xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์”กระตุ้นชาวบ้านผนึกกำลัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หลังจากที่พ.ร.บ.คุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ.2546 ได้มีผลบังคับใช้มาแล้วตั้งแต่ปี 2546 แต่จนถึงขณะนี้ ผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ยังตื่นตัวในการปกป้องรักษาและคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์น้อยมาก เมื่อเทียบกับจำนวนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่มีอยู่มากมายในประเทศไทย
เหตุผลในการจดทะเบียนคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์น้อย ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าคนยังไม่รู้ว่าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ช่วยอะไรได้บ้าง ทั้งๆ ที่ สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าของท้องถิ่น สินค้าของชุมชนได้เป็นอย่างดี
เพื่อให้เกิดภาพชัดเจน อยากจะทำความเข้าใจก่อนว่าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์คืออะไร โดยสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่ง มีลักษณะคล้ายเครื่องหมายการค้า แต่มีลักษณะพิเศษ คือเป็นชื่อสินค้าที่มีความเชื่อมโยงลักษณะพิเศษของสินค้ากับธรรมชาติ ท้องที่หรือพื้นที่ และคนในชุมชน
หมายความว่า ชุมชนได้อาศัยลักษณะเฉพาะที่มีอยู่ในแหล่งภูมิศาสตร์มาใช้ประโยชน์ในการผลิตสินค้าในท้องถิ่นของตน ผนวกกับทักษะความชำนาญ และภูมิปัญญาของชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ หรือแหล่งภูมิศาสตร์นั้น ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะพิเศษของสินค้าขึ้น เช่น แชมเปญของประเทศฝรั่งเศส ซิการ์ฮาวานา ของประเทศคิวบา เป็นต้น
สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ต่างจากทรัพย์สินทางปัญญาประเภทอื่นตรงที่ ผู้เป็นเจ้าของไม่ใช่บุคคลหนึ่งบุคคลใด แต่เป็นกลุ่มชุมชนที่เป็นผู้ผลิต หรือผู้ประกอบการในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์นั้นๆ ส่วนการคุ้มครองจะเป็นการคุ้มครอง “สิทธิชุมชน” ผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการอื่นที่อยู่นอกเหนือแหล่งภูมิศาสตร์จะไม่สามารถใช้ชื่อแหล่งภูมิศาสตร์สินค้าแบบนั้นได้
นายคณิสสร นาวานุเคราะห์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า จากการสำรวจของกรมฯ พบว่า ปัจจุบันมีสินค้าที่น่าจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์รวมทั้งสิ้น 345 รายการ ใน 75 จังหวัด แต่กลับมีสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเพียง 9 รายการ ได้แก่ ส้มโอนครชัยศรี มะขามหวานเพชรบูรณ์ ข้าวสังหยดเมืองพัทลุง หมูย่างเมืองตรัง กาแฟดอยตุง ไวน์ที่ราบสูงภูเรือ ส้มโอขาวแตงกวาชัยนาท หอยนางรมสุราษฎร์ และสับปะรดศรีราชา ส่วนของต่างประเทศที่มาขอขึ้นทะเบียนในไทยมี 1 รายการ คือ สุราพิสโกจากประเทศเปรู
ทั้งนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาคำขอขึ้นทะเบียนอีกหลายรายการ เช่น ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ข้าวหอมมะลิสุรินทร์ ผ้าตีนจกแม่แจ่ม ครกหินอ่างศิลา จักสานพนัสนิคม และคำขอของต่างประเทศ เช่น แชมเปญ และคอญยัค ของฝรั่งเศส เป็นต้น
