xs
xsm
sm
md
lg

กกต.เล่นแง่ขออยู่ต่อ ให้ศาลชักใบเหลือง-แดง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กกต.ยังเกาะเก้าอี้แน่น ระบุคำวินิจฉัยศาลรธน.ไม่ได้บอกว่ากกต.ไม่สุจริต ตรงกันข้ามย้ำชัดว่าการเปลี่ยนรูปแบบจัดคูหา มีเจตนาสุจริตมุ่งให้เกิดความเที่ยงธรรม ขณะเดียวกันเสนอแนวทางรอมชอมขอความร่วมมือศาลตั้ง กก.เข้าช่วยงาน กกต.ดูเรื่องพิจารณาใบเหลือง-แดง ส่วนระดับพนักงานกกต.ชี้การที่กกต.ยังไม่ลาออกเพราะกลัวถูกกกต.ใหม่เช็คบิลย้อนหลัง ทั้งเรื่องใช้งบประมาณไม่ถูกต้อง เขียนคำวินิจฉัยไม่แล้วเสร็จ วงในเผย กกต.ดื้อด้าน อาจดึงเวลารอฟันคดีอาญา ประเดิมดดี "ถาวร-หมอนิรันดร์"ฟ้อง 4 กกต.ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ เอื้อประโยชน์พรรคใหญ่ ด้านปชป.ย้ำหากกกต.ยังเดินหน้าลากตั้งเจอวิบากกรรมแน่ ขณะที่โพลชี้เด็กและเยาวชนในกทม.คิดว่าหากตัวเองเป็นกกต.จะลาออกทันทีหลังจากศาลรธน.ชี้เลือกตั้งมิชอบ

หลังจากที่ประชุม 3 ศาล เสนอแนะแนวทางการจัดการเลือกตั้งต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ใน 2 แนวทาง คือให้กกต.เสนอเรื่องขอความช่วยเหลือมายังศาล โดยใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 145(2) หรือ อีกทางหนึ่งคือให้ กกต.เสียสละด้วยการลาออก เพื่อให้มีการสรรหากกต.ชุดใหม่มาจัดการเลือกตั้งนั้น

มีรายงานข่าวว่า ในประเด็นนี้ กกต.ทั้ง 4 คน ได้หารือในเบื้องต้น ต่างเห็นตรงกันว่า น่าจะเลือกแนวทางแรก คือ ขอความช่วยเหลือไปยังศาล โดยกกต.ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 และ 145(2) ที่ระบุให้กกต.มีคำสั่งให้ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ปฏิบัติการทั้งหลายอันจำเป็นตามกฎหมาย มาตรา 144 วรรคสอง แต่ยังไม่เป็นที่ยุติเพราะกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาว่า การขอความช่วยเหลือจากศาลนั้น จะให้เข้ามาดูแลในประเด็นใดบ้าง

"จากที่ กกต.พูดคุยกัน คือให้ศาลเข้ามาดูแลในเรื่องการพิจารณาคำร้อง และสำนวนการพิจารณาใบเหลือง ใบแดง ไปเลยเช่น ถ้าหากการเข้ามาของศาลเป็นในรูปของคณะกรรมการ เมื่อพิจารณาสำนวนการร้องเรียนต่างๆ แล้ว เห็นว่าควรจะเป็นแดง เป็นเหลือง ที่ประชุมกกต.ก็จะมีความเห็นตามนั้น แล้วกกต.ทำหน้าที่ในเรื่องการจัดการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว เพราะถ้าให้ศาลเข้ามาร่วมในเรื่องของกระบวนการจัดการเลือกตั้งด้วย ศาลอาจจะไม่ถนัดนัก แต่ถ้าศาลเข้ามาช่วยในเรื่องของการพิจารณา ใบเหลือง ใบแดง การจัดการเลือกตั้งก็ยังสามารถดำเนินต่อไปได้ ขณะเดียวกันก็ลดกระแสกดดันจากสังคมที่ต้องการให้ กกต.ลาออกได้ด้วย แต่ก็เกรงว่าศาลอาจจะไม่ยอมเช่นกัน" แหล่งข่าว ระบุ

