นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้(26มิ.ย.68) ที่ระดับ 32.51 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น”จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ณ ระดับ 32.62 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.40-32.70 บาท/ดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) พลิกกลับมาทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องทดสอบโซนแนวรับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์ อีกครั้ง (แกว่งตัวในกรอบ 32.50-32.67 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยการอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ ซึ่งมาจากทั้งโฟลว์ธุรกรรมขายเงินดอลลาร์ในฝั่งของบรรดาบริษัทเอกชน (จากการสำรวจของนักวิเคราะห์หลายๆ ที่) ในช่วงปลายเดือน รวมถึงการทยอยลดสถานะถือครองเงินดอลลาร์ ตามสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ทยอยคลี่คลายลง
นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังถูกกดดันจากรายงานข่าวว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อาจเตรียมเสนอรายชื่อประธานเฟดคนใหม่ภายในช่วง Summer ของสหรัฐฯ ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างคาดว่า “ว่าที่” ประธานเฟดคนใหม่ อาจมีแนวโน้มดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดต่างเพิ่มโอกาสเฟดเดินหน้าลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้ และอีก 3 ครั้ง ในปีหน้า นอกจากนี้ เงินบาทยังได้แรงหนุนเพิ่มเติมตามการรีบาวด์สูงขึ้นของราคาทองคำ (XAUUSD) จากโซนแนวรับแถว 3,300 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สู่ระดับ 3,340 ดอลลาร์ต่อออนซ์
สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้ง คาดการณ์ครั้งสุดท้ายของอัตราการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปี 2025 ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทน (Durable Goods Orders) ในเดือนพฤษภาคม และยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) พร้อมกันนั้น ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในอนาคต
ส่วนในฝั่งเอเชีย ในช่วงราว 6.30 น. ของเช้าวันศุกร์ที่ 27 มิถุนายน นี้ ตามเวลาประเทศไทย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานข้อมูลตลาดแรงงานญี่ปุ่น ในเดือนพฤษภาคม รวมถึง รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของกรุงโตเกียว ในเดือนมิถุนายน และรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) ของญี่ปุ่น ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ)
นอกเหนือจากปัจจัยข้างต้น ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม แนวโน้มการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ โดยเฉพาะการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับบรรดาประเทศคู่ค้า อย่าง จีน รวมถึงพัฒนาการของสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรายอมรับว่า โมเมนตัมการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทนั้นยังมีกำลังอยู่ โดยเฉพาะในจังหวะที่เงินดอลลาร์ก็ทยอยอ่อนค่าลง ส่วนราคาทองคำก็มีจังหวะรีบาวด์สูงขึ้นบ้างจากโซนแนวรับ อย่างไรก็ดี เรามองว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทก็อาจชะลอลงบ้าง เนื่องจากในฝั่งตลาดการเงินไทย บรรดาผู้เล่นในตลาด อย่างฝั่งผู้นำเข้า อาจทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์บ้าง แถวโซนแนวรับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์ หรือระดับแข็งค่ากว่านั้นเล็กน้อย ในช่วงปลายเดือน ซึ่งอาจตรงข้ามกับโฟลว์ธุรกรรมของบรรดาบริษัทเอกชนในต่างประเทศ ที่ช่วงนี้เป็นฝั่งการทยอยขายเงินดอลลาร์ (Net USD Selling) และเห็นการทยอยเพิ่มสัดส่วนการป้องกันความเสี่ยง (Hedging Ratio) จากบรรดาผู้เล่นในตลาดมากขึ้น (ทั้งฝั่งนักลงทุนและบริษัทเอกชน) โดยหากเงินบาทสามารถแข็งค่าทะลุโซนแนวรับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์ ก็มีโอกาสทยอยแข็งค่าขึ้นต่อทดสอบโซน 32.30 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเรามองว่า อาจเป็นโซนแนวรับที่แข็งแกร่งพอควรในระยะสั้น
โดยเฉพาะในช่วงนี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดมีมุมมองต่อแนวโน้มการเดินหน้าลดดอกเบี้ยของเฟดมากพอสมควร ดังจะเห็นได้จากการที่ผู้เล่นในตลาดเชื่อว่า เฟดมีโอกาสราว 55% ที่จะเดินหน้าลดดอกเบี้ยได้ 3 ครั้ง ในปีนี้ และอีก 3 ครั้ง ในปีหน้า ซึ่งต่างจากคาดการณ์ดอกเบี้ยของเฟด หรือ Dot Plot (รวมถึง มุมมองของเราพอควร) ทำให้เรามองว่า มีความเสี่ยงที่เงินดอลลาร์อาจรีบาวด์แข็งค่าขึ้นได้ไม่ยาก หากผ่านช่วงโฟลว์ธุรกรรมปลายเดือนที่เป็นฝั่งขายเงินดอลลาร์สุทธิ แล้วรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทยอยออกมาดีกว่าคาดบ้าง ทำให้ผู้เล่นในตลาดทยอยปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟด นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ก็อาจกลับมากดดันบรรดาสกุลเงินฝั่งเอเชีย โดยเฉพาะค่าเงินบาทได้ในช่วงที่เข้าใกล้กำหนดพักการเรียกเก็บภาษีนำเข้าตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ช่วงต้นเดือนกรกฎาคม ซึ่งเราคาดว่า สุดท้าย รัฐบาลสหรัฐฯ อาจขยายเวลาไปก่อน เพื่อให้สามารถบรรลุข้อตกลงการค้ากับบรรดาประเทศคู่ค้าได้
และแม้ว่าเงินบาทอาจมีจังหวะอ่อนค่าลงบ้าง แต่การอ่อนค่าของเงินบาทก็อาจถูกจำกัดแถวโซนแนวต้าน 32.80-32.90 บาทต่อดอลลาร์ ไปก่อน จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม และในเชิงเทคนิคัล หากประเมินด้วยกลยุทธ์ Trend-Following เราจะกลับมาเชื่อว่า เงินบาทมีโอกาสทยอยอ่อนค่าลงได้ หากเงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านดังกล่าวได้อย่างชัดเจน