประชาชนไม่ไว้วางใจนัก การประชุมครั้งนี้ กฟผ. จึงหวังว่าจะทำให้ประชาชนเห็นความตั้งใจในการแก้ไขปัญหานี้ให้หมดสิ้นไป

นายวิเศษ กล่าวว่า ทางรัฐบาลมีนโยบายในการสร้างโรงไฟฟ้าโดยพิจารณาทั้งด้านต้นทุนราคาและผลกระทบด้านสิ่งแดวลอ้มควบคู่กันไป ซึ่งในส่วนของถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงที่มีราคา มีเสถียรภาพ และจะช่วยทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าถูกลง ในขณะที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีในการใช้เชื้อเพลิงจนทำให้ถ่านหินสะอาดไม่เป็นมลพิษ โดยทั้งที่ฮาวาย ประเทศสหรัฐ และเยอรมนี มีการใช้โรงไฟฟ้าถ่านหินที่อยู่เมืองจำนวนมาก ก็ไม่ก่อให้เกิดปัญหาแต่อย่างใด ซึ่งจะต้องมีการชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน โดยการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงนั้น ทำให้ค่าไฟราคาถูก ปัจจุบันมีต้นทุนเชื้อเพลิงประมาณ 1 บาทต่อหน่วย นอกจากนี้ ทางรัฐบาลยังมีนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานชีวมวล หรืออาร์พีเอช โดยกำหนดเป็นนโยบายกรณีการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ หรือไอพีพี จะต้องมีการสร้างโรงไฟฟ้าอาร์พีเอช ในสัดส่วนร้อยละ 5 อยู่แล้ ว ซึ่งทางรัฐบาลต้องการส่งเสริมให้เกิดพลังงานชีวมวลอย่างจริงจัง แต่ปัญหาสำคัญของอาร์พีเอช ยังมีต้นทุนที่สูงถึง 15 บาทต่อหน่วย และจะต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ในการก่อสร้าง ซึ่งไม่สามารถรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศที่ขยายตัวอย่างเร็วถึง 1,500 เมกะวัตต์ต่อปีได้ โดยการสร้างโรงไฟฟ้าจะต้องมีการสร้างควบคู่กันไปทั้งโรไฟฟ้าซอสฟิล และโรงไฟฟ้าอาร์พีเอช

นายไกรสีห์ กรรณสูต ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า ปัจจุบันสัดส่วนการใช้ถ่านหินเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้ายังมีสัดส่วนค่อนข้างต่ำอยู่ที่ประมาณร้อยละ 17 และมีการใช้ก๊าซธรรมชาติประมาณร้อยละ 75 ซึ่งการใช้ถ่านหินจะมีประโยชน์ในด้านกระจายความเสี่ยงต่อการผลิตพลังงานของประเทศ และราคาถูกกว่าก๊าซธรรมชาติ ซึ่งตามแผนงานแล้ว ประเทศไทยจะต้องนำเข้าถ่านหินเพื่อมาผลิตกระแสไฟฟ้าในส่วนของภาคเอกชน คือ โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี จังหวัดระยอง กำลังผลิต 1,400 เมกะวัตต์ โดยสัดส่วนการใช้ถ่านหินเพื่อการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเป็นร้อยละ 20 ในปี 2554 และเพื่อกระจายความเสี่ยงคาดว่าการใช้ถ่านหินจะเพิ่มขึ้นเป็นกว่าร้อยละ 40 ในปี 2558 หลังจากนั้นการใช้ก๊าซธรรมชาติจะค่อย ๆ ลดลงเหลือร้อยละ 50 ในปี 2558 ซึ่งการเพิ่มดังกล่าวในขณะนี้ กฟผ.ยังไม่มีแผนที่จะมีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเอง แต่อาจจะเป็นไปได้ที่จะนำเข้ากระแสไฟฟ้าที่ผลิตจากถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงจากประเทศเพื่อนบ้าน คือ โรงไฟฟ้าหงสาลิกไนต์ จาก สปป.ลาว กำลังการผลิตประมาณ 600-700 เมกะวัตต์

ส่วนแหล่งเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ ถึงแม้จะเป็นแหล่งถ่านหินคุณภาพดีมีกำมะถันต่ำร้อยละ 1 ซึ่งจะมีการผลิตกระแสไฟฟ้าได้หรือไม่นั้น คงจะต้องทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่เสียก่อน นอกจากนี้ กฟผ.เองกำลังพิจารณาว่า ภายหลังปี 2553 ไปแล้วจะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะหน่วยที่ 1-3 ที่มีกำลังการผลิตรวม 225 เมกะวัตต์ หรือไม่ ซึ่งหากจะมีการก่อสร้างก็คาดว่าจะมีกำลังการผลิตรวมที่ 600-700 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ในการประชุมครั้งนี้ได้มีข้อเสนอในเรื่องเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีถ่านหินในการนำมาผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยการแปลงสภาพถ่านหินให้เป็นของเหลวแล้วนำมาผลิตเป็นแก๊ส หรือระบบไอจีซีซี เป็นต้น ซึ่งระบบนี้จะต้องป้องกันมลพิษได้ถึงร้อยละ 100 ดีกว่าการติดตั้งเอฟจีดี ที่สามารถป้องกันมลพิษได้ร้อยละ 98-99

ในส่วนของตัวแทนชาวบ้านจากเวียงแหง ระบุว่า เวียงแหงแม้มีการพิสูจน์ทราบว่าเป็นแหล่งถ่านหินสะอาด แต่ชาวบ้านไม่ต้องการให้เกิดการพัฒนาสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ส่วนกลุ่มชาวบ้านจากจังหวัดสระบุรี กล่าวว่า ที่คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากบริษัท กัลฟ์พาวเวอร์ ซึ่งใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงที่จังหวัดสระบุรี เนื่องจากเกรงปัญหามลพิษเช่นกัน และผู้ชุมนุมที่ร่วมชุมนุมในวันนี้ต่างคัดค้านโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานฟอสซิล ไม่ว่าจะเป็นถ่านหิน น้ำมัน หรือก๊าซเป็นเชื้อเพลิง เพราะเกรงปัญหามลพิษ โดยต้องการให้รัฐบาลสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ ทดแทน โดยแม้ว่าค่าไฟฟ้าอาจจะแพงกว่าการใช้พลังงานฟอสซิล แต่ยังเชื่อมั่นว่าค่าไฟฟ้าจะถูกลงตามการพัฒนาเทคโนโลยีในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น