ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สืบเนื่องจากช่วงเดือนพฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา รัฐบาลสหราชอาณาจักรภายใต้การนำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย “นายอีเว็ตต์ คูเปอร์” ได้ประกาศปฏิรูประบบตรวจคนเข้าเมืองครั้งใหญ่ ดำเนินการอย่างเข้มข้นเพื่อบรรลุเป้าหมายสำคัญในการลดจำนวนผู้อพยพลง
สาระสำคัญคือ ยกระดับเกณฑ์วีซ่าทำงาน (Skilled Worker Visa) จากเดิมที่พิจารณาจากระดับทักษะต่ำ จะปรับขึ้นเป็น RQF ระดับ 6 เทียบเท่าปริญญาตรีเท่านั้น พร้อมจำกัดวีซ่าทำงานทักษะต่ำ อนุญาตเฉพาะตำแหน่งงานที่ขาดแคลนอย่างมาก และจะเป็นการอนุญาตแบบชั่วคราวเท่านั้น และตั้งเป้าส่งเสริมการจ้างงานคนในประเทศโดยรัฐจะสนับสนุนให้นายจ้างฝึกอบรมแรงงานภายในประเทศมากขึ้นเพื่อลดการพึ่งพาแรงงานนำเข้าจากต่างชาติ
นับเป็นความเคลื่อนไหวสำคัญเพราะกระทบโดยตรงกับแรงงานหมอนวดชาวไทยที่ผ่านการฝึกฝนในศาสตร์นวดแผนไทยเชิงสุขภาพมาอย่างเชี่ยวชาญ แต่กลับไม่ผ่านเกณฑ์เข้าระบบแรงงานอย่างถูกต้องในประเทศอังกฤษ
ตามรายงานระบุว่า กระทรวงมหาดไทยของสหราชอาณาจักร ได้ถอดอาชีพ “นักนวดบำบัด” (Massage Therapist) และ “นักนวดบำบัดด้านการกีฬา”(Sports Massage Therapist) ออกจากรายชื่ออาชีพที่สามารถขอวีซ่าทำงานประเภท Skilled Worker โดยข้อกำหนดภายใต้กฎหมายใหม่ทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพจากไทยที่มีคุณสมบัติครบถ้วน ไม่สามารถขอวีซ่าทำงานในอังกฤษได้อีกต่อไป ยกเว้นเฉพาะผู้ที่อยู่ในประเทศและต่ออายุใบอนุญาตเดิม
นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยของสหราชอาณาจักร ได้เร่งปราบปรามอาชญากรรมการลักลอบเข้าเมืองในทุกระดับ ภายใต้แผน Plan for Change โดยเหมาว่าร้านนวดเชื่อมโยงกับกิจกรรมผิดกฎหมาย สร้างความเสียหายกระทบภาพลักษณ์ร้านนวดแผนไทยเชิงสุขภาพที่ประกอบธุรกิจถูกกฎหมาย ซึ่งถือเป็น Soft Power ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสุขภาพของประเทศไทย
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาทางการไทยโดยกระทรวงแรงงานมีการพิจารณาแก้ปัญหาด้านข้อจำกัดของอาชีพหมอนวดไทยในระดับนานาชาติ อาทิ อาชีพหมอนวดเป็นอาชีพสงวนที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการนวดบำบัดที่ต้องใช้ความรู้ทางกายวิภาคและสรีรวิทยา ถูกสงวนไว้สำหรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาจาก สถาบันที่ญี่ปุ่นรับรองและสอบผ่านใบประกอบวิชาชีพของญี่ปุ่นเท่านั้น หากนายจ้างต้องการจ้าง ชาวต่างชาติเป็นหมอนวดในญี่ปุ่น จะต้องจ้างผู้ที่ถือวีซ่าที่ไม่มีข้อจำกัดในการทำงาน เช่น คู่สมรสของชาวญี่ปุ่น ผู้พำนักถาวร ผู้พำนักถาวรระยะยาว หรือคนไทยที่จะทำงานนวดใ ญี่ปุ่นได้อย่างถูกกฎหมาย ต้องมีวีซ่าประเภทเหล่านี้แต่ก็ยังมีกฎระเบียบและมาตรฐานที่ต้องปฏิบัติตาม
หรือในประเทศเกาหลีใต้อาชีพหมอนวด ถูกสงวนไว้สำหรับผู้พิการทางสายตา ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมอาชีพให้กับผู้พิการ
