เอเจนซี-อังเกลา แมร์เคิล จะก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของเยอรมนีในวันพรุ่งนี้(22) โดยมีเสียงสนับสนุนในรัฐสภาแน่นหนาที่สุดตลอดระยะหลายสิบปีมานี้ทีเดียว แต่เธอจะสามารถเดินหน้าการปฏิรูปเศรษฐกิจ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญบอกว่าควรจะทำกันมานานแล้ว ได้อย่างราบรื่นมากน้อยแค่ไหน ยังต้องคอยลุ้นกันต่อไป
พรรคคริสเตียน เดโมแครต ที่มีแนวกลาง-ขวาของแมร์เคิล และพรรคโซเชียล เดโมแครต (เอสพีดี) ซึ่งมีแนวกลาง-ซ้าย จับมือกันจัดตั้ง "มหารัฐบาลผสม" ของเยอรมนีอีกคำรบหนึ่ง ภายหลังได้เคยทำเช่นนี้ครั้งเดียวในปี 1969 และทำให้รัฐบาลผสมของแมร์เคิล มีเสียงท่วมท้น 448 ที่นั่ง จากสมาชิกสภาล่างทั้งสิ้น 614 ที่นั่ง
ขณะเดียวกัน พรรคใหญ่ทั้งสองรวมกันยังครองเสียงเหลือล้นในสภาสูง จึงทำให้รัฐบาลใหม่ชุดนี้มีโอกาสที่จะดำเนินการปฏิรูปอันสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโครงสร้างของสหพันธรัฐ, ระบบบำนาญ, และการจัดเก็บภาษี โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกต้านทานจากรัฐสภา
อย่างไรก็ดี ผลการหยั่งเสียงในช่วงหลังๆ นี้ต่างบ่งชี้ว่า ชาวเยอรมันส่วนใหญ่สงสัยว่า "คู่สมรสแปลกประหลาด" คู่นี้จะอยู่กันยืดจนครบวาระ 4 ปีละหรือ
แต่สำหรับแมร์เคิล และพวกผู้นำพรรคเอสพีดี รวมทั้ง มัตทิอัส พลัตเซค ประธานพรรคคนใหม่ ปรากฏว่าต่างกำลังแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นจริงจังที่จะร่วมมือกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน ทั้งนี้อาจเนื่องจากสองพรรคที่เป็นคู่ปรปักษ์กันมายาวนาน มีความเชื่อว่าหากคราวนี้ล้มเหลวไม่เป็นท่า ก็จะสร้างความเสียหายให้แก่ทั้งสองฝ่าย
ปัญหาหนักหน่วงที่สุดซึ่งรอคอยรัฐบาลใหม่อยู่ หนีไม่พ้นเรื่องภาวะเศรษฐกิจ เยอรมนีเวลานี้มีอัตราการว่างงานสูงถึง 11.6% ซึ่งกัดกร่อนความเชื่อมั่นของประชาชน และทำให้งบประมาณแผ่นดินประสบภาวะขาดดุลมาหลายปีแล้ว
เศรษฐกิจแดนดอยช์ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นหัวรถจักรของยุโรป บัดนี้กลับกลายเป็นหนึ่งในบรรดาเศรษฐกิจอ่อนเปลี้ยที่สุดใน 25 ชาติสมาชิกอียู โดยที่คาดหมายกันว่าปีนี้จะมีอัตราเติบโตไม่ถึง 1% และกระเตื้องขึ้นนิดหนึ่งในปีหน้า
ปัญหาซึ่งมหารัฐบาลผสมต้องเผชิญอาจสาหัสขึ้นไปอีก ถ้าธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี) ทำในสิ่งซึ่งคาดหมายกันอย่างกว้างขวาง นั่นคือ ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนหน้า ซึ่งจะเป็นการขึ้นหนแรกในรอบ 5 ปี
ทว่าท่ามกลางความมืดมน ก็ยังมีเหตุผลหลายประการซึ่งทำให้เกิดความหวัง
ตั้งแต่เรื่องที่สองพรรคร่วมรัฐบาลคราวนี้ สามารถครองเสียงข้างมากชนิดท่วมท้นในสองสภา
นอกจากนั้น การที่รัฐบาลพรรคเอสพีดีก่อนหน้านี้ ได้พยายามผลักดันโครงการปฏิรูปเอาไว้แล้ว ก็เสมือนเป็นการแผ้วถางทาง ทำให้นายกฯหญิงแมร์เคิล น่าจะทำงานได้ง่ายขึ้น