ทั้งนี้ แหล่งข่าวยังระบุถึงเหตุที่ กกต.มองว่าแนวทางดังกล่าวเป็นทางออกที่ดีที่สุดในขณะนี้ ว่า หาก กกต.ลาออก จะเกิดปัญหาเกี่ยวกับการสรรหาใหม่ ซึ่งต้องอาศัยเวลานานกว่าจะได้กกต.ชุดใหม่ เพราะเมื่อย้อนกลับไปดูกรณีการเสียชีวิตของ นายจรัล บูรณะพันธุ์ศรี อดีต กกต.ที่ขณะนั้นสมัยประชุมเปิดอยู่ทั้ง 2 สภา แต่จนขณะนี้ก็ยังไม่สามารถหาคนมาดำรงตำแหน่งได้ รวมทั้งอาจจะมีการโต้แย้งว่า การจะให้ กกต.ทั้ง 5 คน มีที่มาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาทั้งหมดนั้นจะขัดกับรัฐธรรมนูญ

"ที่สำคัญในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญใน 2 ประเด็น ที่นำไปสู่การเพิกถอนการเลือกตั้ง ไม่มีตรงไหนที่เขียนว่า กกต.ใช้อำนาจโดยไม่สุจริต โดยที่เกี่ยวกับการให้ความเห็นเรื่องระยะเวลาจัดการเลือกตั้ง จนนำไปสู่การกำหนดวันเลือกตั้ง 2 เม.ย.นั้น คำวินิจฉัยก็เขียนชัดว่า แม้พ.ร.ฎ.ยุบสภา จะตราขึ้นตามรัฐธรรมนูญ และกกต.จะได้ดำเนินการเลือกตั้งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้ง ทำให้เกิดผลของการเลือกตั้งที่ไม่เที่ยงธรรม ขณะที่ในประเด็นเรื่องคูหา ก็ยิ่งชัดว่าก่อนที่กกต.จะมีมติให้มีการจัดคูหาแบบใหม่ ได้ศึกษาข้อดี ข้อเสีย รวมทั้งข้อร้องเรียนต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการจัดดคูหาแบบเดิม และศึกษาดูงานในต่างประเทศ แสดงถึงเจตนาของ กกต.ในการจัดหารูปแบบใหม่โดยสุจริต และมุ่งหมายให้เกิดความเที่ยง ดังนั้น กกต.ไม่ได้มีความผิดอะไร และเชื่อว่าการสู้คดีอาญาต่างๆ ที่ฟ้องร้องกกต.นั้น กกต.สามารถนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไปยืนยันให้ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและอาญาได้เหมือนกัน"

**กกต.มีชนักติดหลังเพียบ

อย่างไรก็ตาม ก็มีรายงานว่า สาเหตุที่ทำให้ กกต.ยังไม่ตัดสินใจลาออก ยังมีเรื่องของกรณีการใช้งบประมาณต่างๆ ไปอย่างไม่ถูกต้อง กรณีคำวินิจฉัยในคดีต่างๆ ที่ยังไม่ได้เขียน และยังไม่มีการลงนามอีกจำนวนมาก ทั้งที่ได้มีมติ มีการเพิกถอน หรือมีการเลือกตั้งใหม่ไปแล้ว ซึ่งประเด็นเหล่านี้ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในหมู่พนักงาน กกต.ว่าหากลาออกไปตอนนี้ กกต.ชุดใหม่ที่เข้ามาทำหน้าที่ อาจจะถูกเช็คบิลย้อนหลังได้

ขณะเดียวกันก็มีรายงานว่า ในการหารือของที่ประชุม3 ศาล ค่อนข้างชัดแจนว่า ต้องการให้กกต.ลาออกทั้งหมด และไม่รับแนวทางการตั้งคณะกรรมการเข้าไปช่วยงาน กกต.ซึ่งหากที่สุดกกต.ไม่ยอมลาออก ก็อาจจะมีการยื้อเวลาไปจนถึงการพิจารณาคดีที่ นายถาวร เสนเนียม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และนพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ส.ว.อุบลราชธานี ฟ้องดำเนินคดีอาญาต่อ กกต.ทั้ง 4 คน โดยนายถาวร ฟ้องกล่าวโทษ กกต.ในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จากกรณีที่ กกต.มีคำสั่งให้เปิดรับสมัครใหม่ในการเลือกตั้งรอบ 2 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 23 เม.ย. ซึ่งศาลได้รับฟ้อง และนัดไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 29 พ.ค.นี้ ซึ่งนายถาวร ยังได้ฟ้องเพิ่มในประเด็น กกต.ให้ความเห็นระยะเวลาการจัดการเลือกตั้งจนนำมาสู่การกำหนดวันเลือกตั้ง 2 เม.ย.ที่ไม่ชอบธรรม และการจัดคูหาลงคะแนนที่ไม่เป็นความลับ

