xs
xsm
sm
md
lg

ธุรกิจรพ.เอกชน ตอ.ขยายตัวถึงขีดสุด - ทุกแห่งเร่งขยายศักยภาพรับกลุ่มผู้ป่วย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา -ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเติบโตถึงขีดสุด หลังกลุ่มคนไข้ทั้งในและต่างประเทศขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลทุกแห่งเร่งผุดอาคารใหม่-ขยายงานบริการครบวงจร หวังรองรับกลุ่มคนไข้ที่มีแนวโน้มเติบโตในอนาคต

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์สมชาย พัฒนะเอนก ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมิติเวชศรีราชา กล่าวถึงสถานการณ์ของธุรกิจโรงพยาบาลในพื้นที่จังหวัดชลบุรีและอำเภอศรีราชาว่ามีการเติบโตอย่างต่อเนื่องประมาณ 30 % ต่อปี ถือว่าเติบโตกว่าธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในกรุงเทพฯ ที่มีอัตราเติบโตเฉลี่ยเพียง 20 %ต่อปี เท่านั้น ทั้งนี้สาเหตุที่จังหวัดชลบุรี มีการขยายตัวของกลุ่มคนไข้อย่างต่อเนื่องเป็นเพราะการเป็นพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมและยังมีท่าเรือแหลมฉบัง รวมทั้งการเปิดให้บริการ สนามบินสุวรรณภูมิทำให้เกิดการหลั่งไหลของแรงงานต่างถิ่นเข้ามาในพื้นที่มากขึ้น

ทั้งนี้ ในอนาคตหากผู้ประกอบการไม่เร่งขยายเครือข่ายการให้บริการให้ครอบคลุมก็จะไม่สามารถรองรับจำนวนคนไข้ที่จะเพิ่มมากขึ้นในอีก 1-2 ปีได้ ซึ่งปัจจุบันโรงพยาบาลสมิติเวชศรีราชา มีจำนวนคนไข้นอกวันละประมาณ 700 คน ส่วนผู้ป่วยในประมาณ 80 คน ที่สำคัญก่อนหน้านี้ ยังเปิดให้บริการศูนย์ความงามครบวงจรภายใต้งบลงทุน 30 ล้านบาท เพื่อรองรับกลุ่มผู้รักความงามในพื้นที่ภาคตะวันออก

"คณะผู้บริหารได้พูดคุยถึงทิศทางในอนาคตที่จะขยายพื้นที่การให้บริการ จึงได้เตรียมที่ดินจำนวน 5 ไร่สำหรับลงทุนก่อสร้างอาคารเพิ่มเติมเพื่อรองรับผู้ป่วยในอีก 5-10 ปีข้างหน้า โดยคาดว่าใช้งบประมาณอีก 700 - 800 ล้านบาท ขณะที่การรักษาผู้ป่วยนั้นโรงพยาบาลฯ จะไม่เน้นเรื่องการผ่าตัดให้มีบาดแผลแต่จะใช้วิธีการรักษาด้วยการใช้เลเซอร์หรือกล้องผ่าตัด นอกจากนั้นยังนำอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัยมาให้บริการ เช่น เครื่องเอกซเรย์ด้วยสนามแม่เหล็ก (MRI.) ที่ใช้งบกว่า 50 ล้านบาทอีกด้วย" ผศ.นพ.สมชาย กล่าว

ขณะที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา เผยว่าโรงพยาบาลได้ดำเนินนโยบายสานต่อการเป็น "เมดิคอลฮับ" ในพื้นที่ภาคตะวันออก ที่ผ่านมาจึงทุ่มงบประมาณจำนวน 1,100 ล้านบาท ก่อสร้างอาคาร 15 ชั้น สำหรับรองรับผู้ป่วยอีก 1,800 คนต่อวัน เพื่อให้เป็นศูนย์รวมบริการทางการแพทย์ที่ทันสมัยครบวงจรในภาคตะวันออก หลังจากที่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นศูนย์การแพทย์ในภาคตะวันออก โดยมุ่งเน้นเป็นศูนย์การรักษาโรคยากและซับซ้อน เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ และทางโรงพยาบาลยังมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาโรคอื่นๆ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางของโรงพยาบาลในเครือข่าย รพ.กรุงเทพในภาคตะวันออกทั้งหมด

