xs
xsm
sm
md
lg

IMFจับมือเวิลด์แบงก์ยกหนี้ปท.จน$40,000ล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - ธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เปิดไฟเขียวเดินหน้าอนุมัติแผนการยกหนี้มูลค่า 40,000 ล้านดอลลาร์ ช่วยเหลือประเทศยากจน 18 ชาติ

คณะกรรมการพัฒนาของธนาคารโลก อันเป็นหน่วยงานกำหนดนโยบายขององค์การนี้ ได้เห็นชอบเมื่อวันอาทิตย์ (25) ในแผนการยกหนี้สินมูลค่าประมาณ 40,000 ล้านดอลลาร์ให้ประเทศยากจน 18 ชาติ ภายหลังไอเอ็มเอฟได้ประกาศสนับสนุนไปแล้วก่อนหน้านี้ 1 วัน โดยแผนการนี้ ทางกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 8 ชาติ (จี8) เป็นผู้ร่างไว้ในการประชุมระดับผู้นำที่เมืองเกลนอีเกิลส์ ในสกอตแลนด์เมื่อเดือนกรกฎาคม

ผู้นำทั้งจากธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟ ต่างย้ำหนักแน่นภายหลังการเจรจาร่วมกันในการประชุมเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาที่กรุงวอชิงตันว่า องค์การทั้งสองจะเร่งดำเนินการเพื่อบรรลุข้อตกลงขั้นสุดท้ายอย่างรวดเร็ว โดยพอล วูลโฟวิตซ์ ประธานธนาคารโลกแจงว่า จะนำเสนอรายงานโครงร่างกำหนดการจ่ายเงินทดแทน และระบบติดตามตรวจสอบเข้าสู่บอร์ดบริหารของธนาคารโลกโดยเร็ว พร้อมคาดว่ากระบวนการนี้น่าจะเสร็จสิ้นได้ภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์

ทั้งนี้ ประมาณ 70% ของหนี้สินทั้งหมดที่ครอบคลุมภายใต้ข้อตกลงครั้งนี้ เป็นเงินของธนาคารโลก ส่วนเงินที่เหลือเป็นเงินกู้ของไอเอ็มเอฟ และธนาคารเพื่อการพัฒนาแอฟริกา

จากตัวเลขประมาณการของอ็อกแฟม อินเตอร์เนชั่นแนล องค์การการกุศลจากอังกฤษ ระบุว่า ประเทศยากจนหลายประเทศต้องใช้เงินสูงถึง 100 ล้านดอลลาร์ต่อวันไปกับการจ่ายคืนหนี้สิน แทนที่จะสามารถนำทรัพยากรที่มีค่าเหล่านี้ไปใช้ในการตอบสนองความต้องการด้านสังคมและการพัฒนา

ในขั้นต้นนั้น ทั้ง 2 องค์การตกลงที่จะยกหนี้สินมูลค่าประมาณ 40,000 ล้านดอลลาร์ให้กับประเทศยากจน 18 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศในแถบแอฟริกาที่สามารถทำตามเงื่อนไขในการปฏิรูปเศรษฐกิจระดับมหภาค และปฏิรูปโครงสร้างได้ตามที่ทางธนาคารโลก และไอเอ็มเอฟกำหนดไว้

กอร์ดอน บราวน์ รัฐมนตรีคลังของอังกฤษเสริมต่อว่า อาจมีการพิจารณายกหนี้ให้กับอีก 20 ประเทศต่อไปอีกในอนาคต ซึ่งจะทำให้มูลค่าหนี้สินทั้งหมดที่มีการยกให้เพิ่มสูงขึ้นรวม 55,000 ล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ดี แม้บรรดานักเคลื่อนไหวจะออกมาแสดงความยินดีกับผลการประชุมครั้งนี้ แต่ก็เตือนว่า แผนการยกหนี้ดังกล่าว ควรมีการนำไปใช้กับอีกหลายประเทศให้มากขึ้นโดยตั้งเงื่อนไขให้น้อยลง เนื่องจากพวกเขามองว่าเงื่อนไขเหล่านี้อาจสร้างความเสียหายให้กับประเทศเหล่านี้ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น