xs
xsm
sm
md
lg

สศอ.จ้องหั่นเป้าจีดีพีอุตสาหกรรมปีนี้ลงต่ำกว่าร้อยละ 6

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สศอ.เตรียมปรับลดอัตราการขยายตัวของดัชนีผลผลิตรวมภาคอุตสาหกรรม หรือจีดีพีอุตสาหกรรมปีนี้ ลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละ 6 จากเดิมที่ตั้งเป้าหมายไว้ร้อยละ 5.5-6.5 เนื่องจากไตรมาสแรกหลายอุตสาหกรรมมีการผลิตลดลง

นางอรรชกา สีบุญเรือง บริมเบิล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศอ.) กล่าวว่า ไตรมาสแรกปี 2550 ภาพรวมอุตสาหกรรมยังคงเติบโตต่อเนื่อง แต่ดัชนีอุตสาหกรรมแม้ขยายตัว แต่ต่ำกว่าประมาณการที่ตั้งไว้ โดยประมาณการว่า จะเติบโตร้อยละ 6.6 แต่เติบโตจริงร้อยละ 5.70 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2549 ดังนั้น สศอ.กำลังรวบรวมข้อมูลการผลิตของภาคอุตสาหกรรม เพื่อพิจารณาปรับลดอัตราการขยายตัวของดัชนีผลผลิตรวมภาคอุตสาหกรรม หรือจีดีพี อุตสาหกรรม ปี 2550 ลงจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ร้อยละ 5.5-6.5 ลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละ 6 ซึ่งจะแจ้งตัวเลขที่ชัดเจนอีกครั้ง สำหรับจีดีพีภาคอุตสาหกรรมมีมูลค่ารวม 2.7 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 30 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ที่มีขนาดประมาณ 7 ล้านล้านบาท

นางอรรชกา กล่าวว่า ปลายปีที่แล้ว สศอ.เคยคาดการณ์ไว้ว่า ในปี 2550 การส่งออกจะลดลง และการบริโภค และการลงทุนในประเทศทั้งภาครัฐและเอกชนจะเป็นตัวสนับสนุนการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ แต่สภาพที่เป็นจริง คือ ในไตรมาสแรกปีนี้ คือ มกราคมถึงมีนาคม 2550 สถานการณ์ไม่ได้เป็นไปตามที่ทุกสำนักได้คาดการณ์เอาไว้ รวมถึง สศอ.ด้วย

นางอรรชกา กล่าวเพิ่มเติมว่า ไตรมาสแรกปีนี้ ภาคอุตสาหกรรมมีการผลิตที่ลดลง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่ชัดเจน คือ รถยนต์ขนาดเล็ก มีการผลิตลดลงตามยอดขายที่น้อยลง แต่รถยนต์ขนาดเครื่องยนต์เกิน 2,000 ซีซี ยอดขายยังคงดีต่อเนื่อง ในขณะที่รถจักรยานยนต์ รวมถึงอุตสาหกรรมสิ่งทอในส่วนของเส้นใย มีการผลิตที่ลดลงค่อนข้างมาก รวมถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับภาคอสังหาริมทรัพย์ล้วนมีการผลิตลดลง อย่างเช่น ปูนซีเมนต์ สุขภัณฑ์ ของตกแต่งบ้าน

นอกจากนี้ การบริโภคในประเทศและกำไรของผู้ประกอบการในประเทศก็ลดลง ดังจะเห็นได้จากภาษีที่ยอดจัดเก็บที่ลดลง ซึ่งวัดได้จากผลการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ลดลง และภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จัดเก็บได้ลดลง สภาพการณ์ดังกล่าว ส่งผลทำให้การใช้จ่าย และการลงทุนภายในประเทศลดลงตามไปด้วย แต่ภาคการส่งออกของไทย ยังคงเติบโตได้ดีโดยเฉพาะตลาดส่งออกไปจีนและญี่ปุ่น

สำหรับสินค้าอุตสาหรรมที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้นในไตรมาสแรกปีนี้ คิดเป็นร้อยละ 17 มูลค่า 23,334 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยที่มีการขยายตัวมากกว่าร้อยละ 15 ประกอบด้วย เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และส่วนประกอบ วัสดุก่อสร้าง (เหล็กและเหล็กกล้า) ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เภสัช/เครื่องมือแพทย์ ส่วนที่การส่งออกขยายตัวระหว่างร้อยละ 10-15 มีดังนี้ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องใช้เดินทาง เครื่องหนังและรองเท้า สิ่งพิมพ์และกระดาษ

ระบุผู้ประกอบการรายเล็กไม่ทราบรายละเอียด เจเทปป้า
นางอรรชกา กล่าวว่า จากการสำรวจผู้ประกอบการอุตสาหกรรมภายใต้กรอบข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ ไทย-ญี่ปุ่น หรือ เจเทปป้า โดยมุ่งสำรวจผู้ประกอบการรายเล็กโดยวิธีการสุ่มจำนวน 118 ราย ที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ในช่วงวันที่ 18-26 เมษายน 2550 พบว่า ผู้ประกอบการรายเล็กส่วนใหญ่มีความเข้าใจในเรื่องข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น น้อยมาก สาเหตุเพราะเป็นกลุ่มที่ไม่มีส่วนที่ได้รับผลกระทบ หรือเกี่ยวข้องโดยตรง ในขณะที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องโดยตรง มีความเข้าใจดี โดยเฉพาะในสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ

ดังนั้น สศอ.จะร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ ทำการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการต่อไป เพราะผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มของไทย จะได้รับประโยชน์จากการบุกตลาดญี่ปุ่นได้มากขึ้น และมีแนวโน้มที่นักลงทุนญี่ปุ่นจะย้ายฐานการผลิตเข้ามาลงทุนในประเทศไทยด้วย เพราะปัจจุบันญี่ปุ่นนำเข้าจากจีนมากถึงร้อยละ 90 ของตลาดญี่ปุ่น ที่มีมูลค่ารวมปีละ 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งประเทศไทยมีส่วนแบ่งเพียงร้อยละ 1 หรือประมาณ 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น