อาคารแห่งนี้สามารถรองรับผู้ป่วยในได้ถึง 400 เตียงต่อวัน และยังนำเครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัยและระบบทางการแพทย์ชั้นนำมารวมไว้ในอาคารนี้ พร้อมกันนี้ โรงพยาบาลยังเน้นการพัฒนาองค์กร เพิ่มศักยภาพบุคลากร เน้นการบริการให้อยู่ในระดับ International Standard ควบคู่กันไป เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรักษาพยาบาลระดับตติยภูมิ นอกจากนั้นยังให้บริการศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยโรคหัวใจที่สามารถป้องกันและฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจที่ผิดปกติให้กลับมาสู่สภาพปกติ โดยทีมแพทย์โรคหัวใจและแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู คอยแนะนำการออกกำลังกายของผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคลิ้นหัวใจตีบ ลิ้นหัวใจรั่ว เส้นเลือดหัวใจตีบหรืออุดตัน โรคหัวใจล้มเหลวรวมทั้งผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดหัวใจฯลฯ

ด้านโรงพยาบาลเอกชล ซึ่งถือเป็นผู้ประกอบธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกของจังหวัดชลบุรีนั้น เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2549 ได้เปิดให้บริการโรงพยาบาลเอกชล 2 แห่งใหม่ ซึ่งใช้งบประมาณจำนวนหลายร้อยล้านบาท เทกโอเวอร์โรงพยาบาลอีสเทิร์นซีบอร์ดจากแบงก์เจ้าหนี้ที่สนับสนุนเงินกู้ให้แก่กลุ่มแพทย์ในจังหวัดชลบุรี ที่ร่วมกันจัดตั้งบริษัทศุภมิตรเวชการ เพื่อเปิดให้บริการโรงพยาบาลขนาด 225 เตียงตั้ง แต่ปลายปี 2538 แต่สุดท้ายไม่สามารถเปิดให้บริการได้ ซึ่งการเปิดให้บริการโรงพยาบาลเอกชล 2 แห่งใหม่ของกลุ่มผู้บริหารโรงพยาบาลฯ ก็เพื่อรองรับจำนวนกลุ่มผู้ป่วยทั้งในส่วนประกันสังคม และผู้ป่วยทั่วไปที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นโดยรอบจังหวัดชลบุรี

ส่วนโรงพยาบาลพญาไทศรีราชา หลังมีอัตราการเติบโตของยอดคนไข้อย่างต่อเนื่องและสามารถสร้างผลกำไรจากการดำเนินงานในปี 2549 ได้มากถึง 800 ล้านบาท ในปี 2550 จึงเร่งแผนปรับปรุงพื้นที่ภายในโรงพยาบาลทั้งหมดให้มีความสวยงามและทันสมัย ด้วยการทุ่มงบประมาณจำนวน 100 ล้านบาท ปรับพื้นที่ภายในทั้งหมด โดยขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการปรับปรุงพื้นที่บางส่วนบริเวณอาคารผู้ป่วยชั้นที่ 1 แล้ว และคาดว่าจะสามารถพัฒนาให้แล้วเสร็จทั้งอาคารในปี 2550

ที่สำคัญในช่วงที่ผ่านมาโรงพยาบาลแห่งนี้ ยังทุ่มงบประมาณในการพัฒนาเครื่องมือทางการแพทย์ และเปิดศูนย์รักษาโรคครบวงจร ซึ่งในปี 2548 ได้ใช้งบประมาณหลาย 10 ล้านบาท เปิดศูนย์ตรวจสุขภาพครบวงจรอีกด้วย

กำลังโหลดความคิดเห็น