ส่วนคดีของ นพ.นิรันดร์ เป็นการฟ้องกกต.ฐานกระทำผิดตามมาตรา 24 ของพ.ร.บ.กกต. คือ กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่เพื่อเป็นคุณหรือโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด ซึ่งศาลรับฟ้อง และนัดไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 5 มิ.ย.นี้

นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า ในการไต่สวนที่จะมีขึ้น ตนจะนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการให้ความเห็นเรื่องการกำหนดวันต่อรัฐบาล และจะอ้างอิงคำวินิจฉัยศาลรธน. ซึ่งคิดว่าคดีดังกล่าวศาลน่าจะพิจารณา และตัดสินคดีโดยเร็วได้เพราะพยานหลักฐานชัดเจน และคำวินิจฉัยของศาลรธน.ก็ผูกพันทั้งหมด ซึ่งหากศาลยุติรรมตัดสินว่า กกต.มีความผิด ก็จะมีโทษตามมาตรา 42 ของ พ.ร.บ.กกต.ที่กำหนดว่า ผู้ใดฝ่าฝืน มาตรา 24 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 10 ปี ดังนั้นกกต.ก็จะไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้

นายคมสัน โพธิ์คง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า การพิจารณาคำฟ้องทั้ง 2 คดี ของศาล จะไปสู่การวินิจฉัยว่า จะรับคำฟ้องดังกล่าวไว้พิจารณาหรือไม่ ถ้าประทับรับฟัอง เท่ากับกกต.เข้าสู่การเป็นจำเลยทันที และถ้าศาลพิจารณาคดีต่อเนื่อง คิดว่าคงจะมีคำพิพากษาออกมาโดยเร็ว เพราะศาลรัฐธรรมนูญ ก็ได้มีคำวินิจฉัยไว้แล้ว เรียกว่าพยานหลักฐานต่างๆในเชิงข้อกฎหมายมีอยู่ครบถ้วนแล้ว ศาลเพียงแต่พิสูจน์เจตนาของ กกต.ว่าที่ทำไปทั้งหมดนั้นสุจริตหรือไม่เท่านั้น ถ้าเห็นว่าไม่สุจริต กกต.ก็มีสิทธิติดคุก

**ไล่สื่อไปอ่าน ม.138 ม.145 ให้ดี

พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกรัฐมนตรี รักษาการนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ ฝ่ายค้านมองว่า รัฐบาลกับกกต.จะรีบกำหนดวันเลือกตั้งเพื่อเลี่ยงการปลดล็อก 90 วัน ว่า ไม่มี เราไม่เคยไปคบคิดอย่างนั้น การที่ฝ่ายค้านต้องการให้ขยายเวลาให้เกิน 90วันนั้น ขอให้ไปดูคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ดี ว่ากำหนดไว้กี่วัน ทุกอย่างก็ต้องเป็นไปตามคำวินิจฉัย และว่ากันไปตามกฎ กติกา

เมื่อถามว่า การใช้มาตรา 138(3) กับ มาตรา 145 ของรัฐธรรมนูญ อะไรจะเป็นทางแก้ปัญหาได้ดีกว่ากัน พล.ต.อ.ชิดชัย กล่าวว่า ขอให้ไปถามนักกฎหมายก่อน เพราะตนไม่ทราบว่า มาตรา 138 นั้นกฎหมายอะไร และมาตรา 145 เป็นกฎหมายอะไร เมื่อถามว่า เป็นมาตราในกฎหมายรัฐธรรมนูญ พล.ต.อ.ชิดชัย กล่าวว่า ไม่ใช่ ไปดูให้ดีๆก่อน อย่ามาถามสับสน เมื่อถามว่าทางเลขาธิการศาลฏีกา ระบุว่า หาก กกต.ยังดึงดันอยู่ในตำแหน่งต่อไป อาจกลับเข้าสู่ทางตันอีก พล.ต.อ.ชิดชัย กล่าวว่า ตนไม่ได้ยินด้วยตนเอง อย่าจับคำพูดมาต่อๆกันแล้วมาถาม เดี๋ยวทะเลาะกันตาย

