xs
xsm
sm
md
lg

กำจัดจุดอ่อน“TK park” แหล่งมั่วสุมทางปัญญาที่ยังมีปัญหา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เพิ่งผ่านมาหยกๆ สำหรับงานวันเกิดครบรอบ 1 ปี อุทยานการเรียนรู้ หรือ TK PARK (Thailand Knowledge Park) แหล่งมั่วสุมทางปัญญา และผลงานชิ้นโบว์แดงด้านการศึกษาของรัฐบาลที่ถือว่าสามารถจุดประกายการเรียนรู้ให้แก่เด็กและเยาวชนไทย ซึ่งวันนี้เขยิบเข้าใกล้จุดมุ่งหมาย “สังคมแห่งการเรียนรู้” (Knowledge based society) อีกก้าวหนึ่ง

TK park กำลังถูกจับตามองจากคนในสังคมอย่างมาก ยิ่งผ่านมา 1 ปี ยิ่งน่าจับตามองก้าวต่อไป และนี่เป็นมุมมองที่สะท้อนทั้งข้อดีข้อเสียจากนักวิชาการแขนงต่างๆ เริ่มที่ สมพงษ์ จิตระดับ ภาควิชาครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อาจารย์สมพงษ์ บอกว่า ในบรรดา 7 องค์การมหาชนด้านงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้น ได้แก่ พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศ ด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย สำนักศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ ศูนย์ส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษแห่งชาติ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม สถาบันวิทยาการการเรียนรู้ และสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ ดูเหมือนว่า อุทยานการเรียนรู้ จะเป็นหน่วยงานที่เห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจนและเร็วที่สุด เนื่องจากการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ทำให้นโยบายการศึกษาของ TK parkโดดเด่นที่สุด

“TK park เป็นแหล่งมั่วสุมกิจกรรมทางปัญญาของเด็กไทย ที่ทำให้เกิดกิจกรรมที่ดีมีประโยชน์หลากหลาย เกม ศิลปะดนตรี ที่ตอบสนองวิถีชีวิตเด็กในเมืองได้ ค่อนข้างมาก และสิ่งบ่งชี้ว่าโครงการนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี คือ จำนวนสมาชิกของ TK park ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในรอบ 1 ปี อีกทั้งแนวความคิดนี้ สามารถช่วยแก้ไขปัญหาเด็กติดเกม ทีวี แต่ออกมาในรูปแบบที่สร้างสรรค์ สร้างเสริมจินตนาการ รวมทั้งเครือข่ายการดูแลสมาชิกค่อนข้างดี ผู้ปกครองได้รับข้อมูลสม่ำเสมอ มีประชุมสัมมนาวิชาการพัฒนาไม่หยุดหย่อน”

อาจารย์สมพงษ์บอกอีกว่า ในส่วนที่ TK park ต้องแก้ไข คือ เมื่อมีสมาชิกจำนวนมากขึ้น จึงส่งผลให้ TK park แออัด คับแคบ โดยเฉพาะช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์จะมีคนมาใช้บริการเป็นจำนวนมาก ซึ่งที่ตั้งของ TK park ผิดคอนเซ็ปต์มาตั้งแต่ต้น ส่วนตัวเห็นว่าทำเลที่เหมาะสมที่สุดยังคงเป็นที่ตั้งของอุเทนถวาย ที่น่าจะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมเพื่อเด็กไทยในอนาคตมากกว่า

อีกประเด็นคือ ค่าใช้จ่ายการเสียค่าสมาชิกรายปี ที่บางกิจกรรมยังต้องเสียเงินเพิ่ม มีค่าใช้จ่ายจุกจิกมากยิ่งขึ้น ซึ่งทั้งสถานที่และค่าใช้จ่ายทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำ การใช้ประโยชน์จึงถูกจำกัดอยู่เฉพาะคนชนชั้นกลาง ถึงแม้ว่าคนระดับล่างจะเข้าใช้บริการได้ แต่โอกาสที่จะร่วมกิจกรรมอย่างเต็มที่ก็ลดลง ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้นดูเหมือนเป็นปัญหาของ TK park ในระยะหลังๆ มานี้ อีกทั้งเด็กที่มีเพิ่มมากขึ้นทำให้การดูแลเด็กอย่างทั่วถึงน้อยลง

“ที่สำคัญที่สุดระบบการเรียนรู้ใน TK park ต้องเชื่อมโยงกับระบบโรงเรียนให้ได้ ขณะนี้ศิลปะ ดนตรี เกม คอมพิวเตอร์ของ TK park ถือเป็นตัวจุดประกายทำให้เกิดคอนเซ็ปต์ที่ชัดเจน แต่กลับไม่สามารถเชื่อมต่อกับโรงเรียนติด ทั้งๆ ที่โรงเรียนเป็นระบบใหญ่ที่มีห้องสมุด ห้องคอมพิวเตอร์ กิจกรรมมากมายเกี่ยวกับเด็ก ซึ่งคาดว่าอุปสรรคน่าจะมาจากในระดับผู้บริหารหรือการเมืองยังไม่มีการพูดคุยกัน ซึ่งหากมีการร่วมมือกันน่าจะทำให้การเชื่อมโยงทั้ง 2 ระบบ ประสบผลสำเร็จโดยช่วยให้เด็กไทยสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ถูกต้อง เช่น เวลาเล่นเกมก็จะเป็นเกมที่สร้างสรรค์และเหมาะกับเด็ก และเล่นเกมคอมพิวเตอร์เป็นโดยไม่ตกเป็นเหยื่อ อีกต่อไป”

