เอเอฟพี - เจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯและนักวิเคราะห์ลงความเห็น แผนการเตรียมระเบิดเครื่องบินโดยสารที่บินจากอังกฤษมุ่งหน้าไปสหรัฐฯ ซึ่งทางการแดนผู้ดีเพิ่งเปิดเผยออกมา มีลักษณะคล้ายคลึงกับการโจมตีของกลุ่มอัลกออิดะห์ทุกประการ และยังอาจได้แรงบันดาลใจมาจากแผนลอบวางระเบิดเครื่องบินลักษณะเดียวกันนี้ของกลุ่มอัลกออิดะห์เมื่อปี 1995
เมื่อวันพฤหัสฯ (10) โรเบิร์ต มูลเลอร์ ผู้อำนวยการของสำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐฯ (เอฟบีไอ) ระบุว่า แผนก่อการร้ายดังกล่าวมี "ลักษณะหลายอย่างเหมือนการวางแผนของกลุ่มอัลกออิดะห์"
ไมเคิล เชอร์ทอฟฟ์ รัฐมนตรีความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสหรัฐฯ มีความเห็นเช่นเดียวกันว่า ปฏิบัติการครั้งนี้มี "ลักษณะบางแง่มุม" ที่บ่งชี้ถึงเครือข่ายอัลกออิดะห์ที่มีอุซามะห์ บินลาดินเป็นแกนนำ
ด้าน บ็อบ เอเยอร์ส ผู้เชี่ยวชาญด้านการก่อการร้ายและความมั่นคงจากแชตทัม เฮาส์ สถาบันวิจัยกิจการต่างประเทศในกรุงลอนดอน ก็เห็นด้วยกับเรื่องนี้โดยกล่าวว่า แผนการลอบวางระเบิดเครื่องบินโดยสารที่กำลังเป็นข่าวครึกโครมอยู่ในขณะนี้ มีวิธีการปฏิบัติงานแบบเดียวกับการก่อเหตุโจมตีครั้งก่อนๆของกลุ่มอัลกออิดะห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งลักษณะการเลือกเป้าหมายที่มี "ระบบรักษาความปลอดภัยอ่อนแอเข้าถึงง่าย" ขณะเดียวกันก็มีคุณสมบัติในเชิงสัญลักษณ์
"ลักษณะการเลือกโจมตีเป้าหมายหลายๆจุด การวางแผนและการประสานงานอันยอดเยี่ยม อีกทั้งยังมีการเตรียมการมาเป็นอย่างดี บ่งชี้ว่าปฏิบัติการครั้งนี้ต้องได้รับเงินทุนสนับสนุนเป็นจำนวนมาก...ถ้าไม่ใช่กลุ่มอัลกออิดะห์แล้ว ก็คงจะเป็นเรื่องใหญ่หากยังมีเครือข่ายก่อการร้ายขนาดใหญ่เช่นนี้อยู่อีกกลุ่มหนึ่ง"
แม้จอห์น รี้ด รัฐมนตรีมหาดไทยของอังกฤษ จะยังคงปิดปากเงียบต่อข้อถามที่ว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่แผนร้ายดังกล่าว อาจได้แรงบันดาลใจมาจากแผนการซึ่งรู้จักกันในชื่อ "แผนปฏิบัติการโบจินกา" ของกลุ่มอัลกออิดะห์ในปี 1995 ที่มุ่งลอบวางระเบิดเวลาบนเครื่องบินโดยสารของสหรัฐฯซึ่งบินจากประเทศแถบเอเชียไปยังอเมริกาพร้อมๆ กัน 12 ลำ ให้ระเบิดกลางเวหาขณะบินอยู่เหนือมหาสมุทรแปซิฟิก
ทั้งนี้ แผนการโบจินกาถูกเปิดโปงออกมาเสียก่อน หลังจากเกิดเหตุเพลิงไหม้ที่อพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่งในกรุงมะนิลา ซึ่งทางตำรวจค้นพบหลักฐานเป็นวัตถุระเบิดและดิสก์คอมพิวเตอร์หลายชิ้น ที่มีการบันทึกแผนการลอบวางระเบิดเครื่องบินทั้ง 12 ลำอย่างละเอียด โดยมีกำหนดลงมือในอีกสองสัปดาห์ให้หลัง
ทว่า เชอร์ทอฟฟ์ระบุอย่างชัดเจนว่า แผนการลอบวางระเบิดที่เพิ่งถูกทำลายล่าสุดนี้ มีลักษณะชวนให้นึกถึง "แผนปฏิบัติการโบจินกา" ที่มีแรมซี่ ยูเซฟและคาลิด เชก โมฮัมเหม็ด ลุงของเขาเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง
ปัจจุบัน ยูเซฟถูกจำคุกอยู่ในสหรัฐฯ หลังจากต้องโทษจำคุกนาน 240 ปีเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 1997 ในข้อหาสมรู้ร่วมคิดในการลอบวางระเบิดตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ที่นครนิวยอร์กในปี 1993 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 6 คน และบาดเจ็บอีกกว่า 1,000 คน ขณะที่โมฮัมเหม็ดซึ่งอ้างว่าตัวเองเป็นหัวหน้าคณะกรรมการฝ่ายทหารของกลุ่มอัลกออิดะห์ ได้ถูกจับกุมในภายหลังที่ปากีสถานเมื่อปี 2003 โดยเชื่อกันว่า เขาเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน 2001 ในสหรัฐฯ
ลักษณะสำคัญของแผนปฏิบัติการโบจินกาคือ การลักลอบนำเอาวัตถุระเบิดที่เป็นสารเคมีเหลว และอุปกรณ์จุดระเบิดแบบตั้งเวลา ขึ้นไปบนเครื่องบิน โดยอำพรางให้เหมือนกับเป็นขวดเครื่องดื่ม หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และวัตถุปกติธรรมดาอื่นๆ แล้วจึงประกอบเป็นระเบิดเวลาขั้นสุดท้ายกันบนเครื่องบิน
เป้าหมายในครั้งนั้นเป็นเครื่องบิน 12 ลำที่บินออกจากกรุงโตเกียว โซล ไทเป ฮ่องกง กรุงเทพฯ และสิงคโปร์ ที่มุ่งหน้าไปสหรัฐฯ ไม่ใช่เที่ยวบินจากอังกฤษเหมือนในคราวนี้
ข้อแตกต่างอีกประการหนึ่งคือ มือบึ้มในแผนโบจินกานั้นเมื่อประกอบและลอบวางระเบิดเวลาแล้ว ก็จะลงจากเครื่องไปตอนที่เครื่องบินแวะจอดตามจุดต่างๆ ในเอเชีย ปล่อยให้ระเบิดทำการขณะเครื่องบินอยู่เหนือแปซิฟิก แต่สำหรับคราวล่าสุดนี้ ผู้ปฏิบัติการทั้งหลายจะพลีชีพตายไปพร้อมกับเครื่องบิน