ร.ท.กุเทพ ใสกระจ่าง ฝ่ายกฎหมายพรรคไทยรักไทย กล่าวว่า เรื่องคำวินิจของศาลรัฐธรรมนูญทุกคนอ่านเข้าใจตรงกันให้ องค์กรที่เกี่ยวข้องจัดการเลือกตั้งไปปรึกษาหารือกัน เพื่อกำหนดวันเลือกตั้งภายใน 60 วัน ตามที่เราทราบและเป็นเรื่องที่ทุกพรรคเคยพูดว่า จะเคารพ จะปฏิบัติตาม แต่มาวันนี้เห็นแล้ว 3 พรรคการเมืองใหญ่ ประชาธิปัตย์ ชาติไทย มหาชน ไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยนี้ โดยเมื่อ กกต.เป็นคนเชิญไปปรึกษาหารือตกลงกันเพื่อตกลงกำหนดวันเลือกตั้ง ก็ปฏิเสธที่จะเข้าร่วม

เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ไม่ว่ากรณียุบสภา หรือครบวาระ ก็ต้องการให้มีสภาผู้แทนราษฎรโดยเร็ว จะเห็นว่า กรณีครบวาระ ต้องเลือกตั้งภายใน 45 วัน กรณียุบสภา ต้องเลือกตั้งภายใน 60 วัน เพราะไม่ประสงค์ต้องการมีรัฐบาลรักษาการยาว ตอนนี้พรรคไทยรักไทย เป็นรัฐบาลรักษาการก็ไม่อยากอยู่นาน เพราะมีผลต่อเศรษฐกิจ ต้องการที่มีรัฐบาลอำนาจเต็มมาบริหาร เราพยายามทำให้มีการเลือกตั้งในเวลาที่เหมาะสม คำวินิจฉัยก็ถูกต้อง แต่บางพรรคเล่นเกมดึงดัน ไม่รู้ต้องการอะไร ถ้าต้องการยืดเวลาปลดล็อกอย่างที่พูดกัน ก็ต้องบอกกันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องเข้าไปแก้ไขในการปฏิรูปการเมือง

"แต่ถ้าจะใช้วิธียืดเวลาออกไป เพื่อวัตถุประสงค์ตรงนี้ต้องบอกว่า เป็นวีธีการของศรีธนญชัย ดื้อดึงลากไป ทำให้บ้านเมืองเสียหาย พรรคไทยรักไทย ไม่กลัวจะปลดล็อก เพราะเราเชื่อว่า สมาชิกพรรคไทยรักไทยไม่มีใครเดินออกจากพรรคนี้ เรารู้ แต่เราไม่ต้องการให้ใช้วิธีศรีธนญชัย เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของตัวเอง ต้องเคารพคำวินิจฉัยที่เป็นลายลักษณ์อักษร ส่วนความเห็นของศาลที่พูดออกมานอกเวที นอกคำวินิจฉัย ก็เป็นความเห็นที่เราเคารพ แต่มันไม่ใช่ฐานของกฎหมายทำอย่างนี้นอย่างนี้ได้ ขอเรียกร้อง กลับเข้ามาสู่วิถีทางเข้ามาช่วยการผ่าทางตันทางการเมือง การตัดสินใจของ 3 พรรค ส่อไม่เคารพคำวินิจฉัยของศาล" นายกุเทพ กล่าว

**ซัดกกต.ไร้สำนึก ท้าทายอำนาจศาล

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงกรณีพรรคมีมติไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมกับ กกต.เพื่อกำหนดวันเลือกตั้ง ในวันที่ 15 พ.ค.นี้ ว่า ไม่ได้เป็นการแสดงอาการดื้อดึง หรือขัดขวางการเลือกตั้งแต่อย่างได และไม่มีเจตนาเหนี่ยวรั้งให้การเลือกตั้งเกินกว่า 90 วัน เพราะการกำหนดวันเลือกตั้ง เป็นอำนาจของรัฐบาลและ กกต.ที่จะพิจารณาให้เกิดความเหมาะสม

