xs
xsm
sm
md
lg

ขยับปีกผีเสื้อผ่านโยบายสาธารณะ “มะเร็ง”ของความอยู่เย็นเป็นสุข

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จะว่าไปแล้วนโยบายสาธารณะด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐบาล ควรจะส่งผลดีต่อประชาชนโดยส่วนรวม หรืออย่างน้อยก็ควรสอดคล้องกับบริบท และความต้องการขั้นพื้นฐานของชุมชนนั้นๆ ทว่า หลายทศวรรษที่ผ่านมาความจริงกลับวิ่งสวนทางในอัตราเร่ง เมื่อหลากนโยบายสาธารณะด้านสิ่งแวดล้อมของภาครัฐกลับเป็นภัย คุกคาม ลิดรอนสิทธิบุคคล ชุมชนอย่างต่อเนื่อง และซ้ำร้ายจะทวีความร้ายแรงขึ้นเรื่อยๆ ไม่ต่างอะไรกับมะเร็งร้ายที่คอยกัดกร่อน บั่นทอนพลังกาย ใจของผู้ป่วย

ครั้นจะหวังให้ภาคประชาชนลุกขึ้นมาเคลื่อนไหว รวมพลังกันเรียกร้อง คัดค้าน ต่อต้านอำนาจ ส่วนกลางที่ผูกขาดสิทธิในการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะผลลัพธ์สุดท้ายที่พวกเขาได้รับนั้นมักจะเจ็บปวด ด้วยไม่เพียงต้องต่อสู่กับอำนาจกฎหมายของรัฐเท่านั้น แต่ยังต้องต่อสู้กับอิทธิพลเถื่อนจากนายทุนที่เป็นเพื่อนซี้กับข้าราชการที่เห็นแก่เงินด้วย

‘คุก การข่มขู่ และความตาย’ จึงถูกหยิบยื่นให้กับผู้เคลื่อนไหวเรื่องสาธารณะ สิ่งแวดล้อมเสมอมา ดังที่ เจริญ วัดอักษร แกนนำนักอนุรักษ์บ้านบ่อนอก และล่าสุด พระสุพจน์ ด้วงประเสริฐ พระนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจากจังหวัดเชียงใหม่ได้รับ แต่ก็ใช่ว่าคนไทยจะยอมจำนนกับสภาพการณ์เช่นนั้น เพราะปัจจุบันมีการเคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อมหลากหลายระดับปรากฏให้เห็นเป็นระยะๆ แม้จะชัดเจนในชุมชนชนบทมากกว่าในเมืองก็ตามที

แต่โดยรวมแล้วแนวโน้มที่สมาชิกในกลุ่มจะสูงขึ้นก็มีมากเมื่อคนส่วนใหญ่เริ่มตระหนักแล้วว่าผลกระทบจากนโยบายสาธารณะด้านสิ่งแวดล้อมของภาครัฐนั้นไม่ใช่เรื่องไกลตัวแต่อย่างใด

ขยับปีกผีเสื้อ
การลุกขึ้นต้านอำนาจในการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่ชอบธรรมของคนตัวเล็กๆ ในสังคม ย่อมไม่ต่างอะไรกับการกระพือปีกของผีเสื้อน้อยๆ ตามทฤษฎี Butterfly Effect ดังที่จะเห็นได้ในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติว่าด้วยความอยู่เย็นเป็นสุข ในการเสวนากลุ่มย่อยเรื่องนโยบายสาธารณะด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อความอยู่เย็นเป็นสุข เมื่อ 8 ก.ค. 48 ที่ผ่านมา เพราะไม่เพียงจะสร้างสรรค์โอกาส และแรง
บันดาลใจให้กับคนที่กำลังถูกเอารัดเอาเปรียบในสังคมให้ลุกขึ้นมาสู้เท่านั้น แต่ยังสมานฉันท์กันขจัดเนื้อร้ายให้ ‘การอยู่ร้อนนอนทุกข์’ ที่กลืนกินความ ‘อยู่เย็นเป็นสุข’ ของชุมชนที่เคยมีมานานมลายหายไปด้วย

สดใส สร่างโศก แกนนำจากเครือข่ายทรัพยากรภาคอีสาน สะท้อนสถานการณ์การแย่งชิงทรัพยากรน้ำในภาคตะวันออกที่ทวีความเข้มข้นขึ้นทุกขณะไว้ว่า ภาครัฐมักจะกำชัยชนะ และผูกขาดสิทธิในการจัดสรรทรัพยากรน้ำเสมอ โดยประชาชนไม่สามารถเรียกร้อง คัดค้าน การจัดสรรทรัพยากรน้ำที่ไม่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ ภูมิปัญญา และวิถีชีวิตเกษตรกรได้เลย เช่น โครงการชลประทานแบบท่อ หรือ
การจัดสรรทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการที่ไม่เพียงเพิ่มภาระหนี้สินและต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกรจากการต้องซื้อน้ำมาใช้เท่านั้น แต่เทคโนโลยีที่ใช้ยังซับซ้อนเกินกว่าชุมชนจะจัดการกันเองได้ รวมทั้งการซ่อมแซมแต่ละครั้งยังต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากด้วย

