นายกสมาคมพอลิเมอร์ไทยเผยเทรนด์อนาคตทั่วโลกลดใช้ปิโตรเคมี-หันใช้พอลิเมอร์ชีวภาพ พร้อมจะผลักดันไทยใช้ให้ได้ 20-30% แต่รับเป็นเรื่องยากพอสมควร ชี้คาดหวังให้ไทยมีความรู้พอลิเมอร์มากขึ้น พร้อมใช้ทรัพยากรพอลิเมอร์ในธรรมชาติที่ไทยมีอยู่แล้วมาสร้างมูลค่าเพิ่ม
ดร.กฤษฎา สุชีวะ นายกสมาคมโพลิเมอร์ (ประเทศไทย) เผยแนวโน้มทั่วโลกจะใช้พอลิเมอร์ธรรมชาติมากขึ้น และเป็นแนวโน้มที่มาแรงจากแนวโน้มที่จะลดการพึ่งพาน้ำมันปิโตรเลียม ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการผลิตพอลิเมอร์จากปิโตรเคมี พร้อมยกตัวอย่างวัตถุดิบในธรรมชาติที่ใช้ผลิตพอลิเมอร์ เช่น มันสำปะหลังและอ้อย โดยตัวอย่างหลังนั้นยังต้องแข่งขันกับการพัฒนาด้านพลังงาน จึงอาจไม่เอามาใช้ ส่วนมันสำปะหลังนั้นมีอนาคตที่ดี แต่ประสิทธิภาพยังด้อยกว่าพอลิเมอร์สังเคราะห์อยู่ รวมถึงยางพาราซึ่งเป็นพอลิเมอร์ในธรรมชาติอยู่แล้ว ก็เป็นทรัพยากรสำคัญที่สร้างรายได้ให้ประเทศ
ส่วนหน้าที่ของสมาคมนั้น ดร.กฤษฏากล่าวว่า พยายามที่จะสร้างเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างไทยและต่างประเทศ พร้อมกันนี้ก็พยายามที่จะพัฒนาความรู้ด้านพอลิเมอร์ในประเทศให้มากขึ้น แต่ที่ผ่านมาแม้สมาคมจะก่อตั้งมาได้ 10 กว่าปีแล้ว แต่ก็ยังทำอะไรไม่ได้มากเพราะขาดคนที่จะเข้ามาทำงาน อีกทั้งเอกชนของไทยก็ไม่เข้มแข็งในการรวมกุล่มเช่นเดียวกับสมาคมพอลิเมอร์ของญี่ปุ่นที่มีการรวมกลุ่มของเอกชนอย่างเหนียวแน่น
นอกจากนี้จะพยายามผลักดันให้มีการใช้พอลิเมอร์ธรรมชาติมากที่สุด 20-30% แต่ยอมรับว่าเป็นเรื่องยาก เพราะประสิทธิภาพของพอลิเมอร์ธรรมชาติยังสู้พอลิเมอร์จากปิโตรเคมีไม่ได้ และกว่าจะพัฒนาให้มีคุณสมบัติใกล้เคียงคงต้องใช้เวลาอีกนาน
สำหรับจำนวนนักวิจัยทางด้านพอลิเมอร์ของไทยที่ ดร.กฤษฎาพอจะประเมินได้คร่าวๆ คือ ประมาณ 300 คน โดยเป็นนักวิจัยในศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ประมาณ 40 คน ซึ่งทำงานวิจัยที่ครอบคลุมศาสตร์ทางด้านพอลิเมอร์ เช่น พลาสติก ยาง เส้นใย สิ่งทอ เป็นต้น อย่างไรก็ดีเขาให้ความเห็นว่า วงการพอลิเมอร์ของไทยนั้นยังต้องพึ่งต่างประเทศ ทั้งเรื่องความรู้และวัสดุอยู่มาก และงานวิจัยด้านพอลิเมอร์ธรรมชาติก็มีอยู่ไม่ถึง 10%
ทั้งนี้ ดร.กฤษฎากล่าวว่า พอลิเมอร์เป็นวัสดุที่มีการประยุกต์ใช้มากกว่าวัสดุชนิดอื่นๆ โดยอุตสาหกรรมที่พึ่งพาพอลิเมอร์มากที่สุดคือ อุตสาหกรรมรถยนต์ ยานพาหนะ อุปกรณ์ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งหากขาดพอลิเมอร์ อุตสาหกรรมเหล่านี้ก็ไม่ก้าวหน้า นอกจากนั้นก็มีการใช้ในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ และที่เหลือก็ใช้ในการก่อสร้าง เช่น โซฟา ผ้าม่าน เป็นต้น
การเปิดเผยดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างการประชุมเชิงปฏิบัตินานนาชาติด้านพอลิเมอร์ (Asian Workshop on Polymer Processing 2006: AWPP2006) ณ โรงแรมรามาการ์เดนท์ ระหว่างวันที่ 6-9 ธ.ค.นี้ ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างเอ็มเทค กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สมาคมการผลิตพอลิเมอร์แห่งญี่ปุ่น สมาคมโพลิเมอร์ (ประเทศไทย) ทั้งนี้จัดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศไทยเมื่อปี 2544 โดยการริเริ่มของสมาคมพอลิเมอร์ญี่ปุ่น และได้เวียนจัดอีกหลายประเทศ เช่น จีน สิงคโปร์ ไต้หวัน และเวียนมาจัดซ้ำที่ประเทศไทยอีกครั้งในปีนี้
ดร.กฤษฎากล่าวว่าสาเหตุที่ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดงานครั้งแรกและจัดอีกครั้งนี้ เพราะเป็นความต้องการของญี่ปุ่นที่ต้องการจะสร้างความเชื่อมโยงกับไทย เนื่องจากญี่ปุ่นได้มาลงทุนทางด้านอุตสาหกรรมพอลิเมอร์ในไทยจำนวนมาก และเขาเองคาดหวังว่างานประชุมครั้งนี้จะช่วยให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาด้านพอลิเมอร์ตามมา