บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด มองผลกระทบโดยตรงจากการปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยของสหรัฐฯต่อผู้ออกตราสารหนี้ที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตในวงจำกัด โดยมีผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบไม่ถึง 5% แต่อย่างไรก็ตาม บริบททางเศรษฐกิจในภาพรวมซึ่งประกอบด้วยการบริโภคภายในประเทศที่ซบเซา การลงทุนภาคเอกชนที่ชะลอตัว รวมถึงความกังวลจากปัจจัยภายนอกประเทศยังคงเป็นปัจจัยที่ส่งผลกดดันต่อคุณภาพเครดิตในระยะสั้นถึงระยะปานกลาง อย่างไรก็ตาม บริษัทขนาดใหญ่โดยมากได้มีการปรับตัวเชิงรุกมาตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของความตึงเครียดทางการค้าภายใต้รัฐบาลทรัมป์ชุดแรก เพื่อบรรเทาความเสี่ยง ในทางตรงกันข้าม ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งมีความคล่องตัวทางการเงินและความยืดหยุ่นในการดำเนินงานที่จำกัดนั้น ยังคงมีความเปราะบางและต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐทั้งในแง่ของความช่วยเหลือด้านการเงิน การอำนวยความสะดวกในการส่งออก และการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต
ทั้งนี้ ผลกระทบจากภาษีตอบโต้สหรัฐฯจากบริษัทจำนวน 225 แห่งที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตโดยทริสเรทติ้ง มีเพียง 7 แห่งที่มีการส่งออกไปยังสหรัฐฯ โดยตรงซึ่งครอบคลุม 3 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ 1) อาหารแปรรูป (รวมถึงเนื้อสุกร เนื้อไก่ อาหารทะเล และอาหารสัตว์เลี้ยง) 2) ผลิตภัณฑ์จากยางพารา และ 3) อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า บริษัทเหล่านี้มีรายได้รวมกันประมาณ 1 ล้านล้านบาทในปี 2567 โดยการส่งออกไปยังสหรัฐฯ คิดเป็นเพียง 6% ของรายได้รวม และมีเพียง 4.4% ของรายได้รวมที่คาดว่าจะอยู่ภายใต้อัตราภาษีใหม่ ในบรรดาบริษัทที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตนั้น SNC มีการพึ่งพาการส่งออกไปยังสหรัฐฯ มากที่สุด รองลงมาคือ STGT และ TU
**ชี้ผลกระทบทางอ้อมเสี่ยงกว่า**
ดังที่กล่าวไปว่าผลกระทบโดยตรงจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯอาจจำกัดอยู่แค่เพียงไม่กี่บริษัท แต่ผลกระทบในทางอ้อมอาจสร้างความท้าทายต่อเศรษฐกิจไทยที่อ่อนแออยู่ ทั้งนี้ สภาพแวดล้อมด้านเศรษฐกิจมหภาคโดยรวมอาจมีอิทธิพลต่ออันดับเครดิตของผู้ออกตราสารหนี้ที่ได้รับการจัดอันดับมากกว่าอย่างมีนัยสำคัญ โดยผลกระทบในระยะสั้นอาจรวมถึงการชะลอตัวของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และการเลื่อนการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่
-การลดลงของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ผลกระทบที่อาจมีต่ออันดับเครดิต: การลดลงของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศอาจส่งผลให้การสร้างงานใหม่และการถ่ายทอดเทคโนโลยีเกิดขึ้นช้าลง ซึ่งอาจส่งผลต่อผลิตภาพในระยะยาว ผู้ส่งออกที่มีแผนจะสร้างความร่วมมือกับต่างประเทศหรือการร่วมทุนอาจเผชิญกับความล่าช้าในการขยายธุรกิจ ซึ่งอาจกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของบริษัทดังกล่าว ส่วนผู้ประกอบการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมก็อาจเผชิญกับยอดขายที่ดินในประเทศที่ลดลง เนื่องจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับอัตราภาษี อย่างไรก็ตาม ผู้ออกตราสารหนี้ที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตในกลุ่มนี้ได้ขยายการดำเนินงานไปยังประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย และลาว ซึ่งอาจช่วยลดผลกระทบโดยรวมลงได้
-การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัว ผลกระทบที่อาจมีต่ออันดับเครดิต: การชะลอการลงทุนของภาคเอกชนคาดว่าจะสร้างแรงกดดันในเชิงลบต่ออันดับเครดิตของภาคธุรกิจที่พึ่งพาการใช้เงินลงทุนและการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม บริษัทในกลุ่มวัสดุก่อสร้างและกลุ่มรับเหมาก่อสร้างอาจเผชิญกับคำสั่งซื้อที่ลดลงและโครงการที่ถูกเลื่อนออกไปซึ่งจะส่งผลให้รายได้และการสร้างกระแสเงินสดลดลง ผู้ผลิตในภาคอุตสาหกรรมและผู้จำหน่ายสินค้าทุน (Capital Goods) มีแนวโน้มที่จะเผชิญกับความต้องการเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ลดลง ซึ่งจะกระทบต่อรายได้และความสามารถในการทำกำไร ในขณะที่ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เน้นด้านพื้นที่อุตสาหกรรมหรือพาณิชยกรรม (Industrial and Commercial Property Developers) อาจเผชิญกับยอดขายที่ดินที่ลดลงและกิจกรรมการให้เช่าที่ชะลอตัว ซึ่งแนวโน้มเหล่านี้อาจนำไปสู่การเสื่อมถอยของตัวชี้วัดด้านเครดิต (Credit Metrics) โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ออกตราสารหนี้ที่มีต้นทุนคงที่สูง มีภาระหนี้สินอยู่ในระดับสูง หรือมีความยืดหยุ่นทางการเงินที่จำกัด
-แรงกดดันเพิ่มเติมต่อการบริโภคภายในประเทศที่ยังอ่อนแอ ผลกระทบที่อาจมีต่ออันดับเครดิต: ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัยกำลังเผชิญกับแรงกดดันด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการบริโภคภายในประเทศที่ยังคงอ่อนแอ ระดับหนี้ครัวเรือนที่สูง และการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดมากขึ้นของธนาคาร ส่งผลให้อุปสงค์ในการซื้อที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำถึงปานกลางลดลง ยอดขายที่ชะลอตัวและการเลื่อนการเปิดตัวโครงการใหม่มีแนวโน้มที่จะกดดันรายได้และกำไรและเพิ่มความเสี่ยงด้านสินค้าคงคลัง ผู้พัฒนาที่พึ่งพาผู้ซื้อในประเทศเป็นหลัก หรือมีแผนขยายธุรกิจเชิงรุก อาจเผชิญกับการปรับลดอันดับเครดิต ในขณะที่ผู้พัฒนาที่มีโครงการระดับบนหรือมีรายได้ประจำจากค่าเช่าจะมีความสามารถในการรับมือกับความผันผวนได้ดีกว่า
รวมถึงผู้ให้บริการสินเชื่อรายย่อยก็เผชิญกับแรงกดดันที่เพิ่มสูงขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของหนี้เสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสินเชื่อรถยนต์และสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน ในภาวะที่ระดับหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ประมาณ 90% ของ GDP และมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อของผู้ประกอบการมีความเข้มงวดมากขึ้น การเติบโตของสินเชื่อก็คาดว่าจะมีแนวโน้มชะลอตัว ในขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านเครดิตเพิ่มสูงขึ้นอันเนื่องมาจากคุณภาพสินทรัพย์ที่เสื่อมถอยลง ส่งผลให้ความสามารถในการทำกำไรมีแนวโน้มที่จะอ่อนแอลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ให้สินเชื่อที่มีเงินทุนสำรองต่ำ หรือมีการปล่อยสินเชื่อให้แก่กลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งอาจส่งผลให้มีโอกาสถูกปรับลดแนวโน้มอันดับเครดิตหรือปรับลดอันดับเครดิตเพิ่มขึ้นในอนาคต