เอเอฟพี - "ทักษิณ"เดินทางถึงเคนยา และร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามข้อตกลงเพิ่มพูนความร่วมมือในด้านการบริหารสัตว์ป่า ท่ามกลางความโกรธเกรี้ยวของหลายฝ่าย ในเรื่องที่รัฐบาลเคนยาตัดสินใจส่งสัตว์ป่าหลายร้อยตัวให้แก่สวนสัตว์ในไทย แม้มีเสียงคัดค้านไม่เห็นด้วย ขณะที่นายกฯประกาศพัฒนาความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนธุรกิจ
เมื่อวานนี้ (9พ.ย.) รัฐมนตรีการท่องเที่ยวและสัตว์ป่าพืชพรรณของเคนยา นายมอร์ริส ดีโซโร และรัฐมนตรีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของไทย นายยงยุทธ ติยะไพรัตน์ เป็นผู้ร่วมลงนามในข้อตกลงเพื่อ"ความร่วมมือในด้านอุทยาน และการบริหารสัตว์ป่าและพืชพรรณ" โดยมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และประธานาธิบดี เอ็มวาอิ กิบากิ ของเคนยา เป็นสักขีพยาน ในพิธีซึ่งจัดเป็นการภายในที่กรุงไนโรบี คำแถลงร่วมของทั้งสองฝ่ายระบุ เช่นนี้
การลงนามข้อตกลงฉบับนี้ ซึ่งไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดต่อสาธารณชน บังเกิดขึ้นท่ามกลางความไม่พอใจของพวกนักอนุรักษ์ธรรมชาติ ซึ่งพากันออกมาเรียกร้องกันอีกระลอกหนึ่งให้เคนยาระงับแผนการส่งสัตว์ราว 300 ตัว โดยในจำนวนนี้มีทั้งสัตว์หายากใกล้สูญพันธุ์ด้วยไปยังสวนสัตว์ไนต์ซาฟารี ในจ.เชียงใหม่
สิ่งที่ได้ตอบแทนคืนจากการส่งสัตว์ป่าเหล่านี้ให้ไทย คือเคนยาจะได้ผู้เชี่ยวชาญด้านการฝึกช้างมาช่วยเหลือ ตลอดจนเงิน 1 ล้านดอลลาร์ เพื่อส่งเสริมงานอนุรักษ์ในประเทศ
เจมส์ ไอซิเช ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคของกองทุนระหว่างประเทศ เพื่อสวัสดิภาพสัตว์(ไอเอฟเอดับเบิลยู)ออกคำแถลงเรียกร้องให้ รัฐบาลเคนยา คำนึงถึงคุณค่าอื่นๆนอกเหนือจากค่าชดเชยเป็นตัวเงินที่จะได้รับ
คำแถลงบอกว่า รัฐบาลเคนยาให้เหตุผลการส่งสัตว์ให้ไทยว่า เนื่องจากมีสัตว์ป่าอยู่อุดมสมบูรณ์ แต่ความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย เพราะสัตว์ป่าในเคนยาเวลานี้กำลังลดลงโดยทั่วไป เนื่องจากการลักลอบล่าสัตว์ ถิ่นที่อยู่ของสัตว์ก็เหลือน้อยลง แถมยังมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินของผู้คน
"ด้วยการส่งสัตว์ป่าไปยังไทย เคนยาก็กำลังจะสร้างแบบอย่างที่อันตราย ซึ่งอาจส่งผลให้รัฐอื่นๆ ขอของขวัญทำนองเดียวกันบ้าง" คำแถลงของไอเอฟเอดับเบิลยู กล่าว พร้อมชี้ว่า สภาพเช่นนี้จะส่งผลเสียหายต่อภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจสำคัญของเคนยา
"นอกจากนั้นมันยังเป็นลัทธิเป็นฝ่ายยอมจำนนเสียเอง ในเมื่อปัจจุบันเคนยา กำลังส่งเสริมการท่องเที่ยวในเอเชีย ขณะที่การให้สัตว์ป่าแก่ไทย อาจจะทำให้นักท่องเที่ยวจากทวีปเอเชีย ไม่รู้สึกว่าต้องก้าวเท้าเข้ามายังประเทศนี้ " องค์การอนุรักษ์ธรรมชาติสำคัญของเคนยา กล่าว
ในวันเดียวกันนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวสุนทรพจน์เปิดงาน Thailand and Kenya: Southern in the 21st Century ในงานประชุมธุรกิจไทย–เคนย่า ที่ กรุงไนโรบี ถึงเหตุผลการเลือกเยือนเคนย่า เป็นประเทศแรกในภูมิภาคแอฟริกา ว่า เหตุผลที่เลือกมีอยู่ 3 ประการ คือ 1. เป็นการเยือนเพื่อตอบแทนการเยือนตอบแทนไทยอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดี กิบากิ ของเคนย่า เมื่อปีที่แล้ว และได้เห็นพ้องที่จะร่วมมือกันในสาขาต่างๆ รับมือกับความท้าทายของโลกาภิวัตน์ 2.ไทยได้เริ่มการส่งเสริม Thailand’s Year of Africa และนโยบายมุ่งตะวันตก ซึ่งแอฟริกาจะเป็นภูมิภาคยุทธศาสตร์ และบทบาทสำคัญของเคนยาในภูมิภาคนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อความมั่นคงทางการเมืองและเศรษฐกิจ และ 3. ไทยพร้อมที่จะพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนในทุกระดับ และทุกสาขาความร่วมมือกับเคนย่า และพร้อมที่จะเรียนรู้และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
"ไทยและเคนย่า จะพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจระหว่างกัน เพื่อประโยชน์ร่วมกันในภูมิภาคแอฟริกาและเอเชีย และพร้อมที่จะร่วมกันพัฒนาแนวทางในการส่งเสริมการค้าและการลงทุน โดยจะให้ไทยและเคนยาเป็นศูนย์กลางการค้าของแต่ละภูมิภาค รวมถึงการใช้ระบบการค้าแบบบาเตอร์เทรด เป็นกลไกในการส่งเสริมการค้าและเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน" นายกรัฐมนตรี กล่าว