สดใสยังแนะว่า ระบบการจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพควรเริ่มต้นจากชุมชน แล้วค่อยขยายใหญ่ขึ้น ไม่ควรเริ่มจากระบบใหญ่ และให้ความสำคัญกับภาคอุตสาหกรรมมากกว่าภาคเกษตรกรรมดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพราะที่ผ่านมาก็พิสูจน์ชัดเจนแล้วว่าการจัดการน้ำจากระบบใหญ่ไปเล็กนั้นไม่สอดคล้องกับวิถีการเกษตรที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ยิ่งกว่านั้นยังทำให้เกษตรกรรายย่อยค่อยๆ ตายลงไปด้วย

สอดคล้องกับ สุทธิธรรม เลขวิวัฒน์ ตัวแทนจากสมัชชาสุขภาพภาคตะวันออก ที่มองว่าการรุกคืบของภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคตะวันออกนั้นไม่เพียงแย่งชิงทรัพยากรน้ำจำนวนมหาศาลไปจากประชาชน เกษตรกรเท่านั้น ทว่ายังฝากมลพิษทางน้ำ อากาศ ดิน จำนวนมากไว้ให้คนท้องถิ่น และแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมด้วย

ยิ่งกว่านั้นนับวันประชาชน เกษตรกรจะตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำมากขึ้นเรื่อยๆ ดังที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง อย่างไรก็ตาม แนวโน้มที่น่ายินดีก็ยังพอมี เมื่อสถานการณ์เลวร้ายนี้ได้สร้างเครือข่ายนักอนุรักษ์ทั้งคนในและนอกพื้นที่ขึ้นมากมาย แม้แต่ละเครือข่ายจะต้องทำงานหนักหนาสาหัสมากขึ้นเมื่อเวลาผันผ่านไปก็ตาม

ด้านความเคลื่อนไหวของคนชายขอบของสังคมไทยก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เมื่อ เฉลิมพล เวชกิจ ชาวปกากะญอ แกนนำเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ ฟันธงว่าการจัดการป่าที่ดีที่สุดนั้นต้องสอดคล้องกับวิถีชีวิต วิถีวัฒนธรรมของชุมชน นอกจากนั้นสังคมต้องเปิดใจกว้างเรียนรู้ความต่างทางวัฒนธรรม วิถีชีวิตด้วย เพราะที่ผ่านมาชาวปกากะญอถูกสังคมมองว่าเป็นสาเหตุของการตัดไม้ทำลายป่าอันเนื่องมาจากการทำไร่เลื่อนลอย ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วเป็นการทำไร่หมุนเวียน

“คนต้องอยู่กับป่าได้ ต้องรู้คุณค่า บุญคุณของป่า คนต้องพึ่งพาป่า น้ำ ต้นไม้ คนจะอยู่สุขสบาย ถ้ามีป่า อยู่เย็นเป็นสุขเพราะป่า ไร่หมุนเวียนนั้นไม่ใช่ไร่เลื่อนลอยแต่อย่างใด เพราะถ้าทำอยู่ที่เดิมนานๆ นั้นจะทำให้ดินเสื่อมความอุดมสมบูรณ์ ถึงจะใส่ปุ๋ย ก็จะทำให้ดินเสีย แข็ง และเวลาปลูกพืชหากใช้ยาฆ่าแมลงแล้วก็จะต้องใช้ต่อเนื่อง ไม่ใช้ก็ไม่ได้”

ขณะที่ วิชาญ เพชรรัตน์ แกนนำเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเพื่อคนจนภาคใต้ เสริมว่าการจัดสรรเรื่องที่ดินทำกินสำคัญมาก เพราะปัจจุบันการกระจายที่ดินเพื่อประชาชนระดับรากหญ้ายังไกลห่างจากความเป็นจริงมาก พร้อมทั้งเน้นว่าที่ดินในความหมายแท้จริงสำหรับคนจนคือทุนในการทำกิน เป็นตัวผลิตปัจจัย 4 ซึ่งพวกเขาไม่ได้มองว่าเป็นทรัพย์สินที่ซื้อขายได้แบบที่คนส่วนใหญ่มอง
เครือข่ายผีเสื้อ
หลากมุมมอง หลายปัญหาของคนต่างพื้นที่ในวันนี้ได้แปรเปลี่ยนเป็นพลังเครือข่ายอนุรักษ์ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ที่ไม่เพียงลุกขึ้นต้านอำนาจในการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่เป็นธรรมของภาครัฐด้วยความกล้าหาญและสมานฉันท์เท่านั้น ทว่ายังเป็นกระจกฉายความหย่อนยาน ไร้ประสิทธิภาพที่สั่งสมมานานในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของรัฐด้วย