นอกจากนี้ ยังสร้างแนวทางส่งเสริมการนวดเพื่อผ่อนคลาย และ Wellness โดยพัฒนาหลักสูตรที่เน้นการนวดเพื่อผ่อนคลายสปาเทคนิคเฉพาะของไทย (เช่น นวดน้ำมัน นวดประคบสมุนไพร) ภูมิปัญญาไทยที่เน้นการผ่อนคลาย ฟื้นฟูสุขภาพแบบองค์รวม ไม่ใช่การรักษาทางการแพทย์ รวมทั้งร่วมมือกับภาคธุรกิจสปา/โรงแรม เพื่อเน้นการจัดส่งแรงงานไปยังธุรกิจโรงแรม สปา ฟิตเนสเซนเตอร์ หรือสถานประกอบการด้านสุขภาพ
เรียกว่าเป็นการสร้างมาตรฐานวิชาชีพและใบอนุญาตเฉพาะด้านสำหรับแรงงานต่างชาติที่ทำหน้าที่นวดเพื่อผ่อนคลาย และส่งเสริมการลงทุนของไทยต่างประเทศ โดยจะลงทุนเปิดสปาหรือศูนย์ Wellness ที่เน้นบริการนวดไทยแท้ ซึ่งจะช่วยให้สามารถจ้างแรงงานไทยไปทำงานได้ง่ายขึ้นภายใต้กฎหมายการลงทุนของประเทศนั้นๆ เป็นต้น
สำหรับนวดไทย ถือเป็น Soft Power ของประเทศไทย เรียกว่าบริการสุขภาพจากภูมิปัญญาไทย โดยกระทรวงแรงงานมีแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาทักษะแรงงานบริการสุขภาพให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลก โดยเฉพาะด้าน Wellness เช่น นวดไทยและสปา ซึ่งได้รับความนิยมในหลายประเทศและสามารถส่งออกแรงงานฝีมือได้ถูกต้องตามกฎหมาย
นายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่าการยยกระดับสถานะและมาตรฐานแรงงาน รวมถึงการยกระดับภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือ ให้แก่แรงงานนวดไทยในสายตานายจ้างและผู้บริโภคในประเทศเหล่านั้น เมื่อทักษะได้รับการยอมรับและ มีมาตรฐาน นายจ้างจะเต็มใจจ่ายค่าตอบแทนที่สูงขึ้นและจัดหาสวัสดิการที่ดีขึ้นให้กับแรงงานไทยจะส่งผลให้มีการ เพิ่มค่าจ้างและสวัสดิการที่ดีขึ้น
“ในอนาคตอาจเกิดความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและประเทศต่างๆ ในการพัฒนาระบบ การรับรองทักษะร่วมกันเพื่อให้แรงงานไทยสามารถทำงานในต่างประเทศได้และได้รับการยอมรับในคุณวุฒิของแรงงานนวดไทย ซึ่งปัจจุบันนวดไทยได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติจากยูเนสโก ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญมาก แต่สิ่งที่เราต้องทำต่อจากนั้นคือการยกระดับภาพลักษณ์และคุณภาพบริการอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ทั่วโลกมองว่านวดไทยเป็นมากกว่าการผ่อนคลาย แต่คือศาสตร์ที่มีรากฐานในวัฒนธรรมและสุขภาวะอย่างแท้จริง" นายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ระบุ
ทั้งนี้ แนวทางการยกระดับนวดไทยสามารถแบ่งแนวทางออกเป็น 4 ด้านหลัก
1. ยกระดับมาตรฐานวิชาชีพ เร่งผลักดันให้มีมาตรฐานวิชาชีพนวดไทยที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ทั้งในด้านเนื้อหาการฝึกอบรม คุณสมบัติผู้สอน รวมถึงระบบการรับรองใบประกอบวิชาชีพที่เข้มข้น โดยจะประสานงานกับหน่วยงานต่างประเทศเพื่อสร้างความเทียบเท่าในระบบคุณวุฒิ เช่น ความร่วมมือ MRA (Mutual Recognition Agreement) กับประเทศที่มีตลาดแรงงานด้านสุขภาพสูง