มติของพรรคได้พิจารณาจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 9/2549 เมื่อวันที่ 8 พ.ค.49 ที่ระบุไว้หลายช่วงหลายตอน ว่า การจัดการเลือกตั้งของ กกต.บกพร่องหลายประการ เป็นเหตุผลให้ กกต.ชุดนี้หมดความชอบธรรมที่จะเข้ามาจัดการเลือกตั้ง กกต.จึงต้องแสดงความรับผิดชอบก่อนที่จะมาเริ่มต้นกระบวนการเลือกตั้ง

"กกต.ควรจะปฏิบัติตามคำแนะนำของ 3 ศาล ด้วยการเสียสละ ไม่สมควรปฏิบัติหน้าที่ต่อไป แต่ กกต.ไม่ฟัง ยังเดินหน้าจัดการเลือกตั้ง ท้าท้ายอำนาจของทั้ง 3 ศาล อย่างไม่สะพรึงกลัวไดๆ ทั้งสิ้น จึงอยากถามว่า สาเหตุที่ทั้ง 3 ศาลเข้ามาช่วยแก้วิกฤติของชาติครั้งนี้ เกิดจากศาลว่างงาน หรือไม่มีอะไรทำ ไม่ใช่แน่นอน แต่เกิดจากพฤติกรรมของกกต.ทั้งสิ้น จน 3 ศาล ต้องลุกขึ้นมาประชุมเพื่อแก้วิกฤติของชาติ และไม่เข้าใจว่าทำไม กกต.จึงได้กระทำการอันมิบังควร เดินหน้าจัดการเลือกตั้งโดยไม่แสดงความสำนึก และไม่ยอมเปลี่ยนแปลงอะไร" นายองอาจ กล่าว และว่าหาก กกต.ยังเดินหน้าจัดการเลือกตั้งต่อไป เชื่อว่าองค์กรต่างๆ และภาคประชาชน จะไม่ปล่อยให้ กกต.จัดการเลือกตั้งอย่างแน่นอน

นายนิกร จำนง รองหัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวยืนยันถึงกรณีที่พรรคชาติไทยจะไม่ส่งตัวแทนร่วมหารือกับ กกต. เพื่อกำหนดวันเลือกตั้ง ว่า พรรคไม่ได้มีปัญหาในเรื่องการส่งคนเข้าสู่สนามเลือกตั้ง แต่พรรคชาติไทยกำลังมองเรื่องการเลือกตั้งโดยรวม ว่าจะเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ ยุติธรรมอย่างไร เนื่องจากเป็นการแก้ไขปัญหาการเมืองของประเทศ ทั้งนี้ นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย จะแถลงข่าวด้วยตัวเองในเวลา 10.00 น. วันจันทร์ที่ 15 พ.ค.นี้ ถึงเหตุผลของการที่พรรคชาติไทยไม่ส่งตัวแทนไปร่วมประชุมกับกกต.รวมทั้งจะเสนอทางออกการเลือกตั้งใหม่ที่จะมีขึ้นด้วย

**อ้างใช้ ม.138(3) อาจถูกศาล รธน.เช็กบิล

นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตตัวแทนของพรรคในการเป็นคณะกรรมการสรรหา กกต. แทนที่นายจรัล บูรณพันธุ์ศรี กกต.ที่เสียชีวิต เมื่อปี 48 กล่าวถึงกระบวนการสรรหาในตอนนั้นว่า หลังจากที่นายจรัล เสียชีวิตนายสุชน ชาลีเครือ ประธานวุฒิสภา ได้เรียกกรรมการสรรหาฯ มาประชุมหารือกันถึงกระบวนการสรรหา ซึ่งในส่วนของที่ประชุมก็ได้มีการหารือกันถึงสองครั้ง โดยประชุมกับกรรมการเท่าที่มีอยู่ เพราะในขณะนั้นขาดประธานศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ในการประชุมครั้งที่สองทางกรรมการสรรหาฯเกือบทั้งหมดเห็นตรงกันว่าไม่สามารถดำเนินการสรรหาได้ เพราะไม่ครบองค์ประกอบตามรัฐธรรมนูญ จึงได้เสนอให้ประธานวุฒิสภา ส่งเรื่องให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเร่งดำเนินการรัฐธรรมนูญมาตรา 138 (3)ที่เสนอให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเสนอชื่อแทนจนครบจำนวน

