รอยเตอร์ - โคฟี อันนัน เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เผย โลกกำลังล้มเหลวในการต่อสู้ปัญหาความยากจน ขณะที่คนสนิทของผู้นำยูเอ็นเตือน ชนชั้นล่างทั่วโลกที่หมดหวังในชีวิต มีโอกาสหันมาเข้าร่วมขบวนการก่อการร้ายมากขึ้น
อันนัน กล่าวระหว่างการประชุมยูเอ็นว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังก์ถัด) ที่นครเซาเปาโล ของบราซิล เมื่อวันอังคาร (15) ว่า ชาติร่ำรวยล้มเหลวในการระดมเงินทุนเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน และว่าความล้มเหลวในการหยิบยื่นการศึกษา สาธารณสุข และแก้ไขปัญหาปากท้องแก่คนจน ตามเป้าหมายที่วางไว้ภายในปี 2015 อาจบีบบังคับให้คนรุ่นต่อไปในประเทศกำลังพัฒนา ยังคงตกอยู่ในสภาพที่ทนทุกข์ทรมาน
เลขาธิการยูเอ็นยังเรียกร้องให้ที่ประชุม เร่งช่วยกันจัดการกับปัญหาดังกล่าวโดยเร็ว ทั้งนี้ จากรายงานขององค์การระหว่างประเทศแอคชั่นเอด ระบุว่า ปัจจุบันความอดอยากและยากจน คร่าชีวิตชาวโลกถึงวันละ 25,000 คน ขณะที่ชาติร่ำรวยและยากจนในอังก์ถัด ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า การค้าเพียงอย่างเดียวไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้
ด้านยูเอ็นและเวิลด์แบงก์ประเมินว่า การจะบรรลุเป้าหมายโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน หรือ “แผนการมิลเลนเนียม” ตามที่อันนันประกาศไว้เมื่อสองปีก่อนได้นั้น จำเป็นต้องใช้ทุนปีละ 50,000 ล้านดอลลาร์ ทว่า ไมค์ โอ’ไบรอัน รัฐมนตรีการค้าและการลงทุนของอังกฤษเผยว่า จากแนวโน้มกระแสการเงินในปัจจุบัน แผนการดังกล่าวจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้จนกว่าปี 2165
ประธานาธิบดีหลุยส์ อินาซิโอ ลูลา ดาซิลวา แห่งบราซิลกล่าวว่า ทุนสำหรับการต่อสู้ความยากจน ถือเป็นเงินก้อนน้อยนิดหากเทียบกับเงินที่หมุนเวียนอยู่ทั่วโลก ตลอดจนเงินอีกหลายพันล้านดอลลาร์ที่หมดไปกับการซื้อขายอาวุธ และการทำสงครามโดยเปล่าประโยชน์
ส่วนอีเวลีน เฮิร์ฟเกนส์ ผู้ประสานงานแผนการมิลเลนเนียม ระบุว่า มันขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ที่ชาติร่ำรวยจะได้รับ หากเราต้องการระดมทุนตามเป้าที่วางไว้ พร้อมกับเตือนว่า หากยังคงปล่อยให้ประชาชนบางส่วนของโลกต้องมีชีวิตอยู่อย่างไร้โอกาสและสิ้นหวัง หนทางที่ดีที่สุดของพวกเขา อาจเป็นการหันหน้าเข้าร่วมลัทธิก่อการร้ายในอนาคต
อย่างไรก็ดี อันนันมองว่า ความช่วยเหลือไม่จำเป็นต้องมาในรูปกองทุนการกุศล แต่ชาติมั่งคั่งต้องรับฟังข้อเสนอของชาติยากจนในการแก้ไขปัญหาการเงิน เพราะนั่นเป็นการลงทุนที่สำคัญสำหรับความมั่นคงปลอดภัย และความเป็นอยู่ที่ดีของโลกในอนาคต
ทางด้าน อังกฤษ ฝรั่งเศส และบราซิล เสนอให้มีการโอนเงินร้อยละ 0.7 จากรายได้ผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ของชาติร่ำรวย เพื่อนำมาช่วยเหลือชาติกำลังพัฒนา โดยอังกฤษแนะให้มีการตั้งระบบพันธบัตรแบบสมัครใจ ขณะที่ลูลาเสนอให้หักภาษีจากการซื้อขายอาวุธ และการทำธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศ
กระนั้น สหรัฐฯไม่เห็นด้วยกับแผนหักจีดีพี 0.7 เปอร์เซ็นต์ แต่เสนอให้ผลักดันการแก้ไขปัญหาผ่านภาคเอกชน โดยเรียกร้องให้ชาติต่างๆเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการยกระดับสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ตลอดจนปรับปรุงระบบกฎหมายและการเมือง เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับการค้าและการลงทุนแทน