xs
xsm
sm
md
lg

ศก.ทก.ถกนัดแรกแก้ปัญหาชายแดน ยัน รบ.ไทยจะไม่ใช้มาตรการตอบโต้แบบตาต่อตาฟันต่อฟัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้ (17 มิ.ย.) เวลา 13.30 น. พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม จัดการประชุมศูนย์เฉพาะกิจบริหารสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย - กัมพูชา หรือ ศก.ทก. ที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ทำเนียบรัฐบาล โดย ศก.ทก ประกอบด้วย

1.รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้อำนวยการศูนย์
2.เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นรองผู้อำนวยการศูนย์ (1)
3.ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นรองผู้อำนวยการศูนย์ (2)
4.ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นรองผู้อำนวยการศูนย์ (3)

โดยมีปลัดกระทรวงและหัวหน้าหน่วยงานหลายหน่วยเป็นกรรมการ อาทิ ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ฯลฯ ตลอดจนผู้บัญชาการทุกเหล่าทัพ อธิบดีกรมสารนิเทศ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และเจ้ากรมกิจการชายแดนทหาร เป็นต้น

สรุปผลการประชุมครั้งแรก
- ประชุมทุกวันในเวลา 09.30 น. ยกเว้นวันอังคารที่มีภารกิจประชุมคณะรัฐมนตรี จึงจะปรับการประชุมเป็นในช่วงเวลา 13.30 น.
- ภายหลังการประชุมจะมีการแถลงข่าว ที่ตึกนารีสโมสร ถ่ายทอดสดผ่านสถานีโทรทัศน์ NBT
- ลักษณะการดำเนินของศูนย์ คือ หารือแบบโต๊ะกลม เพื่อหาข้อยุติร่วมกัน

- สำหรับการประชุม RBC ที่มีกำหนดจะจัดขึ้น ทางกัมพูชาได้แจ้งเลื่อนออกไปก่อน
- ประเด็นปัญหาด้านการสื่อสารระหว่างไทยและกัมพูชา ซึ่งที่ผ่านมาเกิดความคลาดเคลื่อน ศูนย์เฉพาะกิจฯจะเร่งกำหนดแนวทางที่ชัดเจน และกำหนดเวลาเผยแพร่ข่าวสารอย่างเป็นระบบ เพื่อให้สื่อมวลชนและสาธารณชนได้รับข้อมูลตรงกัน ลดความสับสนที่อาจส่งผลต่อความเข้าใจระหว่างสองประเทศ

- มาตรการปรับเวลาเปิด-ปิดด่านชายแดน ได้มีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยต่อไปศูนย์เฉพาะกิจฯ จะทำหน้าที่ประสานงานระหว่างรัฐบาลกับภาคส่วนต่าง ๆ สำหรับกรณีที่มีปัญหาในการขนส่งสินค้าของไทยไปยังกัมพูชา เบื้องต้นได้มีการประสานกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อขอรับซื้อผลผลิตจากประชาชนในพื้นที่ชายแดน และในอนาคตจะมีการขอความร่วมมือจากภาคส่วนอื่นๆ เข้าร่วมรับซื้อเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนพี่น้องประชาชน ยืนยันว่ารัฐบาลไทยจะไม่ใช้มาตรการตอบโต้แบบตาต่อตาฟันต่อฟัน และจะหลีกเลี่ยงไม่ให้มาตรการใด ๆ ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ชายแดน

ยังไม่มีนโยบายตัดน้ำตัดไฟ ที่มีรายงานข่าวตัดน้ำตัดไฟในบางพื้นที่ แท้จริงแล้วเป็นการดำเนินการตามแผนปราบปรามขบวนการคอลเซนเตอร์ในเขตชายแดน ไม่มีความเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ระหว่างประเทศแต่อย่างใด

ทั้งนี้ รัฐบาลไทยยังคงยึดมั่นในการให้ความสำคัญกับพี่น้องประชาชนทั้งสองประเทศเป็นสำคัญ