xs
xsm
sm
md
lg

“ปิ้ง ปิ้ง” หุ่นยนต์ปิ้งหมู ตัวช่วยแม่ค้าพลิกไม้ผ่อนแรงปิ้ง เพิ่มเวลารับลูกค้า ผลงานนักศึกษา ฟีโบ้ มจธ.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากการสังเกตแม่ค้าร้านหมูปิ้งบริเวณมหาวิทยาลัย ที่ต้องยืนปิ้งยืนพลิกหมูและในวันที่ที่มีลูกค้าเยอะก็ต้องยืนปิ้งตลอดเวลา ทำให้ลูกค้าต้องยืนรอและไม่มีเวลาทำอย่างอื่น ด้วยเหตุนี้ นายวริทธิ์ธร คงหนู และ นายชวภณ วชิรานิรมิต นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จึงได้มีการประดิษฐ์ “ปิ้ง ปิ้ง” หุ่นยนต์ปิ้งหมู ที่ได้แรงบันดาลใจจากร้านขายหมูปิ้ง ในการเป็นตัวช่วยแม่ค้าให้ได้มีเวลาทำอย่างอื่นและช่วยลดแรงในการปิ้งหมู

นายชวภณ วชิรานิรมิต (ซ้าย)  -  นายวริทธิ์ธร คงหนู (ขวา)
นายวริทธิ์ธร กล่าวว่า ในขั้นตอนการเริ่มต้นสร้างหุ่นยนต์ปิ้งหมู ได้มาดูขั้นตอนการปิ้งหมูเป็นอย่างไรที่ร้านขายหมูปิ้ง ปกติการปิ้งทำอย่างไร มีการหยิบ จับ เคลื่อนย้าย หรือการพลิกหมู การตรวจดูว่าหมูสุกหรือยังอย่างไร ถ้ามีการทำเป็นระบบออโตเมชันต้องทำอะไรบ้าง แล้วก็มาแบ่งส่วนที่จะพัฒนาว่า จะพัฒนาอะไรก่อน ซึ่งตัวหุ่นยนต์ Demo 1 เริ่มจากการพัฒนาในส่วนของการพลิกหมูให้ได้บนเตา แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ตัวระบบควบคุม การออกแบบตัวจับและโครงสร้างของเตา ตลอดจนการคำนึงถึงข้อจำกัดต่างๆ


กลไกการทำงานของหุ่นยนต์ “ปิ้ง ปิ้ง” คือการนำแขนกลที่สามารถทำงานร่วมกับคน (Co-operation Robot) มาพัฒนาให้ช่วยพลิกหมูปิ้ง โดยหุ่นยนต์จะค่อย ๆ พลิกหมูทีละไม้ ส่วนคนจะเป็นผู้ตรวจดูว่าหมูไม้ไหนสุกแล้วจึงหยิบออก ส่วนไม้ที่ยังไม่สุก หุ่นจะทำหน้าที่พลิกต่อไป โดย Demo 1 หุ่นยนต์สามารถพลิกหมูได้ครั้งละ 8 ไม้ และพลิกได้แค่ด้านเดียว เพราะเตายังมีขนาดเล็ก ขณะเดียวกัน หมูแต่ละไม้มีขนาดและวิธีเสียบที่ต่างกัน จึงสุกไม่พร้อมกันทั้งหมด ทีมจึงออกแบบให้หุ่นพลิกหมูอย่างเป็นจังหวะไม้ต่อไม้ และเน้นการทำงานร่วมกันระหว่างคนกับหุ่นยนต์ เพื่อแบ่งเบาภาระและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน


นายชวภณ หนึ่งในผู้ร่วมสร้างหุ่นยนต์ปิ้งหมูได้กล่าวถึงแนวทางการพัฒนาในอนาคตว่า หากพัฒนาต่อ Demo 2 ก็อยากจะพัฒนาให้หุ่นรู้ว่าจะต้องพลิกหมูไม้ไหน และสามารถดูความสุกของหมูได้ รู้ว่าหมูไม้ไหนสุก ไม้ไหนยังไม่สุก โดยตอนนี้กำลังศึกษาว่าจะให้หุ่นดูความสุกของหมูได้อย่างไร เพราะการทําหมูปิ้ง จุดที่สุกก่อนจะอยู่ด้านล่างด้านที่โดนความร้อน ซึ่งเราไม่สามารถมองเห็นได้จากด้านบน รวมถึงเพิ่มระบบที่ให้หุ่นยนต์นำหมูที่สุกแล้วออกไปวางบนถาด และหยิบหมูสดไม้ใหม่ออกมาปิ้งบนเตาได้ รวมทั้งจะเพิ่มความเร็วในการพลิกหมู และระบบควบคุมความร้อนของเตาให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น


“การได้ลงมือพัฒนา ปิ้ง ปิ้ง เป็นเหมือนโจทย์ที่ทำให้เราได้ทดลองทำโครงการหรือโปรเจกต์ร่วมกับอาจารย์ และทำให้เราได้ต่อยอดความรู้จากสิ่งที่เรียนมา ได้ทดลองกับอุปกรณ์หลายอย่าง ได้เรียนรู้ว่าเราจะต้องแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร ได้ประสบการณ์การทำงาน ได้คิด วิเคราะห์ และเพิ่มทักษะมากขึ้น” ....... นายวริทธิ์ธร กล่าวเสริม

ผศ. ดร.สุภชัย วงศ์บุณย์ยง ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม
ผศ. ดร.สุภชัย วงศ์บุณย์ยง ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม ได้กล่าวว่า “ปิ้ง ปิ้ง หุ่นยนต์ปิ้งหมู” ถือเป็นหนึ่งในผลงานของนักศึกษาฟีโบ้ ที่เข้ากับธีม “Robotics ไทยแทร่” ในงานครบรอบ 30 ปีของสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) โดยหุ่นยนต์นี้เป็นหุ่นยนต์ที่เข้ากับบรรยากาศสนุกสนานแบบงานวัด ที่เป็นโจทย์หลักให้ทีมพัฒนาหุ่นยนต์ที่สะท้อนวัฒนธรรมไทย และยังสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดได้ในการใช้งานจริง สิ่งเหล่านี้ตอกย้ำบทบาทของฟีโบ้ ที่ไม่เพียงเป็นสถาบันผลิตวิศวกรหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ แต่ยังเป็นแหล่งบ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์และการลงมือทำจริงของนักศึกษา จากโจทย์จริงของสังคม ผ่านการฝึกคิดฝึกแก้ปัญหา และพัฒนาเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์การใช้งานที่จำเป็นต่อโลกยุคใหม่


กำลังโหลดความคิดเห็น