ศูนย์ข่าวขอนแก่น-เตือนนักธุรกิจท้องถิ่นเตรียมรับมือการรุกคืบทุนใหญ่เข้าพื้นที่ชายแดนมุกดาหาร-สะหวันนะเขตหลังสะพานข้ามน้ำโขง 2 เปิดปลายปีนี้ โดยเฉพาะ SMEs อาจกระทบหนักสุด แนะเร่งพัฒนาศักยภาพรวมกลุ่มคลัสเตอร์ลดความเสี่ยงการแข่งขัน หรือปรับตัวเป็นพันธมิตรแลกความอยู่รอด
รศ.รังสรรค์ เนียมสนิท ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวถึงสถานการณ์การค้าการลงทุนในพื้นที่ชายแดนมุกดาหาร-สะหวันนะเขต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว)ภายหลังมีการเปิดใช้สะพานมิตรภาพข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 2ในราวปลายปีนี้ ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดนดังกล่าวครั้งใหญ่
ทั้งนี้ เพราะทุนขนาดใหญ่ทั้งภายในและต่างประเทศจะหลั่งไหลเข้าสู่พื้นที่ชายแดนบริเวณนี้จำนวนมาก เนื่องจากสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งนี้เป็นแลนด์บริดจ์สำคัญ ที่จะเชื่อมการค้าการขนส่งในภูมิภาคให้ทะลุเชื่อมถึงกันได้สะดวก ตามเส้นทางเศรษฐกิจใหม่ แนวตะวันออก-ตะวันตก(East West Economic Corridor: EWEC โดยมีถนนหมายเลข 9 เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ในการขนส่งสินค้าไปยังเมืองท่าด่าหนัง ประเทศเวียดนาม
ประเด็นที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด คือ การปรับตัวของทุนท้องถิ่นที่จะได้รับผลกระทบจากการรุกคืบเข้าไปครองพื้นที่ของกลุ่มทุนใหญ่ที่ถือความได้เปรียบทั้งเงินทุนและเทคโนโลยีที่เหนือกว่า โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs)ต้องเร่งพัฒนาศักยภาพตัวเองให้มีความเข้มแข็ง เตรียมตัวให้พร้อม ที่จะรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้
ทุนท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดชายแดนและจังหวัดใกล้เคียง ต้องผนึกพลังประสานความร่วมมือในรูปแบบของคลัสเตอร์ เพื่อพัฒนาศักยภาพขีดความสามารถให้เพิ่มสูงขึ้น จะต่างคนต่างทำเหมือนอดีตไม่ได้แล้ว เพราะคู่แข่งในตลาดเปลี่ยนไป ต้องศึกษาให้เข้าใจวัฒนธรรมของทุนใหม่เพื่อให้ตั้งรับได้ ซึ่งวิธีการหนึ่งที่จะช่วยลดผลกระทบ คือ การปรับตัวเพื่อเป็นพันธมิตรกับทุนใหม่
รศ.รังสรรค์ แสดงความเห็นว่า ธุรกิจที่จะบูมมากในพื้นที่ชายแดนมุกดาหาร-สะหวันนะเขตในอนาคตอันใกล้นี้คือธุรกิจบริการ ทั้งธุรกิจนำเที่ยวและบริการที่พักโรงแรมตลอดจนร้านอาหารหรือกิจการอื่นๆที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวทางบกในเส้นทางสาย EWEC จะได้รับความสนใจมาก แหล่งท่องเที่ยวทั้งในลาวและเวียดนามยังมีความใหม่คงความเป็นธรรมชาติสูง จะกลายเป็นเป้าหมายใหม่ของบรรดาบริษัทนำเที่ยวที่จะเปิดขายรายการทัวร์
"ฝั่งลาวในแขวงสะหวันนะเขต ตอนนี้ก็เริ่มมีความเคลื่อนไหวของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวบ้างแล้ว ที่ชัดเจนที่สุดคือโครงการก่อสร้างโรงแรมขนาดใหญ่พร้อมบ่อนกาสิโน เป็นการลงทุนของต่างชาติ ที่สร้างขึ้นมารองรับการบูมของธุรกิจท่องเที่ยว ในเส้นทางสายนี้โดยเฉพาะ"รศ.รังสรรค์ระบุ
อย่างไรก็ตาม รศ.รังสรรค์กล่าวอีกว่าจากการได้มีโอกาสเข้าร่วมงานสัมมนา ที่แขวงสะหวันนะเขตเมื่อเร็วๆนี้ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสปป.ลาวหลายท่าน ค่อนข้างวิตกว่า สปป.ลาวอาจจะไม่ได้รับประโยชน์จากการเปิดใช้สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 นี้เท่าที่ควร หวั่นว่าแขวงสะหวันนะเขตหรือลาวตอนกลาง จะเป็นเพียงแค่ทางผ่านของการขนส่งสินค้าและนักท่องเที่ยวระหว่างไทย-เวียดนามเท่านั้น ซึ่งผลกระทบจากประเด็นปัญหานี้เชื่อว่าทางการลาวเองคงหาทางออกไว้เช่นกัน
จากข้อวิตกของฝ่ายลาวดังกล่าว รศ.รังสรรค์กล่าวย้ำว่าฝ่ายไทยในฐานะเพื่อนบ้าน ที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับสปป.ลาวมาโดยตลอดต้องคำนึงถึงข้อกังขาประเด็นนี้เช่นกัน นักลงทุนไทยจะมุ่งตักตวงผลประโยชน์จากทรัพยากรของลาวแต่ฝ่ายเดียวไม่ได้ ทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องดำเนินการ ภายใต้หลักการหุ้นส่วนที่ดีร่วมกัน พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน
"กรณีนโยบายคอนแทรกต์ ฟาร์มมิงก็เช่นกันที่ไทยต้องการช่วยเหลือสินค้าเกษตรจากลาว แต่ทั้งนี้ในทางปฏิบัติต้องไม่ทำอะไรที่ไปกระทบจิตใจเขา อย่ากดให้เขาปลูกเพื่อส่งขายให้เราอย่างเดียว ต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต การเพิ่มมูลค่าให้เขาด้วย ไม่อย่างนั้นจะทำให้เขารู้สึกว่าด้อยกว่าเรา"รศ.รังสรรค์กล่าว