"ตอนนั้นกรรมการสรรหาส่วนใหญ่เสนอว่า ถ้าจะเสนอเป็นมติของที่ประชุม จะเป็นการไม่สมควร เนื่องจากองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาไม่ครบ ทำให้จึงยุติภารกิจของไว้แค่นั้น โดยทำได้เพียงแค่แจ้งให้นายสุชนทราบ เพื่อใช้ดุลยพินิจในการดำเนินการต่อ แต่สำหรับความเห็นส่วนตัวมองว่า ตามหลักของกฏหมายควรจะตีความจากกฏหมายให้เกิดประโยชน์ที่สุด และรัฐธรรมนูญ มาตรา 138 ก็ได้กำหนดไว้ชัดเจนในเรื่องการสรรหาใน (3) แล้ว"นายชำนิกล่าว

ขณะที่นายไสว พราหมณี รักษาการ ส.ว.นครราชสีมา กล่าวว่า หากจะมีการสรรหาโดยศาลฎีกาทำหน้าที่แทนกรรมการสรรหา ตนมองว่าอาจจะใช้เวลามาก เนื่องจากอาจจะมีผู้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า เมื่อกรรมการสรรหายังไม่เกิดขึ้น ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จะทำหน้าที่แทนได้หรือไม่ จนทำให้การเลือกตั้งล่าช้าออกไปอีก ดังนั้น เห็นว่าควรให้ กกต.ชุดนี้จัดการการเลือกตั้งต่อไป

นายการุณ ใสงาม รักษาการ ส.ว.บุรีรัมย์ กล่าวว่า ในกระบวนการสรรหากกต.แทนที่นายจรัล ในขณะนั้นถือว่าในปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 138(1) เสร็จสิ้นแล้ว เนื่องจาก นายอักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด ก็ในออกมาระบุชัดเจน ณ ตอนนั้น แล้วว่าไม่สามารถดำเนินการสรรหาได้ เพราะฉะนั้นสามารถดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 138 (3)ได้เลย โดยให้ประธานวุฒิสภาแจ้งให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้รับทราบ แต่นายสุชน ก็ไม่ยังไม่เร่งดำเนินการ แต่กลับไปเสนอให้รัฐบาลดำเนินการแก้รัฐธรรมนูญในเรื่องขององค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหา เพราะเห็นว่า กกต.มี 4 คน ก็ยังสามารถทำงานได้ ซึ่งถือเป็นการวินิจฉัยเอาเองของนายสุชน ที่ไม่สามารถเอามาใช้เป็นบรรทัดฐานได้

"ยอมรับว่าตอนนั้นเป็นระยะเวลาของการปิดสมัยประชุมรัฐสภา จึงทำให้ไม่สามารถเอาเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมเพื่อหารือกับสมาชิกได้ แต่แทนที่นายสุชนมองเห็นแล้วว่าไม่แน่ใจในเรื่องอำนาจหน้าที่ ก็ควรที่จะเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสามารถทำตาม (3) ได้เลยหรือไม่ ไม่ใช่มาสรุปเอาเองแบบนี้" นายการุณ กล่าว

การที่ ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลปกครอง ได้ร่วมกันหารือ แล้วให้ความเห็นว่าสามารถใช้มาตรา 138(3) ได้เลย ถ้ามีการเสียสละเกิดขึ้น ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่า ศาลฎีกา พร้อมที่จะดำเนินการตาม (3) ทันที ดังนั้นกระบวนการสรรหาไม่ล่าช้าอย่างแน่นอน แต่มีนักฎหมายพยามที่จะออกมาตีความกฎหมายให้มันใช้งานไม่ได้ทำไมก็ไม่ทราบ และถ้าเกิดใครที่ดันทุรังมองว่า การทำตาม(3) ทันทีอาจจะขัดรัฐธรรมนูญ และส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความนั้น ตนอยากให้กลับไปดูมติของทั้งสามศาลให้ชัดเจน ซึ่งหนึ่งในนั้นมีศาลรัฐธรรมนูญด้วยก่อนแล้วค่อยคิดว่าจะทำอย่างไรต่อไป

