สหรัฐฯในวันอังคาร(22ก.ค.) เปิดเผยว่าจะถอนตัวจากยูเนสโก ระบุหน่วยงานด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมของสหประชาชาติแห่งนี้ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีสำหรับการขึ้นบัญชีที่ตั้งมรดกโลก ลำเลียงมีอคติกับอิสราเอลและส่งเสริมเหตุผลต่างๆที่ก่อความแตกแยก
ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีทรัมป์ เคยสั่งให้สหรัฐฯถอนตัวจาก องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) มาแล้วหนหนึ่งในปี 2017 ครั้งที่เขาดำรงตำแหน่งสมัยแรก ก่อนที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ณ ขณะนั้น จะฟื้นสถานภาพความเป็นสมาชิกของอเมริกา
"การยังคงเกี่ยวข้องกับยูเนสโก ไม่เป็นประโยชน์แห่งชาติสำหรับสหรัฐฯ" แทมมี บรูซ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศอเมริกากล่าว ในขณะที่ยูเนสโกเรียกการถอนตัวของสหรัฐฯ ซึ่งจะมีผลในเดือนธันวาคม 2026 ว่าเป็นเรื่องน่าเสียใจ แต่ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ พร้อมเน้นย้ำว่ามันจะส่งผลกระทบทางการเงินอย่างจำกัดเท่านั้น
"ฉันเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อการตัดสินใจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัทป์ ที่ถอนอเมริกาออกจากยูเนสโกอีกครั้ง" นางออเดรย์ อาซูเลย์ ผู้อำนวยการใหญ่ของยูเนสโกกล่าว พร้อมระบุว่าความเคลื่อนไหวนี้สวนทางกับหลักการพื้นฐานของพหุภาคีนิยม "อย่างไรก็ตาม แม้จะน่าเสียดาย แต่ถ้อยแถลงนี้เป็นสิ่งที่คาดหมายไว้อยู่แล้ว และยูเนสโกเตรียมการรับมือไว้แล้ว"
อาซูเลย์ บอกว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ยูเนสโก ได้ดำเนินการปฏิรูปโครงสร้างครั้งใหญ่และหาแหล่งเงินทุนที่หลากหลาย ในนั้นรวมถึงจากภาคเอกชนและเงินสมทบจากรัฐบาลโดยสมัครใจ
เธอ เปิดเผยว่าในปัจจุบัน เงินสนับสนุนจากสหรัฐฯนั้น คิดเป็นสัดส่วนแค่ 8% ของงบประมาณโดยรวมของยูเนสโก จากเดิมที่เคยมีสัดส่วนถึงเกือบ 20% เมื่อ 1 ทศวรรษก่อน และทางองค์กรแห่งนี้ไม่มีแผนเลิกจ้างใดๆ
โฆษกรัฐบาลอเมริกาให้คำนิยมยูเนสโกว่าทำงานเพื่อสร้างความแตกแยกทางสังคมและวัฒนธรรม รวมถึงจดจ่อมากเกินไปต่อเป้าหมายระยะยาวของสหประชาชาติ ที่เธอให้คำจำกัดความว่าเป็นวาระเชิงอุดมการณ์และโลกาภิวัตน์ นอกจากนี้แล้วเธอยังเน้นย้ำในสิ่งที่เธอเรียกว่าจุดยืนต่อต้านอิสราเอลขององค์กรแห่งนี้ ที่ยอมรับปาเลสไตน์ในฐานะรัฐหนึ่งๆ
"การตัดสินใจของยูเนสโก ในการรับรัฐปาเลสไตน์ในฐานะรัฐสมาชิก เป็นประเด็นปัญหาสำคัญ ขัดแย้งกับนโยบายของสหรัฐฯ เช่นเดียวกับการส่งเสริมแพร่กระจายวาทกรรมต่อต้านอิสราเอลภายในองค์กร" บรูซกล่าว ทั้งนี้รัฐบาลสหรัฐฯยังคัดค้านยูเนสโกต่อการรับรองแหล่งมรดกโลกในดินแดนยึดครองเวสต์แบงก์และยูเรซาเลมตะวันออก ในฐานะเป็นของปาเลสไตน์
อาซูเลย์ ระบุว่าสหรัฐฯเดินหน้าถอนตัวจากยูเนสโกด้วยเหตุผลเดียวกับเมื่อ 7 ปีก่อน เธอบอกว่า "แม้สถานการณ์ได้เปลี่ยนไปอย่างมากและความตึงเครียดทางการเมืองลดลง และยูเนสโกในทุกวันนี้ ถือเป็นเวทีที่หายากมากๆ ที่พบเห็นความเป็นเอกฉันท์ในด้านความร่วมมือพหุภาคีที่เป็นรูปเป็นร่างและมุ่งเน้นไปที่การลงมือทำ"
"คำกล่าวอ้างของวอชิงตัน สวนทางกับความเป็นจริงในความพยายามของยูเนสโก" เธอกล่าว "โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขอบเขตการศึกษาเกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวและต่อสู้กับการต่อต้านชาวยิว
แหล่งข่าวยูเนสโกให้คำจำกัดความความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯว่าเป็นการเมืองล้วนๆและปราศจากพื้นฐานข้อเท็จจริงใดๆ ขณะเดียวกันแหล่งข่าวบอกด้วยว่าองค์กรแห่งนี้ถูกบีบให้ดำเนินงานโดยปราศจากเงินทุนของสหรัฐฯมานานหลายปี หลังจากอเมริกาถอนตัวไปในปี 2017 แต่ก็ยอมรับว่าแม้ยูเนสโกได้ปรับตัวแล้ว แต่ยังจำเป็นต้องหาแหล่งเงินทุนใหม่ๆ
รัฐมนตรีต่างประเทศอิสราเอล เขียนบนแพลตฟอร์มเอ็กซ์แสดงความยินดีต่อการตัดสินใจของสหรัฐฯ "นี่คือก้าวย่างที่จำเป็น ออกแบบมาเพื่อส่งเสริมความยุติธรรมและสิทธิของอิสราเอล เพื่อได้รับการปฏิบัติอย่างยุติธรรมในระบบของสหประชาชาติ "สหประชาชาติจำเป็นต้องทำการปฏิรูปในระดับพื้นฐาน เพื่อคงไว้ซึ่งความสำคัญ"
ส่วน แดนนี ดานอน เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำสหประชาชาติ เรียกยูเนสโก ว่าเป็นองค์กรที่หลงทิศสูญเสียแนวทาง และยกย่องสำหรัฐฯสำหรับการแสดงออกถึงความเข้าใจที่ชัดเจนในเรื่องศีลธรรมในเวทีนานาชาติ
อย่างไรก็ตามประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส โพสต์ข้อความบนแพลตฟอร์มเอ็กซ์ว่า ยูเนสโก ยังคงได้รับแรงสนับสนุนจากเขาไม่เปลี่ยนแปลง และจะไม่อ่อนแอลงตามหลังการถอนตัวของสหรัฐฯ
ทั้งนี้มีสถานที่มรดกโลก 26 แห่งตั้งอยู่ในสหรัฐฯ
(ที่มา:เอเอฟพี)