xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายชุมชนระดมวางยุทธศาสตร์ ฟื้นฟูทรัพยากร-สวล.เสนอ"สุรยุทธ์"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายวัน - เครือข่ายชุมชนระดมความคิด วางยุทธศาสตร์จัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุโครงการรัฐและแผนพัฒนาภาคเกษตรกรรม ตามแนวทางปฏิวัติเขียว ปัจจัยทำลายล้างที่สำคัญ ชี้ทางออกภาคประชาชนต้องร่วมมือถักทอเครือข่ายเรียนรู้การฟื้นฟู โดยภาครัฐเล่นบทบาทหนุนเสริมให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเอง ให้สิทธิจัดการทรัพยากรในท้องถิ่น เตรียมยื่นข้อเสนอถึงนายกรัฐมนตรีปลายเดือนนี้ พร้อมฝากความหวังการเร่งมือทำคลอด พ.ร.บ.สภาองค์กรท้องถิ่น ให้ทันในยุคครม.ขิงแก่ จะช่วยขยายการฟื้นฟูชุมชนให้เข้มแข็งอย่างเป็นรูปธรรม

ระหว่างวันที่ 10-11 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เครือข่ายองค์กรชุมชน 19 จังหวัดภาคอีสาน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ร่วมกันจัดสัมมนา "ยุทธศาสตร์การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน" ที่เขาแผงม้า อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา เพื่อหาทางออก วางกลไกการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐกับประชาชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 200 คน

ผู้เข้าร่วมสัมมนาซึ่งส่วนใหญ่เป็นแกนนำชุมชนได้ร่วมแลกเปลี่ยนปัญหา ถอดบทเรียนการต่อสู้ในการรักษา ฟื้นฟูทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม จนชุมชนสามารถยืนหยัดพึ่งพาตนเองได้ พร้อมกับลงพื้นที่ฐานการเรียนรู้ปฏิบัติจริงอีกด้วย

การร่วมแลกเปลี่ยนครั้งนี้ แกนนำชุมชน ต่างได้ข้อสรุปตรงกันถึงสภาพปัญหาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมถูกทำลายลงไปอย่างมากว่า ปัจจัยสำคัญเกิดจาก โครงการพัฒนาของรัฐ เช่น การสร้างเขื่อน รวมทั้งการให้สัมปทานทั้งป่าไม้ ภูเขา และ แนวทางการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะแผนการพัฒนาภาคเกษตรกรรมที่เน้นการปฏิวัติเขียว หรือการปลูกพืชเชิงเดี่ยวหรือพืชไร่เพื่อการส่งออก

ผลกระทบจากการปฏิวัติเขียว อาจกล่าวได้ว่า พื้นที่เขาแผงม้า อ.วังน้ำเขียว สถานที่จัดสัมมนาครั้งนี้ เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด เนื่องจากทรัพยากรป่าไม้ถูกทำลายเพื่อปลูกมันสำปะหลังและข้าวโพด ระหว่างปี 2513 - 2536 จนเขาแผงม้ากลายสภาพเป็นภูเขาหัวโล้น กระทั่งปี 2537 - 2545 มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทยฯ ได้เข้าฟื้นฟูปลูกป่า ป้องกันไฟป่า ผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นจากวิทยากรท้องถิ่นอดีตพรานป่า "จากสองมือล่า มาเป็นผู้กอบกู้ ฟื้นฟู และถ่ายทอดความรู้"และความร่วมมือของชุมชนในท้องถิ่นและหน่วยงานรัฐ จนวันนี้เขาแผงม้ากลับคืนความอุดมสมบูรณ์ โดยมีสัตว์ป่าอย่าง เช่น ฝูงกระทิงที่เคยหายไปหวนกลับมาหากินในพื้นที่นี้อีกครั้งเป็นดัชนีชี้วัด

ส่วนบทเรียนจากการต่อสู้กับโครงการของรัฐฯ ที่นำไปสู่การเรียนรู้ให้หวนกลับมาฟื้นฟูทรัพยากรท้องถิ่นจนชุมชนพึ่งพาตัวเองได้ กรณีชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูล ถือเป็นกรณีศึกษาที่คลาสสิก