**เด็กๆ อาย บอกถ้าเป็นกกต.ลาออกไปแล้ว

เอแบคโพลล์ สำรวจความคิดเห็นในหัวข้อเรื่อง "อารมณ์ ความรู้สึก และความคิด เห็นของเด็กและเยาวชนต่อสถานการณ์การเมืองขณะนี้ :กรณีศึกษาเด็กและเยาวชนอายุระหว่าง 14-17 ปี ในเขตกทม.และปริมณฑล" ในระหว่างวันที่ 10-11 พ.ค.จำนวน 1,034 ตัวอย่าง พบว่า เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ หรือ ร้อยละ 98.2 เห็นว่า การเมืองเป็นเรื่องสำคัญของประเทศ ในขณะที่ร้อยละ 70.4 วิตกกังวลต่อเหตุการณ์การเมืองไม่แตกต่างไปจากความรู้สึกของผู้ใหญ่ ร้อยละ 38.1 เครียดเรื่องปัญหาการเมือง และร้อยละ 84.1 เบื่อหน่ายเรื่องการเมือง

สำหรับความเชื่อมั่นของเด็กและเยาวชน ต่อองค์กรอิสระและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการเมืองขณะนี้ พบว่า เด็กและเยาวชนให้ความเชื่อมั่นต่อศาลทั้ง 3 ศาล เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ แต่จะมีสัดส่วนสูงกว่า โดยร้อยละ 74.3 ของเด็กและเยาวชนระบุ เชื่อมั่นต่อศาลปกครอง ในขณะที่กลุ่มผู้ใหญ่มีผู้ที่ระบุเชื่อมั่นคิดเป็นร้อยละ 69.3ขณะเดียวกัน ร้อยละ 75.6 ของเด็ก และเยาวชนระบุเชื่อมั่นต่อศาลฎีกา โดยผู้ใหญ่ที่ระบุเชื่อมั่นนั้นคิดเป็นร้อยละ 69.6 และร้อยละ 74.9 ของเด็กและเยาวชนระบุเชื่อมั่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่ผู้ใหญ่ที่ระบุ เชื่อมั่นมีอยู่ร้อยละ 68.4

ทั้งนี้ สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ กกต.,คณะกรรมการป้องกันและปรามปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ วุฒิสภา ซึ่งได้รับความเชื่อมั่นจากเด็กและเยาวชน ในสัดส่วนที่ต่ำ และไม่แตกต่างไปจากผู้ใหญ่ โดยเด็กและเยาวชนเพียงร้อยละ 30.6 ระบุเชื่อมั่นต่อกกต. ร้อยละ 40.2 ระบุเชื่อมั่นต่อ ป.ป.ช. และ ร้อยละ 28.5 ระบุเชื่อมั่นต่อ วุฒิสภา

นอกจากนี้ เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ หรือ ร้อยละ 78.3 เข้าใจในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 2 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยเข้าใจว่า การจัดการเลือกตั้งมีปัญหา หรือขัดรัฐธรรมนูญหรือหันคูหาผิดทิศ และการลงคะแนนไม่เป็นความลับ ในขณะที่ร้อยละ 21.7 ระบุไม่เข้าใจ เพราะสับสน ไม่มีความรู้เรื่องกฎหมาย ไม่ชอบยุ่งเรื่องแบบนี้ และไม่ได้ติดตามข่าว

อย่างไรก็ตาม เด็กและเยาวชนไทยส่วนใหญ่ หรือ ร้อยละ 82.9 คิดว่าถ้าเป็น กกต. จะลาออกหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมา มีเพียงร้อยละ 5.8 เท่านั้น ที่ไม่คิดว่าจะลาออก

นอกจากนี้ เด็กและเยาวชนถึงร้อยละ 63.2 รู้สึกสับสนต่อบทบาท ความเป็นตัวอย่างที่ดีของผู้ใหญ่ในสังคมการเมือง ในขณะที่ร้อยละ 17.4 ไม่รู้สึกสับสนอะไร และร้อยละ 19.4 ไม่มีความเห็น
กำลังโหลดความคิดเห็น