“กรมฯ ต้องการกระตุ้นให้ชุมชนที่เป็นเจ้าของสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ นำสินค้าที่เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของตนมาขึ้นทะเบียน เพื่อให้ได้รับความคุ้มครอง ซึ่งการขึ้นทะเบียน จะทำให้เฉพาะคนในพื้นที่เท่านั้นที่จะสามารถผลิตสินค้าโดยใช้ชื่อแหล่งภูมิศาสตร์นั้นๆ ได้ ส่วนคนนอกพื้นที่ไม่มีสิทธิ์ใช้ ถือเป็นการรักษาสิทธิ์ที่พึงมีพึงได้”นายคณิสสรกล่าว
ยกตัวอย่าง เช่น มะขามหวานเพชรบูรณ์ จะใช้ได้เฉพาะมะขามที่ผลิตในจังหวัดเพชรบูรณ์ ที่มีขบวนการผลิต และการเก็บรักษาตามที่ตกลงไว้ หากบุคคลอื่นใช้คำดังกล่าวเพื่อแสดงหรือทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อหรือเข้าใจผิดว่า สินค้าของตนเป็นสินค้าที่ผลิตจากจังหวัดเพชรบูรณ์แล้ว ถือว่าเป็นการใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์โดยมิชอบ ซึ่งเป็นความผิด และต้องรับโทษตามกฎหมาย
การจดทะเบียนคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ไม่เพียงแต่เป็นการคุ้มครองสิทธิ์ของชุมชนในการผลิตสินค้า แต่ยังเป็นการกระตุ้นให้ผู้ผลิตในท้องถิ่นมีความต้องการพัฒนาคุณภาพสินค้าที่ผลิตในท้องถิ่นให้ดียิ่งขึ้น และรักษาภาพพจน์สินค้าที่ผลิตจากท้องถิ่นตน เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาการค้า อีกทั้งยังถือเป็นการสร้าง “แบรนด์สินค้าของชุมชน” เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าได้มากขึ้น
สำหรับการขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ก็ทำได้ไม่ยาก เพราะสินค้าที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นถือเป็นสิทธิของชุมชน ผู้ขอขึ้นทะเบียนจะเป็นส่วนราชการ ผู้ประกอบการ หรือผู้บริโภคในท้องถิ่นก็ได้ แต่ผู้มีสิทธิ์ใช้ชื่อส่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ คือ ผู้ผลิต และผู้ประกอบการที่อยู่ในท้องถิ่นนั้นๆ
เมื่อได้รับการขึ้นทะเบียนแล้วก็จะได้รับความคุ้มครองตลอดไปโดยไม่มีกำหนดระยะเวลา เหมือนทรัพย์สินทางปัญญาประเภทอื่น เว้นแต่ปรากฏเหตุใดเหตุหนึ่งในภายหลัง เช่น สภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปทำให้ไม่สามารถคงคุณภาพของสินค้าต่อไปได้ หรือไม่มีการผลิตสินค้าในพื้นที่ดังกล่าวอีกต่อไป
จะว่าไปแล้ว การขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ มีประโยชน์อย่างเห็นได้ชัด เพราะทำให้ท้องถิ่นหรือชุมชนที่ผลิตสินค้าอย่างใดอย่างหนึ่ง มีสิทธิ์ใช้ชื่อนั้นๆ ในการผลิตสินค้า และยังสามารถใช้เป็น “แบรนด์ชุมชน” ในการโปรโมตขายสินค้าได้ ซึ่งทำให้สินค้าที่ผลิตจากชุมชนหรือท้องถิ่นนั้นๆ ได้รับความเชื่อถือ และส่งผลให้ขายสินค้าได้ดีขึ้น
ดังนั้น หากชุมชนใด ท้องถิ่นใด ที่มีการผลิตสินค้า ก็ควรที่จะเร่งขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เพื่อให้ได้รับความคุ้มครอง เพราะในอนาคต หากสินค้าติดตลาด และได้รับความนิยม อาจมีมือดีฉวยโอกาสเอาชื่อทางภูมิศาสตร์ไปใช้ในการผลิตสินค้า ซึ่งจะทำให้คนในชุมชนซึ่งเป็นเจ้าของตัวจริงเสียงจริงต้องเสียหายทางธุรกิจ และอาจต้องไปต่อสู้ฟ้องร้องกัน ยิ่งจะเสียเวลาไปใหญ่ สู้หาทางป้องกันและใช้ประโยชน์จากมันด้วยการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ตั้งแต่เนิ่นๆ น่าจะดีกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น