2. พัฒนาแบรนด์ “นวดไทย” ให้มีอัตลักษณ์จะสร้างแบรนด์ “Thai Massage” ที่มีเอกลักษณ์ ทั้งในแง่การตกแต่งร้าน การบริการ และการแต่งกายของผู้ให้บริการ เช่น การใช้ผ้าฝ้ายไทย กลิ่นสมุนไพร เครื่องดื่มต้อนรับแบบไทย สิ่งเหล่านี้จะสะท้อนถึงความละเมียดละไมในวัฒนธรรมไทยที่ไม่เหมือนใคร
3.ผลักดัน Soft Power ผ่านสื่อและเวทีโลก จัดกิจกรรมเผยแพร่นวดไทยในงานเทศกาล วัฒนธรรมนานาชาติ และจะร่วมมือกับสื่อ สารคดี และรายการโทรทัศน์เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของนักนวดไทย ที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศ รวมถึงจัดตั้ง “ทูตวัฒนธรรมนวดไทย” ที่จะเป็นผู้แทนในการเผยแพร่ อัตลักษณ์นี้อย่างมืออาชีพ
และ 4. สร้างความเชื่อมั่นเรื่องสุขอนามัยและคุณภาพบริการ ส่งเสริมให้ร้านนวดไทยทั้งในและต่างประเทศผ่านการรับรอง Thai Spa Standard หรือ Thai Select Wellness รวมถึงมีระบบประเมินผลความพึงพอใจของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความ ไว้วางใจในคุณภาพ โดยคาดหวังว่านวดไทยจะได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในบริการสุขภาพเชิงวัฒนธรรมที่ดีที่สุดของโลก ไม่เพียงแต่สร้างรายได้ให้กับแรงงานและผู้ประกอบการไทย แต่ยังเป็นการส่งออกวัฒนธรรมที่สร้าง ภาพลักษณ์ของไทยในเวทีโลกได้อย่างภาคภูมิ
นอกจากนี้ ในอนาคตจะมีการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมในต่างประเทศ ที่มีความต้องการแรงงานไทยจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง อาจจะมีการพิจารณาร่วมมือจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรม ทักษะการนวดแผนไทยในประเทศนั้นๆ เพื่อผลิตบุคลากรที่ตรงตามความต้องการและลดขั้นตอนการเคลื่อนย้าย แรงงาน รวมถึงจะเป็นโอกาสที่ดีที่นายทุนต่างชาติมีความสนใจร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการไทยเพื่อเปิดธุรกิจสปา หรือ Wellness Center ที่เน้นการนวดแผนไทยในประเทศของตน
รวมทั้งทำให้นวดไทยที่ได้รับการรับรองจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงานให้เป็นที่ยอมรับในประเทศปลายทางเพื่อให้แรงงานไทยสามารถยื่นขอใบอนุญาตทำงานได้ง่ายขึ้นรวมถึงการพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมที่นอกจากทักษะการนวดแล้ว ยังรวมถึงทักษะ ภาษาและวัฒนธรรมของประเทศปลายทาง เพื่อเตรียมความพร้อมให้แรงงานก่อนเดินทางไปทำงานต่างประเทศ
และส่งเสริมการจ้างงานโดยตรงหรือบริษัทจัดหางานที่โปร่งใสเพื่อสนับสนุนช่องทางการจ้างงานที่ถูกต้องตามกฎหมายและ สามารถกำกับดูแลบริษัทจัดหางานให้มีความโปร่งใสไม่แสวงหาผลประโยชน์เกินควร พร้อมทั้งใช้ช่องทาง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศผ่านสถานทูต เพื่อสร้างความเข้าใจและผลักดันนโยบายที่เอื้อต่อการจ้างงานแรงงาน ไทยในอนาคต
สุดท้ายประเด็นการปรับระเบียบนำเข้าแรงงานของอังกฤษ ซึ่งกำลังกระทบอาชีพหมอนวดแผนไทยในห้วงเวลานี้ นับเป็นโจทย์ท้าทายของรัฐบาลไทยในการแก้สมการส่งออกแรงงานฝีมือถูกต้องตามกฎหมาย สู่ฝันใหญ่ปลุกปั้น “นวดไทย” สู่ Soft Power