เอเอฟพี / รอยเตอร์ - ไออาร์เอ (กองทัพสาธารณรัฐไอริช) ขบวนการติดอาวุธที่มุ่งต่อสู้ด้วยกำลังมาหลายสิบปี เพื่อต่อต้านการปกครองของอังกฤษในดินแดนไอร์แลนด์เหนือ ได้ทำลายอาวุธของตนเองหมดแล้ว ทั้งนี้เป็นการรับรองของคณะผู้ตรวจสอบระหว่างประเทศ ในการแถลงข่าวครั้งประวัติศาสตร์เมื่อวันจันทร์(26) ซึ่งเปิดทางให้เขตการปกครองที่แตกแยกขัดแย้งกันหนักหน่วงแห่งนี้ ได้ก้าวหน้าไปก้าวใหญ่ในการมุ่งสู่สันติภาพถาวร
การแถลงข่าวคราวนี้ ซึ่งฝ่ายไออาร์เอก็ออกคำแถลงอีกฉบับหนึ่งมายืนยันด้วย ได้รับการยกย่องชมเชยในทันทีจากนายกรัฐมนตรี โทนี แบลร์ ของอังกฤษ ว่าเป็น "พัฒนาการอันสำคัญ" ในการยุติความรุนแรงในไอร์แลนด์เหนือ ขณะที่นายกรัฐมนตรี เบอร์ตี อะเฮิร์น ของไอร์แลนด์ ก็แถลงด้วยความยินดีปรีดา
พลเอก จอห์น เดอ เชสเตเลน อดีตผู้บัญชาการทหารแคนาดาที่เกษียณอายุแล้ว ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะผู้ตรวจสอบระหว่างประเทศ แถลงว่าได้ระบุรายละเอียดของเรื่อง "การปลดประจำการอาวุธ" ของไออาร์เอนี้ เอาไว้ในรายงานที่ส่งถึงรัฐบาลอังกฤษและไอร์แลนด์
"เราพอใจกับการปลดประจำการอาวุธ ซึ่งเท่ากับคลังแสงที่มีอยู่ทั้งหมดของไออาร์เอ" เดอ เชสเตเลน กล่าวในการประชุมแถลงที่เมืองเบลฟาสต์ เมืองหลวงของไอร์แลนด์เหนือ โดยมีผู้แทนจากคริสตศาสนจักรต่างนิกายอีก 2 คนเข้าร่วมด้วย บุคคลทั้ง 3 ล้วนได้เห็นด้วยตาตัวเองถึงการทำลายอาวุธคราวนี้
"ตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา บรรดาสมาชิกของคณะตรวจสอบได้ทำงานอยู่กับพวกตัวแทนของไออาร์เอ ในการดำเนินการตามอำนาจซึ่งเราได้รับมอบหมาย เพื่อปลดประจำการอาวุธพวกนั้น" เขาบอก
เดอ เชสเตเลน กล่าวว่า อาวุธที่ถูกทำลายจนใช้การไม่ได้เหล่านี้ มีทั้งจรวดยิงจากพื้นดินสู่อากาศ, เครื่องฉีดไฟ, ปืนกล, วัตถุระเบิด, และอาวุธอื่นๆ และมีจำนวนซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขประมาณการคลังแสงของไออาร์เอ ที่จัดทำขึ้นโดยหน่วยความมั่นคงของอังกฤษและไอร์แลนด์
ด้านผู้แทนอีก 2 คน ซึ่งคนหนึ่งเป็นพระคาทอลิก อีกคนหนึ่งเป็นนักบวชโปรแตสแตนต์ นิกายเมโธดิสต์ ก็ยืนยันเรื่องนี้เช่นกัน "เราแน่ใจ แน่ใจอย่างเต็มที่ เกี่ยวกับความถูกต้องแม่นยำของรายงานชิ้นนี้" ฮาโรลด์ กูด นักบวชเมโธดิสต์กล่าวกับผู้สื่อข่าว
อย่างไรก็ตาม ด้านสหรัฐฯยังแสดงท่าทีระมัดระวัง โดยที่ สกอตต์ แมคเคลแลน โฆษกทำเนียบขาวแถลงว่า เรื่องนี้เป็นเพียงก้าวแรกของการทำตามสัญญาของไออาร์เอ ที่จะหันมาเดินเส้นทางต่อสู้อย่างสันติและเป็นประชาธิปไตย และไออาร์เอยังต้องกระทำให้เห็นต่อไปว่ายอมรับหลักนิติธรรม และประณามกิจกรรมตั้งกองกำลังอาวุธและอาชญากรรมทุกชนิดด้วย
ขณะที่กลุ่มชาวไอร์แลนด์เหนือที่ต้องการรวมอยู่กับอังกฤษ ซึ่งเรียกกันว่าพวกยูเนียนนิสต์ แสดงความระแวงสงสัยมากกว่านั้นอีก โดยเฉพาะพรรคเดโมแครติก ยูเนียนนิสต์ ปาร์ตี้ (ดียูพี) ที่เป็นพรรคใหญ่สุดในไอร์แลนด์เหนือ
เดอ เชสเตเลน กล่าวยอมรับว่า คณะของเขาอยู่ในฐานะลำบาก เพราะด้านหนึ่งดียูพีก็เรียกร้องขอหลักฐานที่เป็นรูปถ่ายว่ามีการทำลายอาวุธกันจริงๆ ขณะที่ฝ่ายไออาร์เอไม่ยอมในเรื่องนี้ เนื่องจากเกรงถูกนำไปป่าวร้องว่าพวกเขายอมแพ้