ส่วนประเด็นสุดท้าย คือ การขยาย TK park ไปยัง 4 ภูมิภาค เหนือ อีสาน ตะวันออก และใต้ ยังล่าช้าทำให้เกิดช่องว่างระหว่างกรุงเทพฯ กับภูมิภาค ซึ่งน่าจะดำเนินการขยายเครือข่ายทั่วประเทศ อีกทั้งต้องกำหนดกรอบเวลาให้ชัดเจน เช่น ปีหนึ่งๆ จะสามารถขยายได้กี่จุด โดยในช่วง 5-6 ปี น่าจะขยาย TK park ครอบคลุม 50% ในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ

อาจารย์สมพงษ์ทิ้งท้ายว่า TK park นั้นเป็นเสมือนคำตอบ ทางออกของเด็กในเมือง แต่การลงไปสู่เด็กในระดับอื่นๆค่อนข้างยาก แค่พ่อแม่จะพาลูกไป TK park ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ก็ยังเป็นเรื่องยาก ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วเด็กชอบไปมาก และมีกิจกรรมน่าสนใจให้เลือกมากมาย

ด้าน นพ.อุดม เพชรสังหาร นักจิตวิทยาเยาวชนและผู้อำนวยการศูนย์อัจฉริยภาพและเยาวชน หรือสถาบันอินโนเวทีฟ เบรน เซ็นเตอร์ แสดงความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า TK park ได้จุดประกายให้ทุกคนตะหนักถึงความสำคัญของการอ่าน โดยเปลี่ยนแปลงวิถีของห้องสมุด ฉีกรูปแบบเดิมๆ ออกไปอย่างสิ้นเชิง เพื่อดึงดูดผู้ใช้บริการมากที่สุด โดยเฉพาะเด็ก เยาวชนและวัยรุ่น ดังนั้น นี่ถือเป็นความสำเร็จอีกก้าวหนึ่ง

“พอคนสนใจเข้าไปใช้บริการมากๆ ก็เป็นธรรมดาที่จะเกิดความแออัด ทำให้ระบบในการจัดการเสีย ช่วงหลังจึงมีเสียงจากผู้ใช้บริการว่า ความเป็นส่วนตัวหายไป รวมทั้งเข้าถึงยาก สถานที่ตั้งน่าจะเป็นแหล่งชุมชน ที่สำคัญคือระบบแนวคิดและบริการน่าจะนำไปพัฒนาประยุกต์ใช้กับแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ทั้งห้องสมุดสาธารณะ ห้องสมุดโรงเรียน จะทำให้เด็กสามารถต่อยอดความรู้ได้อย่างทั่วถึง”

นพ.อุดม บอกอีกว่า ห้องสมุดแบบเดิมๆ เงียบเหงา ไม่เหมาะกับการเรียนรู้ของเด็ก การนำการจัดการแบบ TK park มาประยุกต์ใช้ให้เข้ากันกับห้องสมุดที่มีอยู่ทั่วไป ควรจะมีการดีไซน์พื้นที่ มุมพักผ่อน มุมของเด็กตามบุคลิกของเขาโดยสอบถามความคิดเห็น แล้วสอนให้รู้จักถนอมของไว้ให้ใช้ได้นานๆ แต่ก็ยังคงมีอุปสรรคด้านงบประมาณ การทำกิจกรรมมักไม่ค่อยคึกคัก บรรณารักษ์จะมีกำลังมากมายแค่ไหนซึ่งคงต้องขบคิดกันต่อ อย่างไรก็ดี TK park นอกจากจะเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเด็ก เยาวชนแล้ว ยังให้บทเรียนกับผู้ใหญ่เป็นการบ้านที่จักต้องดำเนินการต่อไป

ขณะที่ พญ.พรรณพิมล หล่อตระกูล ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล บอกว่า การเรียนรู้แต่ในห้องไม่สามารถตอบสนองความต้องการเฉพาะด้านของเด็ก ซึ่งจุดเด่นของ TK park คือ การอาศัยเทคโนโลยี เพื่อสร้างการเรียนรู้ด้วยตัวของตัวเอง ค้นคว้าสร้างองค์ความรู้ เป็นประโยชน์กับเด็กเป็นอย่างมาก แต่คงต้องยอมรับว่ามีเด็กอีก 16 ล้านคนที่ยังไม่ได้รับโอกาสนี้ แม้แต่เด็กในกรุงเทพบางคนก็ยังไม่เคยมาเลยด้วยซ้ำ และส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าไม่ใช่ครอบครัวทุกครอบครัวทำได้เหมือนกันหมด

“ถ้าในฐานะแม่คนหนึ่งปัญหาที่พบเมื่อพาลูกไป TK park ก็เป็นปัญหาพื้นฐาน เช่น ความไม่สะดวกในการเดินทาง เด็กต้องเดินทางเข้าร่วมกิจกรรม เด็กคนไหนไปไม่ได้ก็เรียนรู้ที่บ้านไม่ได้ การเข้าถึงอีกทางหนึ่งซึ่งถือเป็นทางออกที่ดี คือ น่าที่จะผลิตซีดี เพื่อนำกลับไปเรียนรู้ได้เองที่บ้านได้โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์มากมายทำให้ความรู้กระจายออกไปมากขึ้น”พญ.พรรณพิมลทิ้งท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น