ดังที่ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ สมาชิกวุฒิสภา จ.อุบลราชธานี มองว่าการรู้เท่าทันนโยบายสาธารณะด้านสิ่งแวดล้อมของภาครัฐเป็นปัจจัยสำคัญมากต่อการอยู่เย็นเป็นสุขของประชาชน เพราะส่วนใหญ่นโยบายของรัฐที่ออกมามักจะขัดกับวิถีชีวิต วิถีชุมชน ดังที่ปัจจุบันหลายพื้นที่มีความขัดแย้งระหว่างรัฐและชุมชนสูง เช่น เขื่อนปากมูล โรงไฟฟ้าแก่งคอย

ทว่า การร้องเรียนเรื่องธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมก็อันตรายมาก เนื่องจากผลประโยชน์ของโครงการเหล่านี้มหาศาล ไม่เพียงโครงการเมกกะโปรเจ็กต์ด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมที่รัฐบาลจะทุ่ม 4 แสนล้านบาทข้างหน้าจะล่อใจให้มีการคอร์รัปชั่นอย่างมโหฬารเท่านั้น แต่ปัจจุบันอิทธิพลเถื่อนนั้นมาจากทุนระดับชาติที่มีเครือข่ายโยงใยกับการเมือง บรรษัทต่างชาติ ไม่ได้เป็นทุนท้องถิ่นแบบดั้งเดิมอีกแล้ว การปิดปากประชาชนโดยใช้กฎหมายจึงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“ทางออกของปัญหานี้ ภาคประชาชนไม่เพียงจะต้องหันมาเคลื่อนไหว ต่อสู้เรื่องสิ่งแวดล้อมในมิติของกฎหมายมากขึ้นเท่านั้น แต่ต้องคิดในระดับนโยบายด้วย และที่สำคัญต้องทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม เป็นเครือข่าย เพราะจะเพิ่มพลังในการต่อรองได้มาก”

สอดคล้องกับพระมหาประนอม ปัญญาวโร พระนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจากจ.อุทัยธานี ที่แนะว่าการเคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อมนี้ควรต้องรวมกลุ่มกันทำ อย่าทำคนเดียว และที่สำคัญต้องเรียนรู้เรื่องอำนาจ-หน้าที่-สิทธิ ด้วย เพราะคนนั้นแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ 1. มีอำนาจกับหน้าที่ และ 2. มีอำนาจกับสิทธิ ซึ่งอำนาจนั้นเสื่อมสลายได้ ขณะที่หน้าที่กับสิทธินั้นคงอยู่ ประชาชนจึงมีหน้าที่และสิทธิอันชอบธรรมในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม

...ที่ผ่านมาการมีส่วนร่วมในการกำหนด ตัดสินใจในนโยบายสาธารณะด้านสิ่งแวดล้อมของภาคประชาชนจึงมีค่าใกล้ศูนย์ มิพักต้องพูดถึงการล้มล้าง ขจัดมาตรการ นโยบาย ที่ผิดพลาดและส่งผลกระทบร้ายแรงต่อวิถีชีวิต วิถีชุมชน ซึ่งแทบเป็นไปไม่ได้เลย วันนี้ ‘นโยบายสาธารณะจึงไม่เคยเป็นสาธารณะอย่างแท้จริง’ เพราะไม่พียงไม่ฟังเสียงประชาชน ทว่ายังบั่นทอน กัดกร่อนพลังประชาชนไม่ต่างอะไรกับเนื้อร้าย ดังที่มีการทำร้าย และจากไปของนักอนุรักษ์ให้เห็นอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันแม้ภาครัฐยังจะเป็นช่องทางเดียวในการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ทว่าภาคประชาชนก็กำลังร่วมแรงร่วมใจ เป็นเครือข่ายผีเสื้อที่ไม่เดียวดาย รุกคืบ ทวงถามสิทธิอันชอบธรรมในการจัดการวิถีชีวิต วิถีวัฒนธรรม กลับคืนมา เพื่อสร้างความเท่าเทียมในการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนให้เกิดขึ้น



กำลังโหลดความคิดเห็น