ผู้จัดการรายวัน – จีนประกาศสนับสนุน “สุรเกียรติ์” นั่งเก้าอี้เลขาฯยูเอ็น ขณะรมว.ต่างประเทศของไทยอยากให้นานาชาติอย่ายึดติดเงื่อนเวลาในการปฏิรูปสหประชาชาติ พร้อมเรียกร้องยุโรปเล็งเห็นความสำคัญของการประชุมอาเซมมากขึ้น ส่วนกรรมาธิการยุโรปด้านต่างประเทศเชื่อ ไทยจะได้คืนจีเอสพีกุ้งภายในเดือนกรกฎาคมนี้
นายกันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แถลงหลังการประชุมร่วมกันระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ (อาเซียน+3) ที่นครเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ในวันนี้ (6) ว่า จีนได้ประกาศสนับสนุนนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองนายกรัฐมนตรีด้านการต่างประเทศของไทย ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ต่อจากนายโคฟี อันนัน ซึ่งจะหมดวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 31 ธันวาคม 2006 อย่างชัดเจน
“จีนได้สนับสนุนท่านรองนายกฯสุรเกียรติ์ ในการดำรงตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) อย่างชัดเจน นอกจากนั้น (จีน) ยังได้มีการพูดถึงการที่ตอนนี้เป็นเวลาของชาติจากเอเชีย อย่างชัดเจนด้วยเช่นกัน” นายกันตธีร์ กล่าวกับผู้สื่อข่าวหลังการประชุมอาเซียนบวกสาม นอกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นครั้งแรก
ขณะเดียวกัน นายกันตธีร์ยังระบุว่า ที่ประชุมได้มีการหารือกันเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างการประชุมอาเซียนบวกสาม กับการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (อีเอเอส) ซึ่งจะจัดขึ้นที่มาเลเซีย เป็นครั้งแรกในปลายปีนี้
ทั้งนี้ ที่ประชุมระบุว่า ในการประชุมอีเอเอส กลุ่มอาเซียนจะเป็นฝ่ายมีหน้าที่หลักในการขับเคลื่อนการหารือกันดังกล่าว ขณะที่ไทยสนับสนุนให้อีเอเอส เปิดกว้างรับประเทศนอกภูมิภาค ซึ่งมีบทบาทสำคัญกับสมาชิกในกลุ่ม อาทิ ออสเตรเลีย อินเดีย และนิวซีแลนด์ เข้ามามีส่วนร่วมในการประชุมครั้งนี้ด้วย
นายกันตธีร์เผยว่า ไทยได้หยิบยกประเด็นยุโรปหลายประเทศ ส่งรัฐมนตรีระดับรอง เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศเอเชีย-ยุโรป (อาเซม เอฟเอ็มเอ็ม) ครั้งที่ 7 ซึ่งเปิดฉากขึ้นอย่างเป็นทางการที่นครเกียวโต ในค่ำวันเดียวกันด้วย
เขากล่าวในที่ประชุมอาเซียนบวกสามว่า ในขณะที่ประเทศกลุ่มอาเซียนล้วนส่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมอาเซมครั้งนี้ ทว่า หลายประเทศในยุโรปกลับส่งรัฐมนตรีระดับรองลงมาเข้าร่วมประชุม พร้อมกับแสดงความวิตกว่า การกระทำดังกล่าวของยุโรป อาจเสี่ยงที่จะทำให้กลุ่มอาเซมลดบทบาทความสำคัญลงในอนาคต
วอนอย่ายึดติดเงื่อนเวลาปฏิรูปยูเอ็น
นายกันตธีร์ระบุว่า ระหว่างการหารือระดับทวิภาคีกับนางมาร์เกริต้า โบนิแวร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอิตาลี เมื่อช่วงเช้าของวันเดียวกัน ผู้แทนแดนมักกะโรนีได้เสนอแนวทางการปฏิรูปคณะมนตรีความมั่นคงระหว่างประเทศแนวทางใหม่ ซึ่งนอกเหนือจากแผนเอ และบี ซึ่งนายโคฟี อันนันได้เสนอแล้วก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ดี รัฐมนตรีต่างประเทศของไทยมองว่า การหารือกันเกี่ยวกับการปฏิรูปดังกล่าวไม่ควรยึดติดกับเงื่อนเวลามากเกินไป ควรหันไปให้ความสำคัญกับสารัตถะของการปฏิรูปมากกว่า และว่าการกำหนดเงื่อนเวลาควรที่จะยืดหยุ่นได้ตามสถานการณ์ในปัจจุบัน
ขณะเดียวกันรมช.ต่างประเทศอิตาลี ยังสืบถามความคืบหน้าเกี่ยวกับการปฏิรูปประชาธิปไตยในพม่า โดยนายกันตธีร์ระบุว่า ไทยยังคงหวังให้พม่าดำเนินนโยบายสร้างความปรองดองภายในตามแผนโรดแมปที่ไทยเป็นฝ่ายเสนอ
นอกจากนั้น นายกันตธีร์ยังระบุว่า พม่าแสดงความเข้าใจเกี่ยวกับกระแสต่อต้านพม่าไม่ให้ดำรงตำแหน่งประธานกลุ่มอาเซียน โดยพม่าอยากตัดสินใจเรื่องนี้ด้วยตนเอง และคาดว่าจะมีการประกาศการตัดสินใจขั้นสุดท้ายในเรื่องนี้ ระหว่างการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ที่ลาว ในเดือนกรกฎาคมที่กำลังจะมาถึง
อียูเล็งคืนจีเอสพีกุ้งไทยก.ค.นี้
ในวันเดียวกัน นายกันตธีร์ยังได้เปิดห้องหารือแบบทวิภาคีกับนางเบนิต้า เฟอร์เรโร วาลด์เนอร์ กรรมาธิการยุโรปด้านการต่างประเทศ ณ ศูนย์การประชุมนานาชาตินครเกียวโต โดยทั้งสองได้หารือเกี่ยวกับการทำกรอบการทำงานเพื่อความเป็นหุ้นส่วนด้านความร่วมมือระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป (อียู) และสิทธิพิเศษทางการค้า (จีเอสพี) ซึ่งอียูมอบให้กับสินค้าส่งออกของไทย
นางวาลด์เนอร์ ระบุว่า อียูหวังว่าการคืนสิทธิจีเอสพีให้กับกุ้งส่งออกของไทย น่าจะมีผลบังคับใช้ได้ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ หลังจากต้องล่าช้าออกไปจากกำหนดเดิมเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ทั้งนี้ เนื่องจากติดขัดเรื่องการให้จีเอสพีสินค้าส่งออกด้านสิ่งทอของอินเดียและจีน ซึ่งจัดรวมอยู่ในกลุ่มเดียวกัน
ด้านนายกันตธีร์ ระบุว่า เขาได้แสดงความวิตกเกี่ยวกับการที่อียูกำลังพิจารณาตัดสิทธิจีเอสพีสินค้าอัญมณี และชิ้นส่วนยานยนต์ของไทย ขณะที่นางวาลด์เนอร์รับปากจะช่วยไทยดูแลเรื่องนี้ พร้อมกับร้องขอให้ไทยช่วยสนับสนุนนายปาสกัล ลามี กรรมาธิการยุโรปด้านการค้า ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) ต่อจากนายศุภชัย พาณิชย์ภักดิ์