ปราณี โนนจันทร์ แกนนำแห่งป่าชุมชน ต.คันไร่ อ.สิรินทร จ.อุบลฯ เล่าว่า การต่อสู้เรียกร้องจากรัฐฯเพื่อให้เข้ามาแก้ไขปัญหาผลกระทบจากเขื่อนปากมูลนับตั้งแต่ปี 2530 - 2550 ร่วม 20 ปีแล้ว ยังไม่มีการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ตนเองซึ่งร่วมต่อสู้มาตั้งแต่ต้นจากสันติวิธี จนถึงประท้วงสารพัดรูปแบบเพื่อให้รัฐฯหันมาสนใจแก้ไขปัญหาท่ามกลางความไม่เข้าใจของสังคมและถูกดูหมิ่นเหยียดหยามต่างๆ นานา จนในที่สุดก็ได้คิดและหันกลับมาเรียนรู้ รวมกลุ่มฟื้นฟูทรัพยากรและวัฒนธรรม ซึ่งแง่มุมหนึ่งถือเป็นดอกผลจากการต่อสู้

ปราณี ได้ร่วมกับนักวิจัยท้องถิ่น 22 คน จากตัวแทนชุมชน 16 หมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อน ทำงานวิจัยไทบ้านเพราะต้องการให้ชาวบ้านได้รู้จักตนเอง เรียนรู้ภูมิปัญญาดั้งเดิม หาแนวทางฟื้นฟูป่าเพื่อสร้างฐานชุมชนให้เข้มแข็ง ฯลฯ จนเกิดการฟื้นฟูอนุรักษ์ป่าชุมชน สำหรับเข้าไปใช้ประโยชน์พึ่งพาอาศัยเป็นแหล่งหาอาหาร เช่น ป่าชุมชนบ้านปากบุ่ง ต.คันไร่

นอกจากนั้น ยังมีการทำ "วังปลา" ในแม่น้ำมูล เพราะการสร้างเขื่อนปากมูลทำให้ปลาในแม่น้ำโขง ไม่สามารถขึ้นมาวางไข่ในแม่น้ำมูลได้เหมือนเดิม ทำให้ปลาลดจำนวนลง ความสำเร็จของการทำวังปลา ปัจจุบันนี้มีดัชนีชี้วัดถึงความอุดมสมบูรณ์ของปลาที่หวนกลับคืนมาคือ การพบปลาบึก ซึ่งถือเป็นพญาปลา เมื่อวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา

"ความอุดมสมบูรณ์ที่กลับคืนมาทำให้เลิกคิดถึงการเปิด-ปิดเขื่อน ทำให้ได้เรียนรู้ว่าการแก้ไขปัญหาด้วยการพึ่งพาตัวเองด้วยการฟื้นน้ำ ฟื้นป่า เป็นทางออกที่ดีที่สุดของชุมชน" ปราณี นักต่อสู้แห่งลุ่มน้ำมูล บอกกล่าว แต่เธอก็บอกว่า หน่วยงานรัฐที่อยู่ในพื้นที่ เช่น ประมง ต่างมีส่วนหนุนช่วยให้เกิดผลสำเร็จ

ในการสัมมนาครั้งนี้ เครือข่ายชุมชน มีการทำบันทึกความเข้าใจและข้อเสนอจากภาคประชาชนในการจัดการทรัพยากรร่วมกัน โดยจะร่วมมือกันขยายเครือข่ายออกไปให้กว้างขวาง และเลือกพื้นที่ต้นแบบสำหรับการเรียนรู้แก่ชุมชนอื่นๆ พร้อมกับต่อยอดองค์ความรู้กับภูมิภาคอื่นทั่วประเทศ ขณะที่ภาครัฐ เข้ามาช่วยสนับสนุนในลักษณะ "รัฐหนุน เสริมราษฎร์ เพื่อทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืน"

เร่งทำคลอดพ.ร.บ.สภาองค์กรท้องถิ่น

อย่างไรก็ตาม การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อความอยู่รอดอย่างยั่งยืนของชุมชน แม้จะเกิดการถักทอ เรียนรู้ ถ่ายทอดจากพื้นที่หนึ่งสู่พื้นที่หนึ่ง แต่ในทางความเป็นจริง การขยายเครือข่ายยังมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไปเพราะแต่ละพื้นที่มีเงื่อนไขจำกัดมากมาย ตั้งแต่ภายในชุมชนจนถึงระดับรัฐ การทำคลอดกฎหมายเพื่อเบิกทางให้ชุมชนมีสิทธิขั้นพื้นฐาน ในการจัดการทรัพยากร พร้อมกับกลไกประสานในระดับรัฐและชุมชนและระหว่างชุมชนกับชุมชน จึงถือเป็นเรื่องสำคัญ

