xs
xsm
sm
md
lg

ลุ้นประชุมผู้นำนาโตโชว์ความเป็นเอกภาพ หรือจะแตกแยกหนักประเด็นงบการทหาร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอพี – ผู้นำนาโตนัดรวมพลวันอังคาร (24 มิ.ย.) เพื่อร่วมประชุมสุดยอดที่อาจทำให้องค์การด้านความมั่นคงใหญ่ที่สุดของโลกแห่งนี้แนบแน่นเป็นหนึ่งเดียวเกี่ยวกับคำสัญญาเพิ่มการใช้จ่ายทางทหาร หรือยิ่งทำให้สมาชิก 32 ชาติแตกแยกกันมากขึ้น

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มาร์ก รึตเตอ เลขาธิการองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ยังมองแง่ดีว่า สมาชิกชาติยุโรปและแคนาดาจะยึดมั่นในการจัดสรรงบประมาณกลาโหมอย่างน้อยที่สุดเทียบเท่ากับงบประมาณของอเมริกาเป็นครั้งแรก

อย่างไรก็ตาม สเปนกลับโจมตีว่า เป้าหมายใหม่ของนาโตที่กำหนดให้สมาชิกแต่ละชาติต้องจัดสรรงบประมาณการทหาร 5% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) “ไม่มีเหตุผล” ขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยืนกรานเป้าหมายเดิม ที่สำคัญการตัดสินใจของนาโตอิงกับหลักฉันทามติที่ทั้ง 32 ประเทศต้องให้การสนับสนุน

วันต่อมาทรัมป์โจมตีรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีเปโดร ซานเชซ และบอกว่า นาโตต้องจัดการกับสเปน ซึ่งเป็นประเทศที่อัดฉีดเงินทางการทหารน้อยมากพอๆ กับแคนาดา

โดยในปีที่แล้ว สเปนเป็นประเทศที่ใช้จ่ายเงินทางการทหารน้อยที่สุดในนาโต คือไม่ถึง 2% ของจีดีพี ส่วนแคนาดาอยู่ที่ 1.45%

ในการประชุมนัดนี้ ชาติสมาชิกถูกคาดหมายว่า จะเพิ่มการใช้จ่ายทางทหารเป็น 3.5% ของจีดีพี และอีก 1.5% สำหรับการใช้จ่ายอื่นๆ เช่น การปรับปรุงถนน สะพาน ท่าเรือ และสนามบิน หรือการเตรียมพร้อมประชาชนในการเผชิญความขัดแย้งในอนาคต ซึ่งล่าสุดทรัมป์ยังสั่งถล่มโรงงานนิวเคลียร์ในอิหร่าน

ทั้งนี้ ตอนที่อเมริกานำทัพบุกอิรักในปี 2003 สมาชิกนาโตแตกแยกกันรุนแรง โดยฝรั่งเศสและเยอรมนีคัดค้านปฏิบัติการดังกล่าว แต่อังกฤษและสเปนเข้าร่วมการโจมตี

นอกจากนั้น ชาติยุโรปและแคนาดายังต้องการให้ยูเครนเป็นประเด็นสำคัญในการประชุมสุดยอดที่มีกำหนดจัดขึ้น 2 วันที่กรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ แต่ก็กังวลว่า ทรัมป์อาจไม่ต้องการให้ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี้ มาแย่งชิงความโดดเด่นในงาน

นาโตก่อตั้งขึ้นในปี 1949 โดยมีสมาชิกเริ่มแรก 12 ชาติ และมีเป้าหมายในการต่อต้านภัยคุกคามด้านความมั่นคงในยุโรปที่มาจากสหภาพโซเวียตในช่วงสงครามเย็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยการมีส่วนร่วมอย่างแข็งแกร่งของอเมริกาในยุโรป ดังนั้น การจัดการกับมอสโกจึงอยู่ในดีเอ็นเอของชาติสมาชิกนาโต ขณะที่สันติภาพนอกดินแดนยุโรป-แอตแลนติกไม่มีความสำคัญแต่อย่างใด

สมาชิกนาโตขยายเป็น 32 ชาตินับจากการลงนามสนธิสัญญาวอชิงตันเมื่อ 75 ปีที่แล้ว ขณะที่สวีเดนเพิ่งเข้าเป็นสมาชิกในปีที่ผ่านมา เนื่องจากกังวลกับความก้าวร้าวที่เพิ่มมากขึ้นของรัสเซีย

การรับประกันความมั่นคงร่วมกันของนาโต ซึ่งเป็นมาตราที่ 5 ของสนธิสัญญาวอชิงตัน เป็นสิ่งที่ค้ำจุนความน่าเชื่อถือขององค์กรความร่วมมือด้านความมั่นคงแห่งนี้

มาตราดังกล่าวเป็นพันธะสัญญาทางการเมืองว่า ทุกชาติจะช่วยเหลือชาติสมาชิกที่ถูกโจมตี

ทรัมป์ยืนยันว่า ยังยึดมั่นในพันธะสัญญานี้และอเมริกายังต้องการเป็นสมาชิกนาโต แต่ก็แสดงท่าทีให้สมาชิกอื่นๆ สงสัยในเจตนารมณ์ที่แท้จริง

อเมริกานั้นเป็นสมาชิกที่มีอิทธิพลมากที่สุดในนาโต เพราะนอกจากจัดสรรงบด้านกลาโหมมากกว่าชาติอื่นๆ แล้ว ยังมีแสนยานุภาพทางทหารเหนือชั้นกว่า และมีคลังแสงนิวเคลียร์ที่ป้องปรามทางยุทธศาสตร์ต่อประเทศใดๆ ก็ตามที่คิดอ่านเป็นปฏิปักษ์กับนาโต

การที่ทรัมป์เรียกร้องให้สมาชิกอื่นๆ เพิ่มงบการทหาร จึงทำให้ยากคาดเดาได้ว่า ยูเครนจะมีบทบาทใดในซัมมิตครั้งนี้ และแม้เซเลนสกี้ได้รับเชิญ แต่ไม่มีข้อมูลชัดเจนว่า เขาจะได้ร่วมโต๊ะประชุมกับนาโตหรือไม่ กระนั้น เป็นไปได้ว่า ผู้นำยูเครนอาจได้ร่วมดินเนอร์ในช่วงค่ำวันอังคาร ซึ่งสงครามของรัสเซียในยูเครนมักเป็นหัวข้อพูดคุยสำคัญ

โดยรวมนั้นนาโตไม่ได้จัดหาอาวุธให้ยูเครน เนื่องจากไม่มีอาวุธในครอบครอง แต่ให้การสนับสนุนด้านอื่นๆ เช่น เชื้อเพลิง เสบียงสำหรับทหาร อุปกรณ์การแพทย์ เสื้อเกราะกันกระสุน และอุปกรณ์ต่อต้านโดรนหรือทุ่นระเบิด

สมาชิกนาโตชาติต่างๆ เป็นฝ่ายจัดหาอาวุธให้เคียฟ พันธมิตรยุโรปให้การสนับสนุนทางทหารถึง 60% ของการสนับสนุนทั้งหมดที่ยูเครนได้รับในปีที่ผ่านมา โดยนาโตประสานงานในการจัดส่งอาวุธเหล่านั้นผ่านฮับบริเวณชายแดนโปแลนด์ และช่วยจัดการฝึกทหารยูเครน
กำลังโหลดความคิดเห็น