ผู้จัดการรายวัน – รมว.ต่างประเทศของไทยประกาศจะเร่งช่วยพัฒนาชาติเพื่อนบ้าน เพื่อลดช่องว่างทางเศรษฐกิจ ขณะรมว.ต่างประเทศสวีเดน ชมเชยคนไทยที่มีน้ำใจช่วยเหลือชาวสวีเดนในเหตุการณ์สึนามิเป็นอย่างดี
นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ แถลงถึงผลการหารือในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศเอเชีย – ยุโรป (อาเซม) ครั้งที่ 7 ที่นครเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ในวันนี้ (7) ว่า การประชุมช่วงเช้าที่ผ่านมา นายกันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรีต่างประเทศของไทย ได้กล่าวกลางที่ประชุมว่า รัฐบาลไทยกำลังให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพของประชาชน และส่งเสริมเศรษฐกิจระดับรากหญ้าเป็นหลัก
นอกจากนั้น ไทยยังพยายามช่วยพัฒนาประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อลดช่องว่างด้านการพัฒนาระหว่างกัน โดยให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง อิระวดี และเจ้าพระยา (แอคเมส) ตลอดจนโครงการพัฒนาลุ่มน้ำโขง (Greater Mekong Besin)
อธิบดีกรมสารนิเทศ กล่าวต่อไปว่า นายกันตธีร์ยังได้พูดถึงความสำคัญของการเร่งส่งเสริมความเข้าใจระหว่างเชื้อชาติ และศาสนา เพื่อป้องกันผู้ไม่หวังดีนำความแตกต่างดังกล่าวมาใช้เป็นข้ออ้างในการสร้างความแตกแยกระหว่างสังคม ขณะที่อาเซมเตรียมจัดการประชุมเพื่อพูดคุยถึงจุดร่วมทางศาสนา ลดความแตกต่าง และส่งเสริมความเข้าใจระหว่างกันเป็นครั้งแรก บนเกาะบาหลี ของอินโดนีเซีย ในเดือนกรกฎาคมนี้
สวีเดนชมคนไทยน้ำใจงาม
ระหว่างช่วงพักการประชุมในภาคเช้า นายกันตธีร์ได้ร่วมหารือนอกรอบแบบทวิภาคีกับนางไลลา ไฟรวาลด์ รมว.ต่างประเทศของสวีเดน โดยทั้งสองได้มีการพูดคุยขยายผลการเดินทางเยือนสวีเดนของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย เมื่อเดือนกันยายนปีก่อน
นายสีหศักดิ์บอกว่า รมว.ต่างประเทศของไทยและสวีเดน ยังพูดคุยเกี่ยวกับการทำแผนปฏิบัติการว่าด้วยความร่วมมือไทย-สวีเดน ซึ่งครอบคลุมใน 7 สาขา ได้แก่ การเกษตรและป่าไม้, การทหารและความมั่นคง, การออกแบบ, การศึกษา วิจัย และพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, พลังงาน และสิ่งแวดล้อม, การท่องเที่ยวและสาธารณสุข และการฟื้นฟูบูรณะหลังภัยพิบัติสึนามิเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
อธิบดีกรมสารนิเทศ ระบุว่า รมว.ต่างประเทศของสวีเดนได้กล่าวชื่นชมคนไทย และว่าชาวสวีเดนรู้สึกประทับใจคนไทยมากยิ่งขึ้นหลังเกิดภัยสึนามิ เนื่องจากคนไทยได้ให้ความช่วยเหลือและดูแลคนสวีเดนที่ประสบภัยดังกล่าวในประเทศไทยเป็นอย่างดี
ขณะเดียวกัน รมว.ต่างประเทศของทั้งสองชาติยังมีแผนจะลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ว่าด้วยความร่วมมือไตรภาคีเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนากับชาติเพื่อนบ้านของประเทศไทย ในการนี้ นายกันตธีร์ยังได้บอกเล่าถึงความคืบหน้าของกระบวนการสร้างความปรองดองภายในชาติของพม่า และว่า รัฐบาลพม่าต้องการรักษาความเป็นปึกแผ่นของกลุ่มอาเซียน แต่ต้องการเป็นฝ่ายตัดสินใจเกี่ยวกับอนาคตในการดำรงตำแหน่งประธานกลุ่มอาเซียนของกรุงย่างกุ้งด้วยตนเอง