สุวัฒน์ คงแป้น หัวหน้าส่วนประชาสัมพันธ์ พอช. กล่าวในงานสัมมนาครั้งนี้ว่า ยุทธศาสตร์การฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นถูกชูมาตั้งแต่ปี 2547 แต่ยังขาดกลไกในการเชื่อมประสาน รัฐบาลชุดนี้ซึ่งเข้ามาบริหารประเทศในยุคปฏิรูปการเมือง คืนอำนาจให้ชุมชนท้องถิ่นมีสิทธิจัดการ ตัดสินใจในทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน อันเป็นหลักการสำคัญที่ถูกบรรจุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ดังนั้น จึงมีการเร่งทำคลอดร่างพ.ร.บ.สภาองค์กรท้องถิ่น ซึ่งเปรียบเสมือนกฎหมายลูกออกมารองรับสิทธิของชุมชน เป็นการคืนอำนาจทางสังคมและอำนาจทางการจัดการทรัพยากร โดยผ่านกลไกของ "สภาตำบล" ที่จะเกิดขึ้นตามพ.ร.บ.ดังกล่าว

เขาบอกว่า พ.ร.บ.สภาองค์กรท้องถิ่น มีเป้าหมายให้เกิดการรวมกลุ่มองค์กรฐานล่างในระดับชุมชน เช่น กลุ่มสวัสดิการ กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มเกษตรไร้สาร ฯลฯ เพื่อคัดเลือกสมาชิกเป็นตัวแทนเข้าร่วมตั้งสภาตำบล และสมัชชาตำบล มาทำหน้าที่ร่วมวางแผนการพัฒนา การใช้ทรัพยากรร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)

สำหรับความคืบหน้าในการผลักดันกม.ฉบับนี้ สุวัฒน์ เล่าว่า เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ที่ผ่านมา คณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ชุดที่ 2 ที่มีนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นประธาน ได้ประชุมพิจารณาร่างกม.ดังกล่าว โดยเห็นพ้องใน 3 ประเด็นสำคัญ คือ 1) กม.ฉบับนี้ขอให้เป็นพลังทางสังคม 2) สำนักงานของสภาตำบลให้ พอช. ทำหน้าที่แทน และ 3) สภาตำบล ควบคุมดูแลโดยสภาจังหวัด และสภาจังหวัดควบคุมดูแลโดยสภาระดับประเทศ ตามลำดับ

ส่วนข้อสังเกตมี 4 ข้อ คือ 1) สิ้นเปลืองงบประมาณหรือไม่ 2) ซ้ำซ้อนกับอำนาจของมหาดไทยหรือไม่ 3) การพิจารณาตัดสินโครงการที่จะลงสู่ชุมชน 4) ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการเมือง

สำหรับคำชี้แจงประเด็นข้างต้น เรื่องงบซึ่งใช้งบฯของพอช. ไม่สิ้นเปลืองเพราะเป็นงานบริหารจัดการเชื่อมประสานเป็นหลัก ส่วนอำนาจไม่ซ้ำซ้อนกับมหาดไทยเพราะเป็นการจัดทำแผนร่วมกัน ในเรื่องการพิจารณาโครงการที่ประชุมสมัชชาตำบลมีหน้าที่ให้ความเห็น ขณะที่ผลกระทบต่อการเมืองนั้น สภาตำบลเป็นการเมืองทางตรง ที่จะหนุนเสริมให้ภาคประชาชนเข้มแข็ง ส่วนด้านเศรษฐกิจซึ่งเกี่ยวโยงกับการจัดสรรทรัพยากรสภาตำบลก็เข้าร่วมวางแผน ด้านผลกระทบต่อสังคม ชุมชนจะเริ่มเปลี่ยนความคิดจากการรอรับมาเป็นการพึ่งตนเอง

สุวัฒน์ กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวจะเข้าสู่คณะกรรมการกลั่นกรองฯ ครั้งที่ 2 ในวันพุธที่ 16 พฤษภาคม จากนั้นจะเข้าสู่ที่ประชุมครม.ในวันอังคารถัดไป หากผ่านการพิจารณา ครม. ก็จะส่งไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา และเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยคาดว่าร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้จะผ่านสภามีผลบังคับใช้ทันในรัฐบาลชุดนี้

อนึ่ง ข้อสรุปจากการหาทางจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ที่เน้นผลเชิงปฏิบัติการจริง ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนายุทธศาสตร์ โครงสร้างกลไกการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชน ที่มีการสัมมนาของเครือข่ายองค์กรชุมชนทั้งหมด 8 ภาค จะมีการนำเสนอในงานสัมมนา "พัฒนายุทธศาสตร์ความร่วมมือในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม" ระหว่างวันที่ 23-24 พฤษภาคม นี้ ที่อิมแพค เมืองทองธานี

งานสัมมนาดังกล่าว พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานเปิดงาน และมีนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เข้าร่วมด้วย ทั้งนี้ เครือข่ายองค์กรชุมชนทั่วประเทศ จะจัดทำข้อเสนอยุทธศาสตร์การจัดการทรัพยากรฯ ต่อนายกรัฐมนตรี ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น