ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สิ่งที่เกิดกับวงการสงฆ์ไทยอันมี “สีกากอล์ฟ” เป็นชนวนเหตุสำคัญนั้น หลายคนอาจมองผิวเผินว่าเป็นเพียงแค่ “ข่าวบันเทิง” ที่เสพเพื่อความสนุกสนาน ทว่า ในความเป็นจริงต้องถือว่าเป็น “วิกฤตคณะสงฆ์ไทย” ที่รุนแรงขั้นสุด ด้วยสั่นคลอน “ศรัทธา” อันมีต่อพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก
ความเป็นจริงเรื่อง “พระเสพกาม” หรือ “พระโกงเงินวัด” ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้พระถูกมองว่าเป็นเพียง “อาชีพ” ซึ่งสามารถแสวงหาได้ทรัพย์สินเงินทองและยศถาบรรดาศักดิ์ได้โดยง่าย ที่สำคัญคือไม่มีหลักรับประกันอันใดว่า พระที่มี “เปรียญธรรม” เป็น “เจ้าคณะผู้ปกครอง” หรือทรง “สมณศักดิ์” จะเป็นใบรับประกันให้พุทธศาสนิกชนกราบไหว้ทำบุญได้อย่างสนิทใจ
ดังจะเห็นได้จากกรณีสีกากอล์ฟที่มีความสัมพันธ์ทางเพศกับพระชั้นผู้ใหญ่ที่เปลือกนอกล้วนแล้วแต่น่าเลื่อมใสทั้งสิ้น กล่าวคือมีทั้งที่สอบผ่าน “เปรียญ 9 ประโยค” มีสมณศักดิ์ที่เรียกขานกันว่า “ท่านเจ้าคุณ” ตั้งแต่ “ชั้นราช ชั้นเทพ” เป็นเจ้าคณะจังหวัด เป็นเจ้าคณะผู้ปกครอง จบการศึกษาระดับปริญญาเอก เป็นครูบาอาจารย์ในวิทยาลัยสงฆ์ เป็นต้น
ขณะที่องค์กรปกครองคณะสงฆ์ ก็มีปัญหาในการจัดการ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ หลังเปิด “ศูนย์ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและส่งเสริมพระธรรมวินัย” เปิดมาแค่ 2 วันแรก (14-15 ก.ค. 68) ชาวบ้านแจ้งเบาะแสแล้ว 26 เรื่อง
ใน 26 เรื่องที่มีคนแจ้งเข้ามา แบ่งเป็น ช่องทาง Inbox เพจตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) 8 กรณี และ ช่องทางโทรศัพท์ มีประชาชนแจ้งเบาะแสเข้ามา 18 กรณี
นั่นแสดงให้เห็นว่า ชาวบ้านร้านตลาดต่างรับรู้เรื่อง “พระชั่ว” แต่องค์กรปกครองคณะสงฆ์ “ไม่รู้” หรือ “รู้” แต่ไม่ใส่ใจจะดำเนินการ ซึ่งอาจเกิดได้จากหลายปัจจัยคือเป็นพวกพ้องของตนเอง หรือมีการวิ่งเต้นเพื่อมิให้กระบวนการตรวจสอบทำหน้าที่ ทำให้ถูกตัดตอนหรือที่ศัพท์ในวงการตำรวจใช้คำว่า “เป่าคดี” ให้หายไป
ดังเช่นที่ “อดีตพระมหาไพรวัลย์” พระเปรียญธรรม 9 ประโยค วิพากษ์วิจารณ์อย่างไม่ยั้งว่า “ทีกับกูนี่นะ ขยันส่งจดหมายมาขู่ ขู่กูไม่ได้ก็ไปรังแกรักษาการเจ้าอาวาส… แต่พอกับพระผู้ใหญ่ กลับขวนขวายช่วยเหลือ ปกปิดความชั่วหยาบ กระจอกฉิบ พวกอลัชชี”
ขณะที่ “บิ๊กเต่า-พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว” รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (รอง ผบช.ก.)” ระบุว่า ที่ผ่านมาการทำงานของตำรวจร่วมกับสำนักพุทธฯ มักจะไม่ราบรื่น มีความล่าช้า เนื่องจากสำนักพุทธฯ มีแนวโน้มที่อาจจะปกปิดปัญหา ขาดความเข้มงวดกวดขัน เห็นได้จาก ข้อมูลที่ตำรวจส่งให้เกี่ยวกับความไม่เหมาะสมของพระสงฆ์ มักจะไม่ได้รับการพิจารณาอย่างจริงจัง ทำ
นอกจากนั้น ยังได้ขอความร่วมมือให้สำนักพุทธฯ รวบรวมข้อมูลเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก ของพระสงฆ์กว่า 3 แสนรูปเพื่อนำมาตรวจสอบประวัติว่าเคยมีการกระทำความผิดหรือไม่ รวมทั้ง หลังจากนี้ ตำรวจจะรื้อคดีที่เกี่ยวข้องกับพระสงฆ์ที่เคยถูกสำนักพุทธฯ ถูกปัดตกไป และกองซุกอยู่ใต้โต๊ะ ขึ้นมาปัดฝุ่นใหม่ทั้งหมด
ที่หนักไปกว่านั้นก็คือ การที่ “บิ๊กเต่า” ออกมาระบุถึงข่าวใหญ่ที่เตรียมสั่นสะเทือนวงการสงฆ์อีกคดีซึ่งไม่เกี่ยวกับคดีสีกากอล์ฟด้วยว่า มีบุคคลเข้ามาร้องเรียนเกี่ยวกับพระผู้ใหญ่รูปหนึ่ง ซึ่งมีสมณศักดิ์สูงกว่าพระในคดีสีกากอล์ฟ ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดปาราชิก ซึ่งปล่อยไว้ไม่ได้ จำเป็นต้องจับสึก และเชื่อว่าหากมีการเปิดเผยชื่อ พระรูปดังกล่าวจะทำให้ทุกคนต้องตกตะลึง เนื่องจากเป็นพระที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง
สมณศักดิ์สูงสุดที่บรรดาทิดในคดีสีกากอล์ฟก็คือ “ชั้นเทพ” ซึ่งหมายความว่า พระที่อยู่ในข่ายตามที่ “บิ๊กเต่า” ว่าไว้นั้นจัดอยู่ในระดับไม่ธรรมดา กล่าวคือตั้งแต่ “ชั้นธรรม ชั้นเจ้าคณะรอง” ไปจนถึง “ชั้นสมเด็จ” กันเลยทีเดียว
คำถามก็คือ แล้วพุทธศาสนิกชนคนไทยจะจัดการกับวิกฤตที่เกิดขึ้นกับอย่างไร เพราะถ้าขืนปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป คงไม่ได้มีแค่กรณี “สีกากอล์ฟ” เท่านั้น หากจะมีอีก “หลายสีกา” เกิดขึ้นเป็นแน่แท้ ตราบใดที่ระบบต่างๆ ในการปกครองคณะสงฆ์ยังไม่ได้รับการแก้ไข?
ไม่นับรวมถึงกรณีฉาวโฉ่ก่อนหน้านี้ เช่น กรณีใช้เงินซื้อขายตำแหน่ง อย่างเคสของ “ทิดแย้ม” ก็เคยเอาเงินไปซื้อตำแหน่ง “เจ้าคณะภาค 14” ในจำนวนถึง 15 ล้านบาท หรือจะเป็นการโกงสอบเปรียญธรรม ด้วยการจ้างพระรูปอื่นไปสอบแทน อย่างเคสของ “เจ้าอาวาสวัดดังในเชียงใหม่” สะท้อนให้เห็นว่า สำหรับโล้นห่มเหลืองสายดาร์กบางราย มองเปรียญธรรม เป็นเหมือนใบเบิกทาง สู่การอัปยศสูงๆ และมองความเป็นพระ แค่เป็น “อาชีพ”เอาไว้โกยเงินเท่านั้นเอง
“พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต” แห่งสถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์หรือนิด้า แสดงความเห็นผ่านบทความเรื่อง “แม้กาสาวพัสตร์ศักดิ์สิทธิ์ แต่ใจผู้สวมเสื่อมสมดุล: ว่าด้วยวิกฤตศรัทธาและบทเรียนจากสีกากอล์ฟ” เอาไว้ในบางช่วงบางตอนว่า มหาเถรสมาคมซึ่งควรเป็นศูนย์กลางของธรรมวินัย จำเป็นต้องมีระบบตรวจสอบที่เข้มแข็ง เปรียบได้กับแสงแดดที่ส่องผ่านแก้วใส มองเห็นได้ทุกมุม ไม่ใช่แสงเทียนริบหรี่ที่ลอดผ่านกระดาษบางซึ่งพร้อมจะลุกไหม้ได้ทุกเมื่อ หลักการพื้นฐานอย่างการ พักการปฏิบัติหน้าที่เมื่อมีข้อกล่าวหาร้ายแรง ควรได้รับการตราเป็นหลักเกณฑ์สากล เหมือนกับการให้คนขับรถลงจากพวงมาลัยชั่วคราวเมื่อมีหลักฐานว่าอาจกำลังมึนเมา
ที่สำคัญคือการแก้ไขพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ไม่ใช่เพียงวาระทางกฎหมาย แต่คือภารกิจเร่งด่วนระดับชาติ เสมือนการเร่งซ่อมแซมเขื่อนที่แตกร้าวก่อนที่สายน้ำแห่งความเสื่อมศรัทธาจะไหลทะลักท่วมบ้านเรือนแห่งคุณธรรม หากปล่อยไว้โดยไม่ดำเนินการ โครงสร้างแห่งศาสนาอาจพังครืนลงมาพร้อมกับการสูญสิ้นความไว้เนื้อเชื่อใจของประชาชน
ด้าน “นายสุชาติ ตันเจริญ” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่กำกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) ก็มีความเห็นที่น่าสนใจเช่นกัน พศ. ต้องไปเร่งดำเนินการแก้ไขวิกฤตศรัทธา เพื่อเรียกศรัทธาของสำนักพระพุทธศาสนาคืนจากประชาชน โดยเฉพาะ ผอ.พศจ.ทั่วประเทศต้องทำงานเชิงรุก เพราะตอนนี้ประชาชนได้ถามมาว่า มีบางวัด เจ้าอาวาสประพฤติมิชอบ ชาวบ้านรู้ แต่ทำไม พศ.ถึงไม่รู้
ส่วนนโยบายเกี่ยวกับเรื่องทรัพย์สินของวัด ขอให้มีความโปร่งใส โดยนำระบบ Big data เข้ามาควบคุมทรัพย์สินของวัดและเจ้าอาวาส ทำบัญชีของพระภิกษุสงฆ์ทุกรูปแล้วเปิดเผยให้กับสาธารณชนได้รับรู้ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร มีทรัพย์สินเท่าไหร่ รวมถึงการจัดการทรัพย์สินของวัดต้องเป็นในรูปแบบของคณะกรรมการ โดยเฉพาะสาธารณสมบัติกลาง ให้ประชาชนรับรู้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น พื้นที่ประตูน้ำ เฉลิมโลก เอเชียทีค เพราะประชาชนอยากรู้ว่ามีการหาผลประโยชน์ลับหลังหรือไม่ จะได้ช่วยกันตรวจสอบ
นอกจากนี้ ยังต้องปฏิบัติตามกฎของกระทรวงคือ วัดจะต้องมีเงินสดไม่เกิน 100,000 บาท โดยจะให้ทาง พศ. เข้าไปตรวจสอบอย่างเคร่งครัด
“ทุกวันนี้พระทำผิด เสพเมถุน สีกาทำผิด ไม่มีบทลงโทษ ผมจึงให้นโยบายไปว่า ให้แก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ปี พ.ศ.2505 เพิ่มบทลงโทษกับผู้ที่กระทำผิด เช่น การแต่งกายเลียนแบบพระ การอวดอุตริมนุสธรรม การอ้างเป็นเทพหรือติดต่อเทพต่างๆ ได้ โดยเฉพาะพวกที่เสพเมถุน จะต้องมีการลงโทษทั้งสีกาและพระ โดยจะต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จ เพื่อนำเข้าสู่การทำประชาพิจารณ์ เสนอคณะกรรมการกฤษฎีกาและนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้เห็นชอบหลักการ ซึ่งโทษของการเสพเมถุน จะมีทั้งการจำคุกและโทษปรับ อาจจะต้องจำคุก 1-7 ปี ปรับตั้งแต่หลายหมื่นบาทถึงหลักแสน และนำเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร และหาก สส.เห็นว่าโทษอย่างน้อยเกินไปอาจจะมีการปรับปรุงแก้ไขอีกได้”
นายสุชาติ ยังเปิดเผยด้วยว่า ให้ พศ.ไปตรวจสอบเรื่องการจัดทำวัตถุมงคลเพราะพบว่า วัดบางแห่งกลายเป็นแหล่งฟอกเงินให้พวกที่ค้ายาเสพติดและพนันออนไลน์เพื่อทำวัตถุมงคลออกจำหน่าย
ส่วน “มหาเถรสมาคม(มส.)” ที่ถือเป็นองค์กรปกครองคณะสงฆ์โดยตรง ก็มีความเคลื่อนไหวเช่นกัน โดยในประชุมวาระพิเศษเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2568 ได้มีมติเร่งด่วนแก้ปัญหาความเสื่อมศรัทธา ประสานงานกับตำรวจ สั่งพักงานและปลดพระที่ทำผิดวินัยร้ายแรง กล่าวคือ
หนึ่ง - ประสานงานกับตำรวจและเจ้าคณะผู้ปกครอง: ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ประสานกับกองปราบปรามเพื่อขอข้อมูลและพยานหลักฐานเกี่ยวกับพระภิกษุที่กระทำผิด แล้วส่งต่อให้เจ้าคณะใหญ่ในแต่ละภาค ซึ่งมีหน้าที่เรียกตัวพระภิกษุรูปนั้นมาสอบสวน หากพบหลักฐานชัดเจนให้ดำเนินการให้สละสมณเพศทันที โดยต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วและเด็ดขาด
สอง - พักการปฏิบัติหน้าที่และปลดจากตำแหน่ง: หากพบว่าพระภิกษุมีมูลความผิดทางพระวินัย เจ้าคณะผู้ปกครองสามารถสั่งพักการปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อนได้ และในกรณีที่พระภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ซึ่งเป็นความผิดร้ายแรงรองจากปาราชิก หากดำรงตำแหน่งเจ้าคณะหรือมีสมณศักดิ์ มส. จะดำเนินการปลดจากตำแหน่งและขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตถอดถอนสมณศักดิ์
สาม - เน้นย้ำความรับผิดชอบของพระสังฆาธิการ: กำชับให้เจ้าคณะทุกระดับชั้น รวมถึงพระวินยาธิการ (ตำรวจพระ) ปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจสอบและกำกับดูแลพฤติกรรมของพระภิกษุในปกครองอย่างใกล้ชิด หากพบความผิดให้รีบดำเนินการสอบสวนโดยไม่ชักช้าและรายงานต่อ มส. โดยเร็ว
สี่ - ตั้งคณะกรรมการพิเศษ: มส. จะกราบบังคมทูลสมเด็จพระสังฆราชเพื่อทรงมีพระบัญชาแต่งตั้ง ‘คณะกรรมการพิเศษเพื่อคุ้มครองพระพุทธศาสนา’ ขึ้น เพื่อทบทวนกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับ ‘นิคหกรรม’ (การลงโทษพระภิกษุ) และขั้นตอนการสอบสวนให้ทันสมัย เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน
ห้า - เตือนระมัดระวังการนำเสนอข่าวสาร: ในกรณีที่ยังไม่มีการตัดสินความผิดอย่างชัดเจน ทั้งตามกฎหมายบ้านเมืองและพระธรรมวินัย การเปิดเผยชื่อ ภาพ หรือข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ถูกกล่าวหา อาจเป็นการละเมิดสิทธิและทำให้คณะสงฆ์เสียหายได้ จึงควรระมัดระวังเป็นพิเศษ
และ หก - ยืนยันไม่ปกปิดความผิด: มส. และ พศ. ยืนยันว่าไม่มีนโยบายที่จะช่วยเหลือ ปกปิด หรือบิดเบือนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำผิดวินัยร้ายแรงของพระภิกษุ โดยจะดำเนินการตามหลักพระธรรมวินัยและกฎหมายอย่างเคร่งครัดนอกจากนี้ มส. ยังเสนอแนะให้รัฐบาลพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างและเพิ่มศักยภาพให้แก่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพื่อให้สามารถสนองงานคณะสงฆ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
และแล้วเสียงแซ่ซ้องสาธุการก็ดังกระหึ่มไปทั่วประเทศ เมื่อได้รับคำยืนยันจากปากของ “นายภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ที่เปิดเผยภายหลังการเข้าเฝ้าถวายเครื่องสักการะเนื่องในเทศกาลเข้าพรรษา ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามว่า หนึ่งในพระดำรัสสำคัญของสมเด็จพระสังฆราชในครั้งนี้คือการให้จัดการได้เต็มที่กับพระภิกษุที่ประพฤติเสื่อมเสีย โดยหากเป็นความผิดถึงขั้นปาราชิก ก็ต้องดำเนินการตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้พระพุทธศาสนาเสื่อมเสียในสายตาสาธารณชน
ขณะที่สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ซึ่งได้ร่วมเข้าเฝ้าในครั้งนี้ ก็ได้แสดงความเห็นพ้องว่า รัฐควรนำกฎหมายเดิมที่เกี่ยวข้องกับกิจการคณะสงฆ์มาทบทวนและปรับปรุงให้มีความเข้มงวดมากขึ้น เพื่อให้สามารถจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะจุดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่ปล่อยให้กระแสในสังคมออนไลน์ขยายเกินความเป็นจริง
นี่นับเป็นความเคลื่อนไหวที่สำคัญของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายและการปกครองคณะสงฆ์ไทย ซึ่งคงต้องติดตามกันต่อไปว่า จะสามารถฟื้นฟูศรัทธาให้กลับคืนมาได้มากน้อย แค่ไหน.