xs
xsm
sm
md
lg

กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นร่อนเอกสาร ยันจัดสรรงบ อปท.เหมาะสม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ออกเอกสารชี้แจงกรณีการดำเนินโครงการและขอรับจัดสรรงบประมาณ เพื่อดำเนินการตามแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ภายใต้กรอบวงเงิน 157,000 ล้านบาท ของ อปท. ที่ได้รับการพิจารณาในสัดส่วนที่ไม่เหมาะสมและมีการกระจุกตัวอย่างไม่เป็นธรรม กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ขอชี้แจง ดังนี้

1. คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม เห็นชอบแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้กรอบวงเงิน 157,000 ล้านบาท และมอบหมายหน่วยรับงบประมาณจัดทำโครงการและคำของบประมาณ เพื่อดำเนินการตามแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ตามมติคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งที่ 2/2568 เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม

2. กระทรวงการคลังเสนอกรอบแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ประกอบกับสำนักงบประมาณได้กำหนดแนวทางให้หน่วยรับงบประมาณดำเนินการจัดทำข้อเสนอโครงการโดยผ่านความเห็นชอบจากรัฐมนตรีเจ้าสังกัด ไปยังสำนักงบประมาณ เพื่อเสนออนุกรรมการกลั่นกรองโครงการฯ คณะกรรมการนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจฯ และคณะรัฐมนตรี


3. กระทรวงมหาดไทยแจ้งให้จังหวัดจัดทำข้อเสนอโครงการและคำของบประมาณตามหลักเกณฑ์การจัดสรรเพื่อการลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งให้กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ให้ความเห็นชอบข้อเสนอโครงการแล้ว กระทรวงมหาดไทยจะจัดส่งข้อมูลให้จังหวัดนำไปอัปโหลดในระบบ New e-Budgeting ต่อไป

4. กระทรวงมหาดไทยมอบหมายภารกิจให้กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินการประสาน รวบรวม และกลั่นกรองข้อเสนอโครงการตามแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้กรอบวงเงิน 157,000 ล้านบาท ของ อปท.ทุกแห่ง (ยกเว้นกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา)

5. กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ได้รับข้อเสนอโครงการของ อปท. รวมทั้งสิ้น 5316 แห่ง จำนวน 27,494 โครงการ งบประมาณ 161,950,170,900 บาท ซึ่งเกินกรอบวงเงินในภาพรวม 157,000 ล้านบาท ของงบกระตุ้นเศรษฐกิจ ประกอบกับได้รับข้อมูลว่าสำนักงบประมาณให้ความสำคัญกับ โครงการด้านคมนาคม ประมาณ 70,000 ล้านบาท และโครงการด้านน้ำ ประมาณ 40,000 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 110,000 ล้านบาท คงเหลือวงเงินที่จะจัดสรรให้ อปท. ประมาณ 37,000 ล้านบาท

กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น จึงได้พิจารณาคำขอที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่สำนักงบประมาณกำหนด รวมถึงพิจารณาความครบถ้วนสมบูรณ์ของการบันทึกข้อมูลแบบคำขอในระบบ New e-Budgeting ความพร้อมของแบบรูปรายการ และสถานที่ดำเนินการ จึงได้พิจารณากลั่นกรองเสนอคำขอโครงการของ อปท. ให้กระทรวงมหาดไทย รวมทั้งสิ้น 1,876 แห่ง จำนวน 4,826 โครงการ งบประมาณ 34,690,532,600 บาท โดยภาพรวมของข้อเสนอโครงการที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีจังหวัดที่มีคำของบประมาณเกิน 500 ล้านบาท มีจำนวนทั้งสิ้น 25 จังหวัด จังหวัดที่มีคำขอมากที่สุดคือ จ.สุรินทร์ จำนวน 100 อปท. 252 โครงการ งบประมาณ 2,050,686,100 และจังหวัดที่มีคำขอน้อยที่สุดคือ จ.ภูเก็ต จำนวน 1 อปท. 1 โครงการ งบประมาณ 3,527,800 บาท ค่าเฉลี่ยการกระจายตัวทั่วประเทศอยู่ที่ประมาณ 456 ล้านบาท

6. กรณีที่มีการกล่าวว่า บาง อบต. หรือ อบจ. ขออะไรไม่เคยได้เลย บางที่ขอมาได้ 1-3 ล้านบาท แต่ได้ยินว่า พื้นที่บุรีรัมย์ สุรินทร์ ได้เพิ่มขึ้นจากที่เคยได้เป็นร้อยๆ ล้านบาท บางแห่งได้ถึง 700 ล้านบาท กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นขอเรียนชี้แจงว่าได้พิจารณาถึงการกระจายตัวของงบประมาณ และคำขอโครงการต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และแนวทางของสำนักงบประมาณกำหนด โดยคำนึงถึงโครงการที่มีความพร้อมของข้อมูลแบบรูปรายการ และสถานที่ดำเนินการ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าไม่มี อบต. หรือ อบจ.ใดได้รับงบประมาณถึง 700 ล้านบาท แต่อย่างใด

ส่วนกรณีที่มีการกล่าวว่าบางพื้นที่เป็น อบต.ขนาดเล็ก ได้รับงบประมาณถึง 60-70 ล้านบาท แต่บางพื้นที่ไม่มีการจัดส่งงบประมาณลงไปเลยนั้น กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นได้ตรวจสอบแล้ว คำขอโครงการของ อบต. มีจำนวน 3,521 แห่ง ได้ผ่านการพิจารณากลั่นกรองคำขอโครงการเป็นไปตามหลักเกณฑ์และแนวทางของสำนักงบประมาณ และมีความพร้อมของข้อมูลแบบรูปรายการ และสถานที่ดำเนินการ จำนวน 1,571 แห่ง ซึ่งมี อบต. ที่ได้รับงบประมาณสูงสุด 169 ล้านบาท เนื่องจากเป็นพื้นที่การท่องเที่ยว และมีจำนวน อบต.ที่คำขอโครงการไม่ผ่านการพิจารณา จำนวน 1,947 แห่ง เนื่องจากคำขอไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และไม่มีความพร้อมของการบันทึกข้อมูลแบบรูปรายการประกอบการพิจารณา และกรณีข้อมูลคำของบประมาณไม่ตรงกันกับในระบบ New e-Budgeting

กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นขอเรียนว่า สำนักงบประมาณกำหนดให้ อปท. บันทึกข้อมูลในระบบ New e-Budgeting ซึ่งเป็นระบบใหม่และระยะเวลาจำกัด ทำให้ในห้วงระยะที่ต้องบันทึกข้อมูลไม่สามารถใช้งานได้ ข้อเสนอโครงการของ อปท. จึงขาดความสมบูรณ์ ประกอบกับ อปท.ที่เป็นหน่วยรับงบประมาณโดยตรง ได้แก่ อบจ. ทน. ทม. และทต. มีการบันทึกข้อมูลให้แก่สำนักงบประมาณโดยไม่ผ่านการตรวจสอบจากกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ส่งผลให้ข้อมูลไม่ถูกต้องตรงกัน ดังนั้น กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ขอยืนยันว่า กรณีการดำเนินโครงการและขอรับจัดสรรงบประมาณ เพื่อดำเนินการตามแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้กรอบวงเงิน 157,000 ล้านบาท ของ อปท. กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นได้พิจารณาอย่างเหมาะสมตